ก่อนที่บล็อกนี้จะกลายเป็นบล็อกโฆษณาหนังสือล้วนๆ ไปจริงๆ (:P) ขอแปะไฟล์เสียงและสไลด์บางชุดจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ ที่จบลงด้วยเวทีสาธารณะในวันที่ 27 ก.ค. 52 ที่ผ่านมา จัดโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับ Media Defence Legal Initiative (MDLI) และ Electronic Frontier Foundation (EFF หนึ่งในองค์กรในดวงใจของผู้เขียน :)) พร้อมบทสรุปสาระสำคัญของสไลด์
ดาวน์โหลดไฟล์เสียงทั้งหมดจากเวทีสาธารณะได้ที่หน้า Media ของบล็อกนี้ (ในหัวข้อ 2.1) ส่วนสไลด์ต่างๆ ต่อไปนี้มาจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการซึ่งจัดในวันที่ 25-26 ก.ค. 52 ให้กับทีมทนายเป็นหลัก เครือข่ายพลเมืองเน็ตจะถอดเทปและเรียบเรียงเนื้อหาทั้งหมดออกมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือต่อไปค่ะ
กฎหมายไซเบอร์กับตัวกลางข้อมูล โดย Eddan Katz, EFF
สรุปสไลด์+การบรรยาย
- ตัวกลางข้อมูล (information intermediaries) ในเน็ตมีมากมายหลายรูปแบบ ไม่ใช่มีแค่เว็บโฮส เว็บมาสเตอร์ หรือไอเอสพีเท่านั้น แต่ยังรวมถึง search engine, ตัวกลางทางการเงิน, domain name registrar ฯลฯ ด้วย กฎหมายควร “ปกป้องตัวกลาง” เป็นหลัก เพราะจำเป็นอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพและประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ต รวมทั้งนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่สร้างผ่านเน็ตได้ ถ้าจะเอาผิดตัวกลาง รัฐจะต้องมีหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจงว่า ตัวกลางมี “เจตนา” ที่จะกระทำผิด –ตัวอย่าง Communication Decency Act 1996 ของอเมริกา
- การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกรณีการกระทำผิดในเน็ตจะต้องมีขั้นตอนและระเบียบที่ชัดเจน ตั้งแต่วิธีการแจ้งจนถึงวิธีการร้องเรียนและเยียวยาในกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าใจผิด – ตัวอย่าง Notice & Takedown Procedure และ Counter-Notice & Putback Procedure ในกฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกา
- ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง 2 ประเด็นในกฎหมายไซเบอร์ แต่กฎหมายของหลายๆ ประเทศยังไม่คำนึงถึงมากนัก (อเมริกา & ยุโรปเองก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้และแก้ไขอย่างต่อเนื่อง) คือ “กระบวนการยุติธรรม” (due process) และการพิทักษ์ “ความเป็นส่วนตัว” (privacy) ในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น หมายค้นหรืออายัดคอมพิวเตอร์จะต้องระบุให้ชัดเจนมากๆ ว่ารัฐต้องการอะไร เนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายคืออะไร เพราะคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องมักมีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จำนวนมากที่ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้ต้องหาเลย
- การออกแบบและใช้กฎหมายไซเบอร์ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จะต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจในศักยภาพของอินเทอร์เน็ตในฐานะ “ระบบเปิด” ที่ส่งเสริมนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ “เศรษฐกิจข้อมูล”
ก่อนที่บล็อกนี้จะกลายเป็นบล็อกโฆษณาหนังสือล้วนๆ ไปจริงๆ (:P) ขอแปะไฟล์เสียงและสไลด์บางชุดจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการ ที่จบลงด้วยเวทีสาธารณะในวันที่ 27 ก.ค. 52 ที่ผ่านมา จัดโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต ร่วมกับ Media Defence Legal Initiative (MDLI) และ Electronic Frontier Foundation (EFF หนึ่งในองค์กรในดวงใจของผู้เขียน :)) พร้อมบทสรุปสาระสำคัญของสไลด์
ดาวน์โหลดไฟล์เสียงทั้งหมดจากเวทีสาธารณะได้ที่หน้า Media ของบล็อกนี้ (ในหัวข้อ 2.1) ส่วนสไลด์ต่างๆ ต่อไปนี้มาจากงานอบรมเชิงปฏิบัติการซึ่งจัดในวันที่ 25-26 ก.ค. 52 ให้กับทีมทนายเป็นหลัก เครือข่ายพลเมืองเน็ตจะถอดเทปและเรียบเรียงเนื้อหาทั้งหมดออกมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือต่อไปค่ะ
กฎหมายไซเบอร์กับตัวกลางข้อมูล โดย Eddan Katz, EFF
สรุปสไลด์+การบรรยาย
- ตัวกลางข้อมูล (information intermediaries) ในเน็ตมีมากมายหลายรูปแบบ ไม่ใช่มีแค่เว็บโฮส เว็บมาสเตอร์ หรือไอเอสพีเท่านั้น แต่ยังรวมถึง search engine, ตัวกลางทางการเงิน, domain name registrar ฯลฯ ด้วย กฎหมายควร “ปกป้องตัวกลาง” เป็นหลัก เพราะจำเป็นอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพและประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ต รวมทั้งนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่สร้างผ่านเน็ตได้ ถ้าจะเอาผิดตัวกลาง รัฐจะต้องมีหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจงว่า ตัวกลางมี “เจตนา” ที่จะกระทำผิด –ตัวอย่าง Communication Decency Act 1996 ของอเมริกา
- การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกรณีการกระทำผิดในเน็ตจะต้องมีขั้นตอนและระเบียบที่ชัดเจน ตั้งแต่วิธีการแจ้งจนถึงวิธีการร้องเรียนและเยียวยาในกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าใจผิด – ตัวอย่าง Notice & Takedown Procedure และ Counter-Notice & Putback Procedure ในกฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกา
- ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง 2 ประเด็นในกฎหมายไซเบอร์ แต่กฎหมายของหลายๆ ประเทศยังไม่คำนึงถึงมากนัก (อเมริกา & ยุโรปเองก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้และแก้ไขอย่างต่อเนื่อง) คือ “กระบวนการยุติธรรม” (due process) และการพิทักษ์ “ความเป็นส่วนตัว” (privacy) ในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น หมายค้นหรืออายัดคอมพิวเตอร์จะต้องระบุให้ชัดเจนมากๆ ว่ารัฐต้องการอะไร เนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายคืออะไร เพราะคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องมักมีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จำนวนมากที่ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้ต้องหาเลย
- การออกแบบและใช้กฎหมายไซเบอร์ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จะต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจในศักยภาพของอินเทอร์เน็ตในฐานะ “ระบบเปิด” ที่ส่งเสริมนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ “เศรษฐกิจข้อมูล”
ภาพรวมสถานการณ์เสรีภาพเน็ตทั่วโลก โดย Danny O’Brien, EFF
คำแปลภาษาไทยหลายตอนในสไลด์ชุดนี้จะขำๆ หน่อย เพราะ Danny อุตส่าห์ไปหาคำแปลจาก Google Translate มาแปะ 😛
สรุปสไลด์+การบรรยาย
- “เสรีภาพอินเทอร์เน็ต” (Internet freedom) ไม่แตกต่างจากเสรีภาพที่เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน คือเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการปลอดจากการสอดส่องตรวจตราจากรัฐ ซึ่งสองอย่างนี้นำไปสู่เสรีภาพอื่นๆ เช่น เสรีภาพในการคิด เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเสรีภาพในการศึกษา
- อินเทอร์เน็ตตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบเมื่อนานมาแล้วมีสถาปัตยกรรมและโค้ดที่มีลักษณะกระจายศูนย์ (decentralized) และมีความเท่าเทียม (network of peers) มันจึงปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพโดยธรรมชาติ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยี เช่น การเข้ารหัสแบบแน่นหนา (strong cryptography) ที่ปกป้องความเป็นส่วนตัว ทำให้ใครจะสนทนากับใครก็ได้ผ่านเน็ตอย่างปลอดภัยจากการถูกตรวจตรา (แต่ผู้ใช้เน็ตส่วนใหญ่ก็ยังละเลย ไม่ใช้การเข้ารหัส)
- ในเมื่อธรรมชาติของเน็ตเป็นแบบนี้ การกระทำใดๆ ก็ตามที่ปิดกั้นเสรีภาพ (เช่น เซ็นเซอร์เว็บไซต์) จึงเท่ากับ “ขัดธรรมชาติ” ของเน็ต และทำให้มันทำงานช้าลง ดังนั้นเน็ต (หมายถึงโค้ด สถาปัตยกรรม ฯลฯ ทั้งหลายที่รวมกันเป็นเน็ต) จึงมองว่าการกระทำเหล่านี้ก่อให้เกิด “ความเสียหาย” ต่อระบบ และจะหาทางหลบหลีกพฤติกรรมเหล่านี้ – นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่อธิบายว่าเหตุใดการเซ็นเซอร์ถึงมีต้นทุนแพงมากและไม่เคยปิดกั้นได้จริง
- อย่างไรก็ตาม รัฐบาลส่วนใหญ่พยายามที่จะควบคุมเน็ต อเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่เน็ตถือกำเนิดได้ผ่านการต่อสู้มาอย่างโชกโชน เช่น รัฐบาลพยายามเซ็นเซอร์เน็ตด้วยกฎหมาย Communications Decency Act 1996 – ทนายของ EFF นำเรื่องนี้ขึ้นฟ้องศาลว่าขัดต่อมาตราว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ ศาลพิพากษาให้ข้อนี้ของกฎหมายตกตามคำร้องของ EFF
- ต่อมาในปี 1999 รัฐบาลอเมริกาก็พยายามกีดกันไม่ให้คนธรรมดาใช้ strong cryptography ได้ (จะสงวนไว้สำหรับสื่อสารข้อความลับทางการทหารเท่านั้น) เกิดการประท้วงจากชุมชนนักเทคโนโลยีจนรัฐบาลต้องถอย
- ในอังกฤษ ไอเอสพีรายใหญ่ร่วมกันก่อตั้ง Internet Watch Foundation เพื่อกำกับดูแลตัวเอง (self-regulation) หลังจากที่มีเสียงร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาที่เข้าข่าย “โป๊เด็ก” บนเว็บ (นี่คือประเด็นหลักในอังกฤษที่จะถูกคนทักท้วง)
- ในฝรั่งเศส คดีที่น่าสนใจคดีหนึ่งคือ LICRA vs. Yahoo! 2000 มีคนฟ้อง Yahoo! ว่ายอมให้มีการประมูลขายสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวกับนาซี (เป็นเรื่องผิดกฎหมายในฝรั่งเศส) ศาลสั่งให้ Yahoo! เซ็นเซอร์และหยุดการประมูลเหล่านั้น Yahoo! ทำตามแต่ก็บอกศาลว่าระงับเรื่องนี้ถาวรไม่ได้ เพราะใครก็ตามสามารถไปลงทะเบียนขายของพวกนี้จากหน้าเว็บประเทศอื่นๆ ของ Yahoo! (เช่น Yahoo! อเมริกา ฯลฯ) ได้เสมอ
- “Golden Shield” ของจีนเป็นทั้งระบบเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่มหาศาล และระบบสอดส่องตรวจตราของรัฐ มีผลทำให้ผู้ใช้เน็ตเปลี่ยนพฤติกรรม (เช่น ไม่กูเกิลหาคำอะไรที่รู้ว่ารัฐเซ็นเซอร์) ระบบนี้ต้องใช้เงินกว่า 27,000 ล้านเหรียญต่อปี (ตัวเลขปี 2002) และจะต้องใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตเพราะต้องขยายให้ทันกับการเติบโตของเน็ตในจีน ตอนนี้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่พึ่งเน็ตทำธุรกิจในจีนเริ่มไปบ่นกับรัฐบาลแล้ว เพราะระบบเซ็นเซอร์ทำให้เน็ตจีนช้าและหลุดบ่อย (กลับไปที่ประเด็นว่าเน็ตส่งเสริมเสรีภาพโดยธรรมชาติของมัน ฉะนั้นการเซ็นเซอร์ย่อมทำให้มันช้าและทำงานได้ด้อยประสิทธิภาพลง)
- เกาหลีใต้เพิ่งออกกฎหมายใหม่ที่โหดมาก บังคับให้คนเปิดเผยตัวตนเวลาโพสออนไลน์ ถ้ามีใครแจ้งเว็บมาสเตอร์ว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม เว็บมาสเตอร์ต้องเอาเนื้อหานั้นลงเป็นเวลา 30 วันโดยอัตโนมัติ (คือไม่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ก่อนว่าไม่เหมาะสมจริงไหม ผิดกฎหมายอะไร) คนที่โพสเนื้อหาไม่เหมาะสมติดต่อกัน 3 ครั้งจะถูกอัปเปหิจากเน็ตไปตลอดชีวิต
- วิธีการหลักๆ ที่จะคุ้มครองเสรีภาพเน็ตมีสองวิธี คือใช้โค้ด (เช่น Tor – http://tor.eff.org/) และใช้กฎหมายบวกกับปทัสถานทางสังคม (norms) เช่น มารยาทเน็ต หลักใหญ่ของการใช้กฎหมาย+ปทัสถานคือ 1) อย่ามุ่งเขียนกฎหมายใหม่เพื่อใช้กับเน็ต พยายามประยุกต์กฎหมายเก่าให้เข้ากับเน็ตแทน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่กฎหมายจะเขียนกว้างเกินเลยจนกระทบกับเสรีภาพ และทำให้ผู้ต้องหาไร้กระบวนการยุติธรรม ความเป็นส่วนตัว และหลักสำคัญอื่นๆ ที่กฎหมายควรคุ้มครอง, 2) ปกป้องตัวกลางข้อมูล (อ่านรายละเอียดในสไลด์ของ Eddan), และ 3) ใช้อินเทอร์เน็ตในการปกป้องอินเทอร์เน็ต
วิธีปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ โดย จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ที่ปรึกษาเครือข่ายพลเมืองเน็ต
สรุปสไลด์+การบรรยาย
- การ “ขวาง” การเรียกดูเว็บไซต์ (“call”) นั้นทำได้ไม่ง่ายนักถ้าคนเป็นหมื่นเป็นแสนอยากเรียกดู ยิ่งคนอยากดูเยอะก็ยิ่งต้องใช้เวลา (และเงิน) เยอะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีพลังประมวลผลสูงมาก แถมสมัยนี้ก็มีโค้ดและวิธีหลบเลี่ยงมากมาย เช่น Tor, anonymous proxy, VPN ฯลฯ
- การปิดกั้นเว็บ ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือไอเอสพี ทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตของทุกคนช้าลง ไม่แต่เฉพาะคนที่อยากดูเว็บที่ถูกเซ็นเซอร์เท่านั้น – ประเด็นนี้เครือข่ายฯ น่าจะไปประสานกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการคมนาคมต่อไป
วาทะโปรดจากเวทีสาธารณะ: “แปลกดีนะครับ เหมือนกับถ้ากระทรวงถนนออกมาแถลงโชว์ผลงานว่าได้สร้างด่านกั้นถนนไปแล้วกี่แห่ง แทนที่จะบอกว่าสร้างถนนใหม่ไปกี่เส้น” – Danny O’Brien, EFF, หลังจากที่มีผู้ฟังรายงานว่ากระทรวงไอซีทีเพิ่งแถลงผลงานว่าได้ปิดกั้นเว็บไซต์ไปแล้วกี่เว็บ 😀