The secret of genius is to carry the spirit of the child into old age, which mean never losing your enthusiasm.
(ความลับของอัจฉริยภาพคือ การถนอมจิตวิญญาณของวัยเยาว์จนถึงวัยชรา ซึ่งนั่นหมายถึงการไม่ละทิ้งความกระตือรือร้นของคุณ)
– Aldous Huxley
An honest man is always a child.
(คนซื่อสัตย์ย่อมเป็นเด็กเสมอ)
– Socrates
The creative adult is the child who has survived.
(ผู้ใหญ่ที่สร้างสรรค์คือเด็กที่ยังอยู่)
– Ursula K. Le Guin
หลังจากเขียนเรื่องหนักๆ ติดต่อกันหลายวัน (ถ้าทำให้ผู้อ่านท่านใดพลอยเครียดตามไปด้วย ก็ขออภัยด้วยนะคะ) ก็สมควรแก่เวลาที่ข้าพเจ้าจะเปลี่ยนเกียร์มาคุยเรื่องเบาๆ บ้าง
หนึ่งในหัวข้อที่ตั้งใจจะเขียนเป็นครั้งคราวในบล็อกนี้คือ เล่าเรื่องหนังสือที่ตัวเองชอบ แต่ยังไม่มีใครแปลเป็นภาษาไทย หรืออาจไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายในบ้านเรา หรือไม่ก็เป็นหนังสือเก่าที่เลือนราง หรือสูญหายไปจากความทรงจำของคนหมู่มาก และเมื่อใดที่โอกาสอำนวย ข้าพเจ้าตั้งใจจะสแกนหนังสือหายากเหล่านี้เป็น PDF ให้ดาวน์โหลดฟรี เพื่อช่วยอนุรักษ์หนังสือดีๆ ไว้ประดับบรรณภพ
ขอประเดิมความคิดนี้ด้วยเรื่องหนังสือเด็กที่ผู้ใหญ่ควรอ่าน ท่านใดที่ไม่อยากอ่านความคิด (อันสับสนเยิ่นเย้อ) ของข้าพเจ้า เชิญคลิ้กไปหน้าดาวน์โหลด เพื่อเอาวรรณกรรมเยาวชนที่เอ่ยถึงในบทความนี้ไปอ่านได้เลย รับรองไม่ผิดหวัง 🙂
ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยโชคดีที่มีผู้แปลหนังสือเด็กชั้นนำของโลกหลายเล่มออกเป็นภาษาไทย ที่คงความสละสลวยและเสน่ห์ของเนื้อเรื่องได้อย่างครบถ้วน หมดจดและงดงาม ไม่ว่าจะเป็น วินนี่ เดอะ พูห์, โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล, ต้นส้มแสนรัก, โต๊ะโตะจัง, ตลอดจนสำนักพิมพ์ที่ย่อวรรณกรรมโลกเป็นภาษาง่ายๆ ให้เด็กอ่าน เช่นชุดหนังสือเล่มเล็กของสำนักพิมพ์เม็ดทราย ฯลฯ
The secret of genius is to carry the spirit of the child into old age, which mean never losing your enthusiasm.
(ความลับของอัจฉริยภาพคือ การถนอมจิตวิญญาณของวัยเยาว์จนถึงวัยชรา ซึ่งนั่นหมายถึงการไม่ละทิ้งความกระตือรือร้นของคุณ)
– Aldous Huxley
An honest man is always a child.
(คนซื่อสัตย์ย่อมเป็นเด็กเสมอ)
– Socrates
The creative adult is the child who has survived.
(ผู้ใหญ่ที่สร้างสรรค์คือเด็กที่ยังอยู่)
– Ursula K. Le Guin
หลังจากเขียนเรื่องหนักๆ ติดต่อกันหลายวัน (ถ้าทำให้ผู้อ่านท่านใดพลอยเครียดตามไปด้วย ก็ขออภัยด้วยนะคะ) ก็สมควรแก่เวลาที่ข้าพเจ้าจะเปลี่ยนเกียร์มาคุยเรื่องเบาๆ บ้าง
หนึ่งในหัวข้อที่ตั้งใจจะเขียนเป็นครั้งคราวในบล็อกนี้คือ เล่าเรื่องหนังสือที่ตัวเองชอบ แต่ยังไม่มีใครแปลเป็นภาษาไทย หรืออาจไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายในบ้านเรา หรือไม่ก็เป็นหนังสือเก่าที่เลือนราง หรือสูญหายไปจากความทรงจำของคนหมู่มาก และเมื่อใดที่โอกาสอำนวย ข้าพเจ้าตั้งใจจะสแกนหนังสือหายากเหล่านี้เป็น PDF ให้ดาวน์โหลดฟรี เพื่อช่วยอนุรักษ์หนังสือดีๆ ไว้ประดับบรรณภพ
ขอประเดิมความคิดนี้ด้วยเรื่องหนังสือเด็กที่ผู้ใหญ่ควรอ่าน ท่านใดที่ไม่อยากอ่านความคิด (อันสับสนเยิ่นเย้อ) ของข้าพเจ้า เชิญคลิ้กไปหน้าดาวน์โหลด เพื่อเอาวรรณกรรมเยาวชนที่เอ่ยถึงในบทความนี้ไปอ่านได้เลย รับรองไม่ผิดหวัง 🙂
ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา เด็กไทยโชคดีที่มีผู้แปลหนังสือเด็กชั้นนำของโลกหลายเล่มออกเป็นภาษาไทย ที่คงความสละสลวยและเสน่ห์ของเนื้อเรื่องได้อย่างครบถ้วน หมดจดและงดงาม ไม่ว่าจะเป็น วินนี่ เดอะ พูห์, โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล, ต้นส้มแสนรัก, โต๊ะโตะจัง, ตลอดจนสำนักพิมพ์ที่ย่อวรรณกรรมโลกเป็นภาษาง่ายๆ ให้เด็กอ่าน เช่นชุดหนังสือเล่มเล็กของสำนักพิมพ์เม็ดทราย ฯลฯ
ยังไม่นับวรรณกรรมเยาวชนสมัยใหม่ที่ “สอน” วิชาได้สนุกน่าสนใจกว่าหนังสือเรียนทั่วไป เช่น โลกของโซฟี หรือหนังสือแฟนตาซีที่ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทุกเพศทุกวัยติดงอมแงม เช่น แฮรี่ พ็อตเตอร์ ซึ่งกลายเป็นหนังสือเด็กขายดีตลอดกาลไปแล้ว
ในบรรดาวรรณกรรมเยาวชนทั้งหลาย มีหลายเล่มที่เด็กหลายๆ คน หวนกลับมาอ่านเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และค้นพบว่าไม่เพียงแต่คงความสนุกเหมือนเดิมเท่านั้น แต่ยังให้แง่คิด และปรัชญาอันลึกซึ้งกว่าที่สมองในวัยเยาว์จะซึมซับได้หมด
วันนี้ข้าพเจ้าจึงขอแนะนำหนังสือเด็กเล่มโปรด 6 เล่ม ที่เชื่อว่าจะทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คน ต้องหวนนึกถึงวัยเยาว์ และพยายามมองโลกด้วยสายตาของ “เด็ก” มากขึ้นกว่าเดิม
เจ้าชายน้อย ผู้เปี่ยมด้วยความรักต่อมิตรแท้
เชื่อว่านักอ่านแทบทุกคนคงรู้จัก เจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) หนึ่งในหนังสือเด็กยอดนิยมตลอดกาล บทประพันธ์ของ Antoine de Saint-Exupéry มีผู้แปลเป็นภาษาไทยอย่างน้อยสองครั้ง ฉบับที่แพร่หลายที่สุดเห็นจะเป็นสำนวนแปลของ อำพรรณ โอตระกูล แต่ข้าพเจ้าชอบสำนวนของ อาริยา ไพฑูรย์ มากกว่า เพราะใช้สรรพนาม “ผม” และ “เธอ” และภาษาที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ และเป็นกันเองมากกว่าในฉบับของคุณอำพรรณ ที่ทำให้เจ้าชายน้อยฟังดูเป็นเด็กโอ้อวด ไว้ตัวหน่อยๆ ขัดกับพฤติกรรมอันแสนสุภาพในเรื่อง
เจ้าชายน้อย เป็นเรื่องของเจ้าชายน้อยผู้มาเยือนโลก จากดาวดวงเล็กๆ ชื่อ บี612 เขาได้พบกับผู้เล่าเรื่องนี้โดยบังเอิญ ขณะที่ผู้เล่าเรื่องซึ่งเป็นนักบิน กำลังหัวเสียอยู่กับเครื่องบินที่ไปเสียกลางทะเลทราย
แปดวันที่เจ้าชายน้อยอยู่กับนักบิน เขาเล่าถึงประสบการณ์ในการเดินทางไปยังดาวต่างๆ มากมายในจักรภพ แต่ดาวเหล่านั้นไม่มีเอเลี่ยนแบบอี.ที. มีเพียงมนุษย์ต่างฐานะ นิสัย และอาชีพเท่านั้น (สมกับคำว่า “มนุษย์ต่างดาว” จริงๆ) พฤติกรรมของชายแต่ละคนที่เจ้าชายน้อยพานพบ ต่างสะท้อนค่านิยมอันบิดเบี้ยว และความเห็นแก่ตัวของคนในโลกสมัยใหม่ อาทิ คนหลงตัวเอง นักธุรกิจ และคนขี้เมา เมื่อเจ้าชายน้อยผ่านมาพบคนจุดโคมผู้เดียวดาย ก็บอกตัวเองว่า
“ผู้ชายคนนี้อาจจะถูกคนอื่นๆ อย่างพระราชา คนหลงตัวเอง คนขี้เมา หรือนักธุรกิจดูถูกเหยียดหยาม แต่เขาเป็นคนเดียวที่ฉันเห็นว่าไม่ตลกเลย บางทีอาจจะเป็นเพราะเขาเป็นคนที่เห็นแก่คนอื่นมากกว่าตัวเอง”
หาก เจ้าชายน้อย เป็นเรื่องเสียดสีสังคมเพียงอย่างเดียว ก็คงเพียงพอที่ทำให้เป็นหนังสือยอดนิยมตลอดกาล แต่สิ่งที่ทำให้เจ้าชายน้อยอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืมของผู้ใหญ่หลายคน คือวิธีการมองโลกอย่างไร้เดียงสาแต่ไม่ไร้สำนึกของเจ้าชายน้อย ประกอบกับจินตนาการไร้ขีดจำกัด (คงไม่มีใครลืมภาพงูเหลือมที่กินช้างเข้าไปทั้งตัว และกรงใส่แกะได้) และความรักอันบริสุทธิ์ที่มอบให้กับเพื่อนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นดอกกุหลาบแสนหยิ่ง หมาจิ้งจอกที่ขอให้เขาฝึกให้เชื่อง ตลอดจนนักบินที่แปรเปลี่ยนจากเพื่อนคุย เป็นเพื่อนแท้ในระยะเวลาเพียงแปดวัน
เจ้าชายน้อย เป็นหนังสือเด็กที่มหัศจรรย์ เพราะสามารถให้แง่คิดใหม่ๆ กับคนอ่านทุกเพศทุกวัย ทุกครั้งที่เปิดอ่าน เป็นหนังสือเด็กเพียงไม่กี่เล่มที่ข้าพเจ้ารู้จัก ที่สะท้อนโลกอันบิดเบี้ยวของผู้ใหญ่ผ่านสายตาของเด็ก ได้อย่างเหมาะเจาะ กลมกลืน และน่าประทับใจยิ่ง
ขอเชิญดาวน์โหลด เจ้าชายน้อย สำนวนแปลของ อาริยา ไพฑูรย์ (PDF format, 64 หน้า) ได้โดยคลิ้กที่นี่ หวังว่าทุกท่านคงยินดีที่ได้รู้จักกับเจ้าชายน้อย และเมื่อท่านอ่านจบแล้ว อย่าลืมเก็บรักษาความลับของเขาด้วยนะ:
“สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจเท่านั้น”
โลกของหนูแหวน ผู้เรียนรู้ในสมดุลของธรรมชาติ
รายชื่อหนังสือดี 100 เล่มที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ของสกว. มีหนังสือเล่มโปรดของข้าพเจ้าหลายเล่ม เช่น นิกกับพิม, ครูไหวใจร้าย, และ ข้าวเขียวผู้เสียสละ
แต่ไม่มีหนังสือเล่มไหนที่ข้าพเจ้าชอบมากเท่า โลกของหนูแหวน โดยศราวก เรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติของหนูแหวน เด็กหญิงวัยหกขวบในชนบทผู้มีความอยากรู้อยากเห็นเกินวัย แม้หนูแหวนจะมีเพื่อนหลายคน แต่ก็ชอบคุยกับสรรพสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ เช่นผลฝรั่ง มด แมงป่อง เมล็ดต้อยติ่ง รวมทั้งเงาของตัวเองมากกว่า โลกส่วนตัวของหนูแหวนจึงกว้างใหญ่ เป็นโลกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ที่นับวันจะหดตัวลงเรื่อยๆ
โลกของหนูแหวน เป็นหนังสือที่วิพากษ์สังคมสมัยใหม่ ในลักษณะที่ “ตรง” และ “แรง” กว่า เจ้าชายน้อย หลายเท่า หลายตอนในหนังสือ เช่น ตอนที่ผู้เขียนเล่าว่า ตึกรามบ้านช่องในเมืองนั้น เด็กชาวกรุงเนรมิตเอาจากตะเกียงวิเศษของเด็กชาวนา หรือตอนที่หนูแหวนเอาน้ำสาดใส่เครื่องยนต์ ที่ขู่ว่าจะยกพรรคพวกมาตั้งโรงงาน ทำให้หนูแหวนตกเป็นทาสมัน ล้วนเป็นอุปมาอุปไมยที่แสดงให้เห็นอุดมการณ์ “ฝั่งซ้าย” อย่างชัดแจ้ง
แต่หนูแหวนไม่ได้เป็นมาร์กซิสต์น้อย ที่จะไปเที่ยวปลุกระดมให้ชาวบ้านลุกฮือขึ้นสู้กับนายทุน หนูแหวนเป็นเพียงเด็กหกขวบซนๆ คนหนึ่ง ที่ช่างซักช่างถาม และพยายามค้นหาตัวเองเกินเด็กวัยเดียวกัน เพื่อที่จะหาวิธีอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุข
สเน่ห์ของ โลกของหนูแหวน อยู่ตรงที่ผู้แต่งสามารถลดทอนความแรงของแนวคิดมาร์กซิสม์ ให้อ่อนโยนขึ้นมากด้วยการกรองโลกผ่านตะแกรงของความไร้เดียงสา ตรงไปตรงมา และอยากรู้อยากเห็นตามประสาเด็ก ในฉากชีวิตชนบทแบบ “ดั้งเดิม” ที่ยังเปี่ยมไปด้วยความรู้จักพอ ถักทอด้วยภาษาธรรมดาๆ แต่งดงาม ผลคือหนังสือเด็กที่ช่วยให้ผู้ใหญ่มองโลกด้วยสายตาที่อ่อนโยนขึ้น และเห็นความสำคัญของการหวนคืนสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ อย่างน้อยก็ในจิตใจเราเอง
นอกจากนี้ โลกของหนูแหวน ยังให้แง่คิดมากมายเกี่ยวกับสมดุลในการดำรงชีวิต เช่น ความสมดุลระหว่างการช่วยเหลือสังคม และความต้องการส่วนตัว ระหว่างความ “อยากเป็น” และความ “เป็นอยู่” ฯลฯ
ขอขอบคุณผู้ประพันธ์ คุณศราวก เป็นอย่างสูง ที่อนุญาตให้ข้าพเจ้าสแกนและพิมพ์ โลกของหนูแหวน พร้อมรูปประกอบทั้งเล่ม เพื่อเผยแพร่ผ่านเว็บโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ท่านสามารถดาวน์โหลดหนังสือหายากเล่มนี้โดยคลิ้กที่นี่ (PDF format, 66 หน้า)
ขอทิ้งท้ายด้วยคำคมบางประโยค จากสองตอนโปรดของข้าพเจ้า คือ “ผีตากผ้าอ้อม” และ “หนูแหวนกับมนุษย์อวกาศ”:
“ฉันไม่ค่อยเห็นความจำเป็นนักหรอกที่คนจะต้องไปอยู่ดวงจันทร์ ในเมื่อบนโลกนี้มีเสียงนกร้อง และกลิ่นดอกข้าว เมื่อคนต้องจากโลกซึ่งเป็นที่เกิดของเขา ฉันคิดว่าเขาถูกลงโทษมากกว่า”
“ความรักที่เราให้ผู้อื่นนั้นยิ่งใหญ่กว่าความรักที่เรารับมา”
วิถีแห่งความรักอันมั่นคงของส่วนที่หายไป
หากเรื่องราวของเจ้าชายน้อยและหนูแหวน ช่วยเปิดใจให้เรามองโลกได้อย่างไร้อคติ เพื่อที่จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีสติ และไม่ยึดมั่นในกิเลสต่างๆ แล้ว ตัวละครของ Shel Silverstein ก็ช่วยให้เรามองความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างตัวเรากับคนอื่นๆ ได้อย่างตาสว่างยิ่งขึ้น
หนังสือเรื่อง ส่วนที่หายไป (“The Missing Piece”) และ การเดินทางของส่วนที่หายไป (“The Missing Piece Meets the Big O”) จัดได้ว่าเป็นหนังสือคู่แฝด เพราะมีตัวละครและวิธีการดำเนินเรื่องที่คล้ายๆ กัน ส่วนที่หายไป เป็นเรื่องของวงกลมแหว่งอันหนึ่ง ที่ออกเดินทางตามหาส่วนที่หายไปของมัน ส่วน การเดินทางของส่วนที่หายไป (ชื่อภาษาอังกฤษคือ “ส่วนที่หายไปพบบิ๊กโอ” แต่ข้าพเจ้าเรียกตามชื่อฉบับภาษาไทย) เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน แต่มองจากมุมตรงข้าม คือส่วนที่หายไปอันหนึ่ง ที่เฝ้ารอคอยใครสักคนที่จะมาหา
ถ้าวัดด้วยความยากง่ายของการอ่านเอาเรื่อง หนังสือทั้งสองเล่มคงต้องจัดเป็นหนังสือสำหรับเด็กเล็กถึงประถมต้น เพราะใช้รูปประกอบเป็นหลัก แต่ละหน้ามีตัวหนังสือตัวโตๆ อยู่ไม่กี่ประโยค ลายเส้นเรียบง่ายสบายตา เหมือนเด็กก็วาดได้
แต่ถ้าวัดด้วยแง่คิดแล้ว ทั้ง ส่วนที่หายไป และ การเดินทางของส่วนที่หายไป ต้องนับเป็นวรรณกรรมอมตะเลยทีเดียว เพราะสามารถสื่อสัจธรรม และข้อคิดเกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน และความเป็นตัวของตัวเอง ได้อย่างลึกซึ้งโดยใช้รูปไม่กี่สิบรูป และถ้อยคำไม่กี่สิบประโยค
การเดินทางของส่วนที่หายไป จะทำให้ท่านถามตัวเองว่า คนที่เราจะรักและรักเราอย่างยั่งยืนนั้น ควรเป็น “ครึ่งหนึ่งของชีวิต” ที่มาเติมเต็มส่วนที่หายไป หรือเป็นคนบริบูรณ์อีกชีวิตหนึ่งที่ตัดสินใจร่วมทางเดินกับเรา เพื่อเติบโตไปพร้อมๆ กัน และเราควรต้องรักตัวเองให้เป็นก่อนหรือไม่ ก่อนที่ีเราจะรักใครซักคนได้
ในทำนองเดียวกัน ส่วนที่หายไป จะทำให้ท่านถามตัวเองว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่เราจะเลือกอยู่อย่างสันโดษแต่มีความสุข หรือโดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย หากการอยู่กับคนอื่นจะทำให้เราต้องสูญเสียความสุข หรือความเป็นตัวของตัวเองไปอย่างสิ้นเชิง
ใครที่ชอบเพลง “ที่ว่าง” ของวงพอส และหนังสือเรื่อง “หมูบินได้” ของ องอาจ ชัยชาญชีพ น่าจะชอบหนังสือสองเล่มนี้ด้วย
ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะดีไม่น้อย หากเราทุกคนจะเริ่มต้นชีวิต ด้วยการเป็นส่วนที่หายไป แล้วค่อยๆ เติบใหญ่เป็นวงกลมแหว่ง หรือวงกลมสมบูรณ์ ที่ต่างก็เรียนรู้วิธีที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข แม้อาจไม่มีคนรู้ใจข้างกายก็ตาม
ไม่มีวิธีใด ที่จะสื่อความงดงามอันยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมสองเล่มนี้ ดีกว่าตัวหนังสือเอง จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านดาวน์โหลด การเดินทางของส่วนที่หายไป [PDF, 51 หน้า] สำนวนแปลของ ปลาสีรุ้ง และ ส่วนที่หายไป [PDF, 50 หน้า] สำนวนแปลของข้าพเจ้า ไปอ่านได้ตามอัธยาศัย
จอน ผู้เรียนรู้วิธีมองโลกผ่านปู่
หนังสือเด็กดีๆ บางเล่ม อยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าไม่ใช่เพราะมีแง่คิดหรือปรัชญาอันลึกซึ้ง หากถ่ายทอดประสบการณ์จากชีวิตจริงของคนประเภทต่างๆ ด้วยความอ่อนโยน ความเข้าใจ และความช่างสังเกตที่ทำให้เหตุการณ์เหล่านั้นเสมือนหนึ่งมีชีวิต ผ่านมุมมองของเด็กตัวเล็กๆ ที่ยังเยาว์วัยเกินกว่าจะรู้จักคำว่า “อคติ”
มองโลกผ่านปู่ (“Through Grandpa’s Eyes”) เป็นหนังสือเด็กเล็ก ระดับ 3-8 ขวบ เขียนโดย Patricia MacLachlan เล่าเรื่องจากมุมมองของจอน เด็กอายุราว 6-7 ขวบ ที่ไปอยู่บ้านปู่ย่ายามปิดภาคฤดูร้อน
ปู่ของจอนเป็นคนตาบอด แต่แทนที่จะรู้สึกคับแค้นใจหรือหมดหวังในชีวิต ปู่สอนจอนให้รู้จักโลกของเขา สอนให้เข้าใจว่าคนตาบอดดำรงชีวิตอย่างไรในโลกของคนตาดี เช่น ปู่เอานิ้วจุ่มไปในถ้วยชานิดๆ เวลารินชาให้ตัวเอง เพื่อเป็นสัญญาณบอกว่าชาเต็มถ้วยเมื่อไหร่
โลกที่มองจากตาอันมืดมิดของปู่ ไม่ได้เป็นเรื่องน่ารำคาญหรือน่าสมเพชสำหรับจอน ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นแหล่งของความพิศวง และความน่าตื่นเต้นไม่รู้จบ
มองโลกผ่านปู่ เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่สอนข้าพเจ้าว่า ความพยายามที่จะเข้าใจมุมมองของผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ไม่โชคดีอย่างเรานั้น สำคัญเพียงใดต่อการกำจัดอคติ และอวิชชาในจิตใจเรา
ข้าพเจ้าเคยมีสำนวนแปลไทยที่ดีเยี่ยมของหนังสือเล่มนี้ นานกว่ายี่สิบปีแล้ว จำได้ว่าครูให้เป็นรางวัลเรียนดีวิชาภาษาอังกฤษ เสียดายที่ทำหายไปหลายปีแล้ว และจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้แปล จึงขอถือโอกาสนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ขึ้นใหม่เป็นภาษาไทย ท่านสามารถดาวน์โหลด PDF file ได้ที่นี่ (20 หน้า)
ความผูกพันอันอ่อนโยนของพ่อแม่ลูกในจันทร์เสี้ยว
ขอส่งท้ายด้วยหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่ไม่เคยล้าสมัย และทำให้ข้าพเจ้าสะท้อนใจทุกครั้งที่อ่าน
เมื่อเอ่ยชื่อ รพินทรนาถ ฐากูร นักอ่านน้อยคนที่จะไม่รู้จัก ท่านเป็นกวี นักปรัชญา และนักประพันธ์ชาวอินเดีย คนแรกของทวีปเอเชียที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดี มีผลงานเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากมาย จันทร์เสี้ยว เป็นกวีนิพนธ์ที่ท่านรพินทรนาถแต่งขึ้น ช่วงที่เพิ่งเสียภรรยาไปได้ไม่นาน ทำให้ต้องรับหน้าที่ เป็นทั้งพ่อและแม่ของลูกๆ ในขณะเดียวกัน
นักอ่านส่วนใหญ่อาจลงความเห็นว่า คีตาญชลี (ที่ถอดความเป็นภาษาไทยอย่างยอดเยี่ยม โดย กรุณา และ เรืองอุไร กุศลาสัย) เป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของท่านรพินทรนาถ แต่ข้าพเจ้าชอบ จันทร์เสี้ยว มากกว่าหลายเท่า
เพราะเป็นงานที่ไม่เพียงแต่ “เข้าถึง” แก่นแท้ของมนุษย์ แต่ยังถ่ายทอดความรัก และความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก ได้อย่างไม่มีหนังสืออื่นใดเทียบเทียม
ขอหยิบยกบางตอนจาก จันทร์เสี้ยว ให้ท่านลองอ่านดู ว่าสำนวนแปลของ ปรีชา ช่อปทุมมา (ผู้ใช้เวลาแปลเรื่องนี้กว่า 4 ปี) ถนอมความงดงามของภาษากวีได้ไพเราะเพียงใด:
ไอ้หนูเอ๋ย ฉันลืมแล้วถึงเรื่องศิลปแห่งการเพลิดเพลินกับเศษไม้และก้อนดิน
ฉันมัวแต่ค้นหาของเล่นราคาแพง และสะสมแท่งเงินแท่งทอง
ไม่ว่าหยิบฉวยสิ่งใด เจ้าสามารถประดิษฐ์ให้เป็นการเล่นสนุกสนาน ส่วนฉันผลาญทั้งเวลา พร่าทั้งพลัง เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุอันไม่มีวันจะได้
และอีกหนึ่งบทโปรดของข้าพเจ้า:
ถ้าผมเป็นเพียงลูกหมาตัวเล็ก ๆ ไม่ใช่ลูกแม่ละก้อ เมื่อผมพยายามจะกินอาหารจากจาน แม่ครับ, แม่จะพูดไหมว่า
“ไม่เอานะ”
แม่จะไล่ผม และตวาดไหมว่า
“ไปให้พ้น ไอ้ลูกหมาซุกซน”
ไปซิครับ แม่ ผมไปเด็ด ๆ! จะไม่เดินเข้ามาหาเมื่อแม่เรียก จะไม่ยอมให้แม่เลี้ยงอีกเลย
จันทร์เสี้ยว ไม่เพียงแต่เป็นหนังสือที่พ่อแม่ทุกคนควรอ่านเท่านั้น แต่เป็นการเรียงร้อยสัจธรรม ให้เข้ากับความงาม ได้อย่างกลมกลืนงดงามที่สุดตั้งแต่ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือมา
ท่านสามารถดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็ม ได้โดยคลิ้กที่นี่ (PDF, 71 หน้า)
แม้จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในกระแสปัจเจกนิยมสมัยใหม่ สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับการ “รู้ที่ต่ำที่สูง” อยู่มาก ทำให้ความเห็นของเด็กๆ มักถูกมองข้ามไป หรือเห็นว่าไม่สำคัญ (อย่าว่าแต่ “เด็ก” ด้วยวัยวุฒิเลย แม้ผู้ใหญ่ที่คุณวุฒิยัง “ไม่ถึงขั้น” ก็ถูกมองว่าเป็นเด็กอยู่ดี)
และนั่นอาจเป็นคุณค่าสูงสุดของหนังสือเด็ก “เพื่อผู้ใหญ่” เหล่านี้ : ทำให้ผู้ใหญ่ฉุกคิดขึ้นได้ว่า มีอะไรๆ ที่เรียนรู้จากเด็กได้มากมาย และ “ความเป็นเด็ก” หลายๆ ประการ เช่น ความซื่อสัตย์ ความอยากรู้อยากเห็น และจินตนาการ ล้วนเป็นคุณธรรมที่น่าจะทำให้ชีวิตผู้ใหญ่พานพบกับความสุข หรืออย่างน้อยก็บรรเทาความทุกข์ได้ระดับหนึ่ง ในโลกยุคโลกาภิวัตน์
จะดีเพียงไร หาก “ผู้ใหญ่” ทุกคนในประเทศไทย จะมีความกล้าหาญเหมือนเจ้าชายน้อย ความอยากรู้อยากเห็นไม่สิ้นสุดเหมือนหนูแหวน ความรักแบบเข้มแข็งเหมือนส่วนที่หายไป ความเข้าใจและการยอมรับในวิถีชีวิตที่แตกต่างเหมือนจอน และความอ่อนโยนเหมือนพ่อในจันทร์เสี้ยว
หากความเป็น “ผู้ใหญ่” แปลว่าเราต้องละทิ้งคุณธรรมอันงดงามเหล่านี้ เรามาเป็นเด็กตลอดกาลกันดีไหม?