[In this entry, I posted two articles about the ongoing Thailand-USA “Free Trade Agreement” (FTA) negotiations from FTA Digest and Prachathai. While it is likely that overall gains to Thailand from this agreement will be substantial (TDRI, a local think tank, estimates additional GDP growth of 1.84% if Thailand abolishes all import duties on goods from USA), the Thai government does not yet seem to have a plan in place for helping (or at least educating) sectors that will potentially ‘lose out’ or suffer transition pains (e.g. agriculture), and is obviously protecting sectors in which the politicians have significant stakes (e.g. telecoms), which are left out of the most recent round of negotiation, despite being a woefully inefficient sector – much like other service sectors – whose liberalization will greatly benefit consumers (since it will force companies to be more efficient to compete with US firms).]
เจอบทความเมื่อวานใน FTA Digest และบทสัมภาษณ์ อ. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ในเว็บไซด์ประชาไท เห็นว่าสรุปประเด็นเรื่อง FTA ได้ดีและน่าคิด เลยขอแปะมาให้อ่านโดยทั่วกัน (ตัวหนาในบทความแรก เน้นโดยผู้เขียน):
Razeen Sally (2005). Thailand’s New FTAs and Its Trade Policies Post-Asian Crisis: An Assessment. Proceedings of International Conference on From WTO to Bilateral FTAs. 29th Aug., 2005
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเจรจาเพื่อทำความตกลงเสรีทางการค้าเสรี (FTA) ได้มีบทบาทสำคัญต่อนโยบายการค้าของประเทศไทยอย่างมาก โดยที่ผ่านมา ไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา
เพื่อตอบรับกระแสโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พยายามเปิดเสรีทางการค้าและปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ โดยยกเลิกนโยบายคุ้มครองการผลิตภายในประเทศ (protectionism) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลมีความพยายามที่จะลดภาษีศุลกากรให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 และยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในสินค้าเกษตร อำนวยความสะดวกให้การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ และปรับปรุงให้กระบวนการต่างๆ ในประเทศมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
[In this entry, I posted two articles about the ongoing Thailand-USA “Free Trade Agreement” (FTA) negotiations from FTA Digest and Prachathai. While it is likely that overall gains to Thailand from this agreement will be substantial (TDRI, a local think tank, estimates additional GDP growth of 1.84% if Thailand abolishes all import duties on goods from USA), the Thai government does not yet seem to have a plan in place for helping (or at least educating) sectors that will potentially ‘lose out’ or suffer transition pains (e.g. agriculture), and is obviously protecting sectors in which the politicians have significant stakes (e.g. telecoms), which are left out of the most recent round of negotiation, despite being a woefully inefficient sector – much like other service sectors – whose liberalization will greatly benefit consumers (since it will force companies to be more efficient to compete with US firms).]
เจอบทความเมื่อวานใน FTA Digest และบทสัมภาษณ์ อ. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ในเว็บไซด์ประชาไท เห็นว่าสรุปประเด็นเรื่อง FTA ได้ดีและน่าคิด เลยขอแปะมาให้อ่านโดยทั่วกัน (ตัวหนาในบทความแรก เน้นโดยผู้เขียน):
Razeen Sally (2005). Thailand’s New FTAs and Its Trade Policies Post-Asian Crisis: An Assessment. Proceedings of International Conference on From WTO to Bilateral FTAs. 29th Aug., 2005
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การเจรจาเพื่อทำความตกลงเสรีทางการค้าเสรี (FTA) ได้มีบทบาทสำคัญต่อนโยบายการค้าของประเทศไทยอย่างมาก โดยที่ผ่านมา ไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรีกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา
เพื่อตอบรับกระแสโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พยายามเปิดเสรีทางการค้าและปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ โดยยกเลิกนโยบายคุ้มครองการผลิตภายในประเทศ (protectionism) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ในกรณีของประเทศไทย รัฐบาลมีความพยายามที่จะลดภาษีศุลกากรให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 และยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในสินค้าเกษตร อำนวยความสะดวกให้การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ และปรับปรุงให้กระบวนการต่างๆ ในประเทศมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกฎระเบียบด้านการค้าบริการเพื่อปรับปรุงการบริการพื้นฐานภายในประเทศที่ล้าหลังและไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการด้านการเงินและโทรคมนาคม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังควรปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ ให้โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถตรวจสอบได้
หากเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถมีบทบาทในการเจรจาทางการค้าในเวทีพหุภาคีในกรอบของ WTO ค่อนข้างมาก เนื่องจากมีท่าทีที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นมากกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ในการเจรจารอบโดฮาร์ แทนที่ประเทศไทยจะให้ความสำคัญต่อการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี รัฐบาลกลับให้ความสนใจต่อความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ซึ่งน่าจะเป็นความผิดพลาดเพราะประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากจากการเปิดเสรีทางการค้าในกรอบพหุภาคี หากขาดกติกาการค้าพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ ลำพังการทำความตกลง FTA จะให้ประโยชน์ต่อประเทศไทยน้อยมาก และอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้
การหันไปใช้แนวทาง FTA ของประเทศไทยนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียแปซิฟิก กล่าวคือ การทำ FTA ของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเกิดจากการคำนึงถึงความมั่นคง การเข้าสู่ตลาดต่างประเทศและการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ความตกลง FTA ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความตกลงที่อ่อนและห่างไกลจากความสมบูรณ์มาก ตลอดจนไม่น่าจะมีผลในการลดการกีดกันทางการค้าของประเทศในภูมิภาค
แม้ว่าไทยจะใช้แนวทางการเปิดเสรีทางการค้าโดยการทำ FTA เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นโยบายการค้าของประเทศไทยยังมีลักษณะพิเศษเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่สำคัญคือ การตัดสินใจและการลงมืออย่างรวดเร็วของนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งบริหารประเทศตามแบบ CEO อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่รวดเร็วดังกล่าวมักนำไปสู่ความยุ่งยากที่ไม่ได้คาดหมาย เพราะการทำ FTA ถูกเร่งรัดโดยเป้าหมายด้านนโยบายต่างประเทศที่ไม่ชัดเจนและไม่มีความสมเหตุสมผลในเชิงยุทธศาสตร์ ที่สำคัญประเทศไทยยังขาดการเตรียมความพร้อมที่ละเอียดรอบคอบในการเจรจา เพราะดำเนินการเจรจา FTA จำนวนมากพร้อมๆ กัน และเร่งรัดให้เกิดการความตกลงเร็วที่สุด
ที่น่าเสียดายที่สุดก็คือ ประเทศไทยไม่ได้คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการทำ FTA กับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนโยบายภายในประเทศ องค์กรที่จะมารองรับ และการจัดลำดับความสำคัญในการปฏิรูป การทำ FTA จึงเป็นเพียงการเปิดตลาดการส่งออกในบางสาขาเพื่อแลกกับการลดภาษีนำเข้าในสินค้าบางประเภท ในขณะที่ยังคงดำเนินนโยบายการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศไว้เช่นเดิม นโยบายการค้าเช่นนี้ไม่ส่งผลดีต่อการแข่งขันและประสิทธิภาพของเศรษฐกิจไทย แต่กลับสร้างปัญหามากมายในการปฏิบัติตามความตกลง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว รัฐบาลของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็มีความผิดพลาดในลักษณะเดียวกัน
เมื่อพิจารณาการทำ FTA ของประเทศไทยกับแต่ละประเทศ จะเห็นได้ว่า ในกรณีของประเทศไทยกับออสเตรเลีย (TAFTA) ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุความตกลงที่มีเหมาะสมและมีเนื้อหาที่ค่อนข้างครอบค ลุมในประเด็นการค้าสินค้า (แต่มีช่วงเวลาที่นานมากในการปรับตัวสำหรับสินค้าเกษตร) แต่ในด้านของการค้าบริการและการลงทุน กฎระเบียบภายในประเทศ มาตรการด้านสุขอนามัยและข้อบังคับอื่นๆ ที่เพิ่มเติมจากกฎของ WTO กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะไม่มีความคืบหน้าในประเด็นเหล่านี้ โดยรวมแล้ว TAFTA จึงน่าจะมีผลในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจของไทยน้อยมาก เช่นเดียวกับ FTA ระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ (CEPA)
FTA ระหว่างไทยและจีน ซึ่งยกเลิกภาษีศุลกากรในสินค้าจำพวกผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่นๆ นั้นก็น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศน้อยมากเฉพาะในสาขาที่ความตกลงครอบคลุมถึงเท่านั้น ส่วน FTA ระหว่างประเทศไทยกับอินเดีย มีผลในการยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเพียง 82 รายการภายในปี 2006 เท่านั้น นอกจากนี้ อินเดียยังต้องการให้กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) มีความเข้มงวดมาก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จาก FTA ดังกล่าวน้อยมาก ทั้งนี้ยังไม่ต้องพิจารณาว่าทั้งสองประเทศมีการค้าระหว่างกันในสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ
สำหรับ FTA ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นที่เพิ่งจบไปไม่นานนั้น ก็ยังไม่ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญหลายประการ ญี่ปุ่นพยายามที่จะตัดสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยออกจากความตกลง ยกตัวอย่างเช่น ข้าว มันสำปะหลัง เนื้อไก่ น้ำตาลและสินค้าส่งออกหลักอื่นๆ ของไทย นอกจากนี้ การเจรจายังประสบกับปัญหากฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทย ในส่วนของความตกลงด้านการบริการและการลงทุนก็ไม่มีการเปิดเสรีอย่างจริงจังเท่าที่ควร ในขณะที่ FTA กับบาห์เรน เปรู EFTA (ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์) และ BIMSTEC (บังกลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย ภูฏาน และเนปาล) ก็ไม่ได้มีความคืบหน้ามากนัก ทำให้การประชุมสุดยอด และการลงนามเป็นไปเพื่อการสร้างกระแสทางการเมืองและการสร้างภาพลักษณ์ต่อสาธารณะเท่านั้น โดยมีผลน้อยมากในทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างมากต่อการทำ FTA กับสหรัฐ ซึ่งเป็นความตกลงที่สำคัญและมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก แต่ดูเหมือนว่า สหรัฐเพียงต้องการให้ไทยเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และให้การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ประกอบการของตน ในขณะที่สหรัฐเสนอเปิดตลาดให้แก่สินค้าไทยเพียงไม่กี่รายการ และไม่ยอมมีข้อตกลงในประเด็นที่มีความสำคัญสูงต่อประเทศไทยเช่น การอุดหนุนสินค้าเกษตรและมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้น้อยมากที่สหรัฐจะยินยอมลดการกีดกันทางการค้า โดยมาตรการทางภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัย (SPS) ต่อการส่งออกข้าวและน้ำตาลของไทย ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรม กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าก็มีแนวโน้มที่จะมีความเข้มงวดสูงมาก โดยเฉพาะกฎที่ใช้กับสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในข่ายจะได้ประโยชน์มาก
เมื่อวิเคราะห์ความตกลง FTA ระหว่างสหรัฐกับสิงคโปร์จะพบว่า สหรัฐเน้นการเปิดเสรีด้านการบริการและการลงทุน และต้องการให้ประเทศคู่เจรจายอมรับความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไปไกลเกินความตกลงทริปส์ โดยเฉพาะสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายทางการค้า และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ นอกจากนั้น สหรัฐยังเรียกร้องให้ประเทศคู่เจรจาปรับปรุงนโยบายและมาตรการต่างๆ ในประเทศ เช่น นโยบายการแข่งขันทางการค้า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ความร่วมมือด้านศุลกากร และมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม
โดยรวมแล้ว ประเทศคู่ค้าของสหรัฐรวมทั้งประเทศไทยน่าจะเสียเปรียบในการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องมากมายของสหรัฐอเมริกา เพื่อแลกกับการเข้าสู่ตลาดสหรัฐที่เอื้อประโยชน์เพียงเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจขอ งประเทศไทย ปัญหาสำคัญของประเทศไทยคือ รัฐบาลขาดการเตรียมความพร้อมและยุทธศาสตร์การเจรจาที่น่าเชื่อถือ นโยบายการค้าที่อ่อนแอของไทยอาจใช้ได้ผลกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ แต่ไม่ใช้ไม่ได้กับสหรัฐ
Prof. Sally ได้เสนอแนวทางในการปรับปรุงนโยบาย FTA ของไทย ดังนี้
- ไทยควรเชื่อมโยงการทำ FTA เข้ากับวาระการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาลควรให้มีการศึกษาเพื่อทบทวนภาพรวมของนโยบาย FTA โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ เพื่อให้นโยบายการค้าของไทยมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับการปฏิรูปภายในประเทศ
- รัฐบาลควรปรับปรุงกระบวนการกำหนดนโยบาย โดยเพิ่มการรับฟังความคิดเห็นและสร้างความร่วมมือที่ดีกับนักเจรจาที่มีประสบการณ์ เช่น ขอคำแนะนำจากนักวิชาการภายนอก ปรึกษากับรัฐสภามากขึ้น และเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างของ NGO รวมทั้งสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะให้ดีขึ้น
- รัฐบาลควรลดจำนวน FTA ในการเจรจาและขยายกรอบเวลาให้ยาวขึ้นเพื่อให้มีเวลาในการพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงของประเทศ โดยควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการเจรจากับสหรัฐ
- รัฐบาลไทยควรขอให้สหรัฐยืดระยะเวลาในการเจรจาออกไปจนถึงประมาณกลางปี 2007 เพื่อให้ประเทศไทยมีเวลาในการเตรียมยุทธศาสตร์การเจรจาที่ดีขึ้น
- ในส่วนของ FTA ที่ได้ทำความตกลงไปแล้วทั้งกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น รัฐบาลควรเพิ่มระดับการเปิดเสรีทั้งในด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ตลอดจนปรับปรุงมาตรการต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือกรอบของ WTO เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นโยบายการแข่งขันทางการค้า และมาตรการด้านสุขอนามัย
- รัฐบาลควรให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการออกแบบกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า โดยควรจัดมีการวิจัยในเรื่องดังกล่าวโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้า โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า จะทำอย่างไรให้กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าในความตกลงต่างๆ เอื้อประโยชน์ต่อประเทศไทยมากขึ้นและก่อให้เกิดการบิดเบือนทางการค้าน้อยลง
นโยบายในด้าน FTA ดังกล่าวควรดำเนินควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ
- ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการเจรจาแบบพหุภาคีควบคู่ไปกับการทำ FTA
- ประเทศไทยควรเร่งเปิดเสรีฝ่ายเดียว (unilateral liberalization) ให้แก่ทุกประเทศโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ที่ส่งเสริมการแข่งขัน
- รัฐบาลควรกำหนดกลไกในการรองรับและสนับสนุนการปรับตัว (adjustment assistance policy) สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า
โดยสรุป นโยบาย FTA ของไทยที่ผ่านมามีข้อบกพร่องหลายประการ การปรับปรุง FTA ให้ดีขึ้นเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายรัฐบาลไทย นอกจากนี้ ไทยควรปรับสมดุลของนโยบายการค้าระหว่างการทำความตกลง FTA กับความตกลงพหุภาคี และควรสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจใหม่ที่มั่นคง โดยการเปิดเสรีแบบฝ่ายเดียว และปฏิรูปกฎระเบียบในประเทศควบคู่ไปด้วย.
……
เอ็กคลูซีฟ ‘รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์’ :เปิดเสรี…กิจกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็ต้องหายนะ
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งยืนเคียงข้างปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ทำไมเขายังมองว่า การเจรจาเอฟทีเอของไทยที่ผ่านมามีปัญหา ท่ามกลางการเรียกร้องให้เอาข้อตกลงเอฟทีเอไทย-สหรัฐ เข้าสภา เขายืนกรานว่า แค่นั้นไม่พอ….เพราะอะไร เขาเคยบอกให้ไทยเว้นวรรคการเปิดเสรีแบบเต็มสูบโดยให้เหตุผลว่า เราป่วยด้วยโรคเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ…เอฟทีเอทำให้เราป่วยหนักขึ้นหรือไม่ ทำไมคนไทยชอบสงสัยไว้ก่อนว่า นายกฯคนเก่งทำเอฟทีเอเพื่อประโยชน์ของวงศ์วานว่านเครือ โปรดติดตามหาคำตอบ ซึ่งเขาเปิดโอกาสให้ ‘ประชาไท’ ได้ถาม
ไทยมีความจำเป็นแค่ไหนในการทำเอฟทีเอ
ขึ้นอยู่กับว่าเรากำหนดทิศทางของเราอย่างไร ขณะนี้รัฐบาลไทยถูกครอบงำโดยฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus)
โดยแนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ในข้อเท็จจริงก็คือ เราพึ่งสหรัฐเป็นตลาดในการส่งสินค้าออกมากที่สุด สินค้าออกของเรากว่า 20 เปอร์เซ็นต์ขายให้สหรัฐ เมื่อสหรัฐเริ่มทำข้อตกลงการค้าเสรี การไม่ทำข้อตกลงการค้าเสรีมันจึงมีต้นทุน
สมมติว่าคู่แข่งของเราผลิตสินค้าได้คล้ายกับเรา และแข่งกับเราในการค้าหลายๆ ชนิด เมื่อเขาทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอเมริกาแล้วเราไม่ทำ ก็มีความเสียเปรียบในการเจาะตลาดสหรัฐ
ผมคิดว่าข้อตกลงในการทำการค้าเสรี มันมีทั้งด้านบวกและลบ อยู่ที่ว่าจะเลือกเจรจาการค้าเสรีในประเด็นอะไร
บทเรียนที่ทำ FTA กับจีน หรือกับออสเตรเลียที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์พยายามมองเรื่องความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในแง่ดี แต่กับจีนเอาเข้าจริง เราก็ไม่ได้อะไร
ทุกอย่างต้องกลับมามองเรื่องธรรมาภิบาลของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผมพูดมาตั้งแต่เราใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ก็คือ ข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่เคยต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากและเห็นตัวอย่างมาแล้วมากมาย ว่าข้าราชการหรือรัฐบาลไทยไปทำข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยที่ประชาชนคนไทยซึ่งเป็นคนได้รับผลกระทบไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น
ผมเห็นว่าข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา แต่ว่า แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ก็ยังเดินตามแนวทางเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 คือการทำข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่ต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา ทั้งๆ ที่เป็นธรรมาภิบาลของการทำข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
เมื่อรัฐไม่ต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา รัฐบาลก็ไม่ต้องรับผิด (Accountability) ไม่มีใครมาตรวจสอบและถ่วงดุล นี่เป็นปัญหาใหญ่
ผมต้องการเห็นการทำเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีธรรมาภิบาล คือ 1.ประชาชนมีส่วนร่วม ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมแสดงความเห็น 2. ต้องมีความโปร่งใส จะเห็นว่าการเจรจาการค้าไทยสหรัฐ รัฐบาลไทยปิดบังข้อมูลตลอด ไม่ยอมเปิดเผยว่าการเจรจาในประเด็นต่างๆ มีแนวโน้มที่จะตกลงอย่างไร หรือว่ามีการตกลงกันไปแล้ว ในขณะที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ต้องรายงานต่อรัฐสภาอเมริกัน เวลาที่สมาชิกรัฐสภาถามว่า เจรจาแล้วตกลงอะไรกันไปบ้างแล้ว รายละเอียดอย่าไร เจรจาอย่างไร USTR เรื่องแบบนี้ต้องตอบ
แต่ในด้านไทยเอง แม้แต่สมาชิกรัฐสภา หรือแม้แต่กรรมาธิการของรัฐสภา เวลาถามรัฐบาลหรือข้าราชการไทยอาจจะสงวนไม่ตอบก็ได้ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง คือกระบวนการการเจรจาของเรา ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่มีความโปร่งใส และก็ไม่มีความรับผิด ถ้าเราไม่แก้เรื่องนี้ก่อน ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คืออย่างที่เห็น คือพวกต่อต้าน FTA ออกไปใช้กำลัง ออกไปเดินประท้วงบนท้องถนน เพราะรัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้
ประเด็นใหญ่อีกประเด็นคือ เมื่อทำเอฟทีเอ มันจะมีคนที่ได้ประโยชน์ มันจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์ แล้วก็มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เสียประโยชน์ มีภาคเศรษฐกิจที่เสียประโยชน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็ต้องร่วงโรยไป ล่มสลายไป แต่รัฐบาลไม่เคยมีแผนในการช่วยเหลือกิจกรรมที่จะร่วงโรยจากการเปิดเสรีทางการค้า สิ่งเหล่านี้เราเห็นได้จากกรณีของการทำการค้าข้อตกลงไทย-จีน ในการเปิดเสรีผลไม้
ในการดำเนินนโยบายนั้น มีทางเลือกหนึ่ง คือโอนประโยชน์จากกิจกรรมจากอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรี ไปเกื้อกูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องร่วงโรยอันเป็นผลจากการเปิดเสรี แต่รัฐบาลไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้ ไม่ได้พูดถึงเลย ไม่ได้มีการเตรียมการเลยว่า เมื่อลงนามไปแล้วจะมีแผนในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระเทือนจนกระทั่งจะต้องหมดอาชีพอย่างไรบ้าง
อาจารย์เรียกร้องเรื่องของธรรมาภิบาลในการเจรจาเอฟทีเอ เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ท่านทูตนิตย์ พิบูลสงคราม ก็บอกว่า เราโปร่งใสเพียงพอ และรับฟังข้อมูลจากประชาชนไทยมาโดยตลอด
แกไม่โปร่งใสนะครับ เมื่อเริ่มการเจรจา ผมก็จัดประชุมขึ้นที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในหัวข้อที่ว่าในการเจรจานั้น ไทยควรจะมีจุดยืนอย่างไร ผมเชิญผู้เชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ มา และผมก็คิดว่าในบรรดาผู้ประท้วงการเจรจาเอฟทีเอในหลายต่อหลายเรื่อง ก็มีความเห็นสอดคล้องกับผู้เชี่ยวชาญที่ผมเชิญมาในหลายๆ เรื่อง แต่ในส่วนของคุณนิตย์นั้น ผมเห็นว่าแกมีความเข้าใจผิดค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น ในการประชุมครั้งนั้น เมื่อมีคนตั้งคำถามว่า ข้อตกลงเอฟทีเอไทย-สหรัฐ รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา แต่คุณนิตย์ยืนยันว่าต้องขอ ผมก็บอกในที่ประชุมว่า ตามรัฐธรรมนูญไม่ต้องขอ คือคุณนิตย์มีความไม่รู้เป็นจำนวนมาก แต่ก็เป็นหัวหน้าผู้เจรจา
แล้วมันมีรายละเอียดหลายเรื่องที่คณะผู้แทนเจรจาไม่เปิดเผย โดยอ้างว่า เป็นข้อตกลงกับผู้แทนเจรจาของสหรัฐ ซึ่งอย่างนี้มันแย่มาก ก็ในเมื่อคุณไปเจรจา คุณกำลังตกลงกันในเรื่องที่กำลังเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของประชาชนภายในประเทศ ทำไมคุณไม่ให้ประชาชนมีส่วนในการรับรู้ตั้งแต่ต้น เพื่อจะดูว่าข้อตกลงอย่างนี้จะกระเทือนต่อประชาชนแต่ละกลุ่มแต่ละเหล่าอย่างไรบ้าง
อาจารย์พูดเรื่องการขอสัตยาบันจากรัฐสภาหรือการขอความเห็นชอบจากประชาชนว่ามันมากกว่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า หากว่ารัฐบาลจะต้องทำสนธิสัญญาที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายภายในประเทศจะต้องผ่านเห็นชอบจากรัฐสภา…แค่นี้ไม่พอหรือ
ไม่พอครับ การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือสัญญาระหว่างประเทศ โดยทั่วไปไม่ต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภา เว้นแต่ข้อตกลงนั้นมีผลในการเปลี่ยนแปลงราชอาณาเขต หรือมีผลในการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ หรือมีผลทำให้ต้องตราพระราชบัญญัติเพื่ออนุวัตรตามข้อตกลง แต่ตอนนี้ที่รัฐบาลทำ รัฐบาลได้ออกกฎหมายล่วงหน้าไปแล้ว กฎหมายที่คาดว่าจะปรากฏอยู่ในข้อตกลงจำนวนมากได้ออกล่วงหน้าไปแล้ว เช่นเรื่องระงับข้อพิพาททางการค้าโดยใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ แทนการใช้กระบวนการทางศาลก็มีกฎหมายอยู่แล้ว และก็เป็นที่แน่ชัดว่า สหรัฐอเมริกาก็จะต้องหยิบเรื่องมาเป็นประเด็นหัวข้อการเจรจาเรื่อง Trade and Investment
พูดอย่างนี้เข้ากระแสแก้รัฐธรรมนูญพอดี
ผมยังไม่อยากพูดเรื่องนี้ เพราะถ้าพูดผมก็อยากจะพูดให้มันจบสิ้นกระบวนความ คือผมพูดตั้งแต่ตอนที่เขาแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2521 คือเรื่องนี้ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งของการแก้รัฐธรรมนูญ คือบทบัญญัติเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นบทบัญญัติที่เกื้ออำนาจของฝ่ายบริหาร อันนี้เป็นมรดกมาจากระบอบอมาตยาธิปไตย คือในยุคที่อำมาตย์เป็นใหญ่นั้น กฎหมายก็จะออกในลักษณะที่ให้อำนาจกับอำมาตย์ เช่นกฎหมายจำนวนมากที่มีบทบัญญัติอยู่นิดเดียว แล้วให้อำนาจฝ่ายบริหารไปออกกฎหมายลูก ซึ่งบางครั้งกฎหมายลูกมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่ากฎหมายแม่อีก
แต่มันน่าแปลกว่า ตอนร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 ส.ส.ร. ก็มีนักกฎหมายมหาชนเข้าไปตั้งเยอะ แต่ไม่เห็นประเด็นนี้ อย่าว่าแต่ประเด็นนี้เลย แม้แต่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ จำได้ไหมตอนที่จะแก้รัฐธรรมนูญต้องไปแก้มาตรา 211 คราวนี้ก็เหมือนกัน คราวนี้อาจารย์อมร (จันทรสมบูรณ์) บอกให้แก้มาตรา 313 ทำไมมันย่ำอยู่กับที่แบบนี้ล่ะ คือเราบอกว่า คนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีทางที่จะปฏิรูปการเมืองได้ เราจึงไม่ให้อำนาจกับสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ทำไมยังเอาวิญญาณของรัฐธรรมนูญ 2534 มาใส่
ประเด็นเรื่องการทำข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่ตรงไหนในกระแสแก้รัฐธรรมนูญขณะนี้
อันนี้ควรเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม เพราะข้อตกลงเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นข้อตกลงที่ให้คุณให้โทษกับภาคเศรษฐกิจบางภาค ถ้าคุณต้องการให้กระบวนการทำข้อตกลงมีธรรมาภิบาล คุณต้องให้สภาเข้ามาตรวจสอบและถ่วงดุล กระบวนการต้องโปร่งใสโดยอัตโนมัติ สภาต้องเรียกร้องขอข้อมูล แต่เนื่องจากว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกติกาเรื่องนี้ ซึ่งประเด็นนี้ผมพูดมา 20 ปีแล้วนะ
สำหรับกระแสแก้รัฐธรรมนูญ ผมกำลังคิด ผมต้องการดูภาพทั้งหมด ผมไม่ต้องการแก้เป็นจุด เช่นไม่ต้องการแก้จาก 90 วันเป็น 30 วัน มันหยุมหยิม
ท่ามกลางบรรยากาศคัดค้านเอฟทีเอ ขบวนการภาคประชาชนวิพากษ์เชิงท้าทายกับลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เช่น สำหรับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว เมื่อใดที่มีการเปิดตลาดเสรี หายนะจะตามมาเสมอ จริงไหม
(หัวเราะ) เปิดเสรี…กิจกรรมที่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็ต้องหายนะ กิจกรรมที่แข่งขันได้ก็ได้ประโยชน์ เปิดเสรีมีประโยชน์อยู่ 1 อย่างคือ กระตุ้นให้ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต แต่ก่อนนี้เมื่อไม่มีการเปิดเสรี ก็ไม่มีสิ่งกระตุ้นหรือแรงจูงใจในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต เปิดเสรีไม่มีประโยชน์สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ไม่มีประโยชน์สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ
การเปิดเสรีต้องใช้รัฐเป็นเส้นทางผ่าน แต่ถ้ากระบวนการผ่านของรัฐมีปัญหาล่ะ เช่น รัฐไทยไม่ยอมเปิดเสรีโทรคมนาคม
ทำไมรัฐไทยไม่เปิดโทรคมนาคม (หัวเราะ) ถามคุณทักษิณสิว่า ทำไมไม่เปิดโทรคมนาคม ทำไมโทรคมนาคมไม่เป็นประเด็นในการเจรจา ทำไมไปเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร
ถ้าอย่างนั้นการเปิดเสรีก็ไม่การันตีว่าประชาชนในรัฐจะได้ประโยชน์
ดังนั้น ประเด็นต้องกลับไปที่ธรรมาภิบาลของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศใช่ไหมครับ คือการตัดสินใจว่าจะเอา sector อะไรไปแลก sector อะไร มันควรจะเป็นการตัดสินใจที่อยู่ภายใต้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เอาภาคปศุสัตว์ไปแลกกับออสเตรเลีย ภาคปศุสัตว์ก็ต้องแย่แน่ๆ เพราะว่าโคเนื้อโคนมไทยสู้ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ไม่ได้แน่ๆ แต่คุณก็แลก แล้วใครได้ ภาคยานยนต์ ทำไมคุณตัดสินใจแลกอย่างนี้ กระบวนการแลกอันนี้มันควรจะเป็นประชาธิปไตย แต่ขณะนี้มันไม่เป็น
แล้วคุณดูสิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำ คุณก็รู้ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า ภาคปศุสัตว์ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่ว่ารัฐบาลทักษิณยังดำเนินการแจกโค ยังคงดำเนินการให้เกษตรกรยังคงเลี้ยงโคต่อ ทำไมไม่ดำเนินการปรับโครงสร้างเสีย แต่เดี๋ยวนี้ในเมื่อรู้ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าการเลี้ยงโคนมโคเนื้อมีปัญหา ทำไมไม่ดำเนินการให้เกษตรกรที่เลี้ยงโคค่อยๆ เปลี่ยนอาชีพ แต่นี่ยังคงให้เกษตรกรต้องจมปลักไปกับกิจกรรมนี้ซึ่งรู้อยู่แล้วว่า จะได้รับผลกระทบจากการค้าเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
แต่เรื่องนี้เกษตรกรเขาก็ยืนยันว่านี่คือวิถีชีวิตของเขาที่เขาจะต้องเลี้ยงโคต่อไป เพราะเลี้ยงกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุนแม่แล้ว
เขาก็เลี้ยงได้ แต่เขาไม่สามารถแข่งได้ในการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เขาก็เลี้ยงเพื่อกินเพื่อใช้ ไม่สามารถเลี้ยงเพื่อกินเพื่อขาย
แต่สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือการตบหลังด้วยการทำข้อตกลงการค้าเสรี แล้วก็ปลอบโยนด้วยการมีนโยบายการแจกโค แต่ว่าในระยะยาวมันยิ่งสร้างปัญหาใหญ่
ดูเหมือนว่าสำหรับอาจารย์แล้วแก่นของปัญหาในการทำข้อตกลงการค้าเสรีก็คือ ธรรมาภิบาลของการเจรจา
ใช่ ในความเห็นผมมันอยู่ที่เรื่องธรรมาภิบาล จะทำอย่างไร แล้วที่คุณทักษิณสามารถละเลยเรื่อง Good Governance ได้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างระเบียบเรื่องนี้ขึ้นมา
ถึงแม้ว่าจะมีกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ ก็ไม่ได้มีหลักประกันใช่ไหมว่า รัฐบาลนี้จะไม่ละเลย
รัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างเงื่อนไข เรื่องที่รัฐบาลละเลยเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างเงื่อนไข
ในตอนต้น อาจารย์พูดถึงการแผนการที่จะช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมที่จะต้องร่วงโรยไปจากการ เจรจาเอฟทีเอ เช่น ช่วยเหลือให้เปลี่ยนอาชีพ มีปัญหาว่า วิธีการเช่นนี้จะไปขัดกับสิ่งที่สังคมไทยระดับชุมชนซึ่งกำลังพัฒนาปรัชญา ‘ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา’ หรือ เรื่อง ‘สิทธิชุมชน’ หรือไม่
โอเค ก็ต้องกลับมาถามเรื่องของยุทธศาสตร์การพัฒนาว่า คุณจะเดินบนเส้นทางของชุมชนท้องถิ่นพัฒนาหรือคุณจะเดินบนเส้นทางของโลกานุวัตรพัฒนา ชนชั้นปกครองไทยก็นำสังคมเศรษฐกิจไทยบนเส้นทางโลกานุวัตรพัฒนา ประชาชนในชนบทในหลายภูมิภาคจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินแนวทางพึ่งตนเอง อยู่พอดี กินพอดี ไม่ได้ต้องการที่จะผลิตเพื่อขาย ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ แต่แนวทางโลกานุวัตรพัฒนาเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนต้องใช้ความได้เปรียบเชิ งเปรียบเทียบในการผลิต ผลิตเพื่อขาย แล้วก็ต้องเผชิญกับสภาวะความไม่แน่นอนของตลาดโลก
แปลว่าเราต้องยอมรับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางโลกานุวัตรพัฒนาเป็นแนวทางหลัก
ในเมื่อประชาชนเลือกรัฐบาลที่มีจุดยืนที่จะนำสังคมเศรษฐกิจไทยบนเส้นทางโลกานุวัตรพัฒนา …ในขณะนี้เป็นเรื่องยากมากนะครับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมเขียนบทความชื่อ Bangkok Consensus บ อกว่านี่คือฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะที่โลกานุวัตรพัฒนานั้นเดินอยู่บนเส้นทางของฉันทามติวอชิงตัน แต่ว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทย ฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีทางเอาชนะฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตันได้ คือถ้าประชาชนยังไม่ตระหนักถึงประเด็นนี้
ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลทักษิณที่ลากเราไปหาวอชิงตัน กระทั่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็ลากเราไปหาวอชิงตันเพียงแต่ว่า ดีกรีมันต่างกันเท่านั้นเอง
กลุ่มทุนไทยเป็นกลุ่มซึ่งกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนไทยทำสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับกลุ่มทุนสากล และในขณะเดียวกัน คุณก็เห็นขบวนการประชาชนในประเทศไทยก็เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับขบวนการ ประชาชนในต่างประเทศอย่างที่เห็นที่เชียงใหม่
ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะไปเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักของประเทศจาก เส้นทางของการเปิดประเทศมาเป็นเส้นทางที่ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มันเป็นเรื่องที่ถ้าประชาชนเห็นว่า เส้นทางการเปิดประเทศนั้นไปไม่ได้ และดำเนินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นเรื่องที่อย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดว่า “ทางใคร ใครเลือก” ผมเห็นว่าเป็นแค่นั้น เป็นมากไปกว่านั้นก็คงจะลำบาก
อาจารย์เคยเสนอในบทความชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2543 ให้เว้นวรรคดับเบิลยูทีโอ (องค์การการค้าโลก) 10 ปี เพราะว่าเราป่วยด้วยโรคเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงเอฟทีเอ ไม่ใช่เชื้อโรคในกลุ่มเดียวกันหรือ
อยู่ในสำนักความคิดนั้น ก็คือขนาดของการเปิดประเทศของเรามากเกินไป แล้วเราจัดการกับมันไม่ได้ ตัวอย่างของการจัดการไม่ได้ก็มีให้เห็นแล้วเมื่อวิกฤติการณ์ 2540
ผมเขียนว่า ให้เว้นวรรคดับเบิลยูทีโอ ไม่ได้บอกให้ปิดประเทศ ผมบอกว่า ให้เปิดประเทศเท่าที่เคยเปิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เมื่อเราแพ้สงครามการเงิน ผมไม่ได้บอกว่า ให้ลาออกจากดับเบิลยูทีโอ แต่บอกว่าให้เปิดเสรีเท่าที่เคยเปิด แต่อย่าเปิดต่อ ถ้าจะเปิดต้องมั่นใจว่า เรามีความสามารถในการจัดการกับปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่มันมีสาเหตุมาจากนอกประเทศ
อาจารย์เขียนไว้ด้วยว่า ผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรมต้องยอมรับว่า สังคมเศรษฐกิจไทยไม่สามารถฝืนมรสุมทางเศรษฐกิจได้ เพราะระบบเศรษฐกิจไทยมิได้มีพื้นฐานอันแข็งแกร่ง ถ้ายอมรับข้อความนี้ การทำเอฟทีเอหรือสนธิสัญญาการค้าอื่นๆ ก็เป็นข้อที่ต้องพึงระวังเอามากๆ
ใช่ๆ คุณกำลังเอาความรุ่งเรืองให้กับบางอุตสาหกรรม และคุณกำลังสร้างความฉิบหายให้กับบางอุตสาหกรรม คุณต้องเปิดโอกาสให้เขาส่งเสียงได้ หรือคุณต้องเตรียมการช่วย แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลแย่มากๆ รัฐบาลไม่ได้เตรียมการช่วยเลย นอกจากนี้เราก็ไม่รู้ชัดเจนด้วยว่า เขาเอาอุตสาหกรรมอะไรไปแลก
เมื่อเราป่วยด้วยโรคเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเพราะการเปิดเสรี การทำเอฟทีเอก็ทำให้เราป่วยซ้ำ อาจารย์มองว่าเราจะป่วยหนักขึ้นไหม
ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราพัฒนาความสามารถของเราในการจัดการระบบเศรษฐกิจ มากไปกว่าเมื่อปี 2540 หรือเปล่า ซึ่งผมคิดว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก มันมีการเปลี่ยนแปลงกับหน่วยงานซึ่งได้รับผลกระเทือนโดยตรงก็คือแบงก์ชาติ อย่างน้อยแบงก์ชาติตอนนี้มีความโปร่งใสมากกว่าก่อนปี 2540 แต่คนที่ทำให้แบงก์ชาติโปร่งใสไม่ใช่คนภายในแบงก์ชาติ เป็นคนนอกแบงก์ชาติ เรื่องนี้ต้องชมคุณชายจัตุมงคล โสณกุล ซึ่งเป็นคนจัดการให้ระบบข้อมูลของแบงก์ชาติมีความโปร่งใส
แต่ในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการระบบเศรษฐกิจ มันมีความเปลี่ยนแปลงไม่มาก และรัฐบาลทักษิณไม่ได้สนใจ รัฐบาลทักษิณเมื่อเข้ามาปี 2544 เคยคิดแก้กฎหมายวิธีการงบประมาณและผมไปเป็นกรรมการด้วย จนเดี๋ยวนี้กฎหมายนี้ไม่ออก จะแก้ระบบการงบประมาณ ซึ่งมีหลักการสำคัญอันหนึ่งที่ผมพูดในที่ประชุมว่า รัฐบาลต้องเปลี่ยนวิธีคิด งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล ควรจะให้เอกชนได้
หมายความว่าอย่างไร
ที่ผ่านมางบประมาณแผ่นดินมีแต่ให้กับหน่วยราชการ แต่ไม่เคยให้กับเอ็นจีโอ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เอ็นจีโอได้รับงบประมาณจากรัฐบาล คือถ้าเราคิดว่า องค์กรเอกชนมาช่วยรัฐบาลในการพัฒนา รัฐบาลควรจะจัดสรรงบประมาณให้องค์กรเอกชนได้
คือแทนที่จะคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ต้องเปลี่ยนความคิด รัฐทำเองไม่ไหวแล้ว ระบบเศรษฐกิจมันใหญ่ไปแล้ว และมันซับซ้อนมากไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเพราะเอ็นจีโอออกมาเย้วๆ มากไปหรือเปล่า (หัวเราะ)
แนวโน้มที่ดีจากปี 2540 นอกจากแบงก์ชาติแล้ว มีอะไรอีกบ้าง
ที่มันแย่ลงก็คือเทคโนแครต จิตวิญญาณเทคโนแครตมันเปลี่ยนไปมาก สมัยก่อนนี้ยังมีเทคโนแครตที่เมื่อเห็นว่านโยบายรัฐบาลทำไม่ดีก็ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน อย่างน้อยคัดค้านเป็นการภายใน ซึ่งเป็นวิธีที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำมาโดยตลอด ในยุคหลังอาจารย์ป๋วยก็ยังมีคนทำแบบนี้อยู่ แต่ขณะนี้ไม่มีเลย
ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่รัฐบาลจะมีนโยบายขายรัฐวิสาหกิจ ไม่มีเทคโนแครตออกมาทักท้วง ไม่ทักท้วงเพราะอะไร เพราะได้แบ่งหุ้น เทคโนแครตในกระทรวงการคลังตั้งแท่นให้คุณทักษิณล้วงเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งไปใช้ รายได้ไม่ส่งรัฐ แล้วเอาส่วนนี้ไปใช้จ่าย มันทำให้ระบบการงบประมาณไม่มีเช็คแอนด์บาลานซ์ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนแครต เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เลว
แต่ก่อนเทคโนแครตแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมด้วยการคัดค้าน หรือการลาออก เช่นในแบงค์ชาติซึ่งเป็นจารีต แต่เวลานี้ไม่มี…สิ่งที่คุณทักษิณทำสำเร็จก็คือ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนด เทคโนแครตเป็นคนเอานโยบายไปทำ
ประเทศไทยก็ไม่ต้องติดอยู่กับระบบราชการ ไม่ดีหรือ
แต่เทคโนแครตควรจะเป็นด่านแรกในการตรวจสอบถ่วงดุลนโยบายของรัฐ ถ้าจะพูดให้สวยก็คือ เป็นด่านแรกในการกลั่นกรองนโยบายของรัฐ แต่ตอนนี้ไม่แล้ว มันมีแต่ Yes Man เต็มไปหมด แล้วคุณดูสิเวลาถ่ายทอดการประชุม ครม. ก็พูดอยู่คนเดียว ไม่มีใครแสดงความเห็น พอแสดงความเห็นอีก็ปรับครม. (หัวเราะ)
มีคำกล่าวหาว่า ปลายทางของเสรีนิยมคือการผูกขาด อาจารย์เห็นด้วยไหม
อย่างนั้นมันไม่ใช่เสรีนิยมที่แท้น่ะสิ
เสรีนิยมที่แท้เป็นอย่างไร
เสรีนิยมที่แท้ต้องมีการแข่งขัน เสรีนิยมจอมปลอมก็อย่างเช่น นโยบายการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของรัฐบาล รัฐบาลเพียงแต่เปลี่ยนความเป็นเจ้าของจากรัฐไปเป็นเอกชน แต่รัฐไม่ได้ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ยกตัวอย่าง คุณแปรรูปการปิโตรเลียม คุณเอาการปิโตรเลียมเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) แล้วก็เอาหุ้นไปขาย แต่คุณไม่ได้ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน อย่างนี้จะเรียกว่าเสรีนิยมไม่ได้ คุณเปลี่ยนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แล้วเอาหุ้นออกขาย แต่ว่าคุณไม่ได้สร้างกติกาให้มีการแข่งขันกันในการผลิตไฟฟ้า ถ้าคุณสร้างกติกาให้มีการแข่งขันกันในการผลิตไฟฟ้า ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์
แต่สภาวะเสรีนิยมจอมปลอมก็ไม่ได้มีเฉพาะของไทย แต่เป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศที่เปิดเสรีให้กับประเทศใหญ่ๆ เช่นอเมริกา
ปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมภายใต้ระเบียบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มันไม่สามารถที่จะเดินไปสู่ปลายทางของปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมได้
เราเป็นประชาธิปไตยทำไมการเมืองของเราถึงปกป้องประชาชนไม่ได้ เช่น การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐที่กำลังดำเนินอยู่ก็มีข้อวิตกกังวลกันว่า จะกระทบกับการเข้าถึงยาของประชาชนไทย
เรื่องยาเราต้องเสียเปรียบแน่นอน
ถ้าอย่างนั้นหมายความว่าเศรษฐกิจเสรีนิยมและประชาธิปไตยอย่างที่ไทยเป็นนั้นปกป้องประชาชนของเราไม่ได้
มันคนละเรื่องกันนะ เรื่องการเจรจาการค้าเป็นคนละเรื่องกัน เรื่องอำนาจต่อรองการค้าระหว่างประเทศประเด็นเรื่องยา แม้กระทั่งออสเตรเลียซึ่งมีปัญญา มีสมองในการเตรียมการเจรจา ก็ยังเพลี่ยงพล้ำ
อย่างเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่เราจะต้านได้ไหม
โอ๊ย ก็คุณทักษิณเขาจะให้อยู่แล้วน่ะ แล้วถ้าคุณทักษิณเขาจะให้ภายใต้กระบวนการเจรจาที่เป็นอยู่ มันก็ลำบาก เพราะไม่มีใครไปคานเขาในสภา และที่สำคัญเรื่องมันไม่เข้าสภาด้วย
ท่านทูตนิตย์เข้าใจมาตลอดว่า ต้องเข้าสภา ล่าสุดก็ยังยืนยันว่าต้องเข้าสภา
แกพูดเมื่อไหร่
เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา
ผมจัดเวทีมาเกือบ 2 ปีแล้ว แกก็พูดแบบนี้ แต่คุณทักษิณเป็นคนพูดเอง ว่าไม่จำเป็นต้องเอาเข้าสภา แกเพิ่งพูดเมื่อวันสองวันนี้ไม่ใช่เหรอ
ผมคิดว่าการบริหารการเจรจาของไทยมีปัญหา คือหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่เจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่แล้วคือกรมเจรจา การค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แต่ว่าคุณทักษิณกลับไปเลือกกระทรวงการต่างประเทศในการเจรจากับประเทศที่สำคัญ คือญี่ปุ่นกับอเมริกา นี่คือการตบหน้ากระทรวงพาณิชย์ และล่าสุดมีการส่งคุณอุตตมะ สาวนายน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าไปช่วยดูแลการเจรจาด้วย กระทั่งไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วใครเป็นผู้รับผิดชอบการเจรจากันแน่
คุณทักษิณทำข้อตกลงการค้าเสรีมากเกินไป และนักเจรจาการค้าระหว่างประเทศของเรานั้นมีจำนวนจำกัด นี่เป็นความผิดของราชการไทย เมื่อเราเป็นสมาชิกของ GATTs ในปี 2525 ราชการไทยไม่เคยคิดสร้างนักเจรจาการค้า นักเจรจาการค้า 1.ต้องมีความรู้เศรษฐศาสตร์ เพราะมันข้องเกี่ยวกับเป็นประเด็นเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์เยอะมาก 2.ต้องมีความรู้กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คนที่รู้และชำนาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผมคิดว่าในเมืองไทยมีไม่ถึง 5 คน และ 3.คุณต้องเคยมีประสบการณ์ในการเจรจา
นักเจรจาการค้าในเมืองไทยมีน้อยมาก เมื่อมีน้อยก็ควรจำกัดการเจรจา แต่ว่าไทยจัดการทีเดียวมีข้อตกลงนับสิบข้อตกลง นักเจรจา 1 คน อาจจะต้องเจรจากับต่างประเทศมากกว่า 1 ประเทศ
และในคราวนี้ ผมเข้าใจว่าคุณทักษิณบอกว่าจะต้องพยายามสรุปข้อตกลงกับสหรัฐให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งการเร่งเจรจาให้จบเร็วๆ มันเป็นการทำลายอำนาจต่อรองของผู้แทนการเจรจา เพราะว่าคู่เจรจารู้อยู่แล้วว่าคุณอยากจะลงนาม
การเร่งการเจรจาก็แสดงว่ารัฐบาลมีสินค้าที่เป็นเป้าหมายอยู่ในใจแล้ว
ปัญหาคือ เราไม่มี Hard Fact ว่ารัฐบาลจะเอาอะไร ทำไมนายกทักษิณจึงเลือกเปรู ความสำคัญทางเศรษฐกิจไม่มีเลย ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศไม่มีเลย แต่ก็เลือกทำเอฟทีเอกับเปรู เนื่องจากประชาสังคมไทยมีความไม่ไว้วางใจคุณทักษิณสูงมาก คนก็เดาว่า คุณทักษิณต้องไปหาประโยชน์จากเรื่องดาวเทียม คนตั้งข้อสงสัย เพราะว่าคุณทักษิณปล่อยให้บริวาร ปล่อยให้ญาติมิตรมาหาประโยชน์ทับซ้อนอย่างน่าเกลียดมาก คือไม่มีตระกูลนายกรัฐมนตรีคนไหนในประวัติศาสตร์ไทยที่ปล่อยให้เครือญาติมาหาประโยชน์แบบนี้
ยังมีประเทศบาร์เรนที่ไปทำเอฟทีเอไว้แล้ว โดยที่เราเองก็ไม่มีอะไรจะแลกกับเขา เขาก็ไม่มีสินค้าจะแลกกับเรา
ทั้งหมดนี้ก็กลับมาที่ปัญหาธรรมาภิบาลในการเจรจา อย่างเวลาที่ USTR หรือผู้แทนสหรัฐจะไปเจรจากับต่างประเทศต้องแจ้งให้รัฐสภาทราบ รัฐสภาอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าทำไมเลือกประเทศ A มันสำคัญอย่างไร ต้องอธิบายกับรัฐสภา แต่ว่าการเลือกประเทศในการทำข้อตกลงของไทย คุณทักษิณเป็นคนชี้ คือมันเป็นกระบวนการตัดสินใจภายใต้ระบบเหมาเจ๋อตง คือเป็นระบบวีรชนเอกชน.