“หมวก” ของรัฐ ผลกระทบ และบทเรียนของคดี ปตท.

เพิ่งไปบรรยายในเสวนาเรื่อง “การปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกรณี ปตท. : แนวทางและผลกระทบ” จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช้าวันนี้ (9 มกราคม 2551) มา ขอเชิญดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยายที่ใช้ได้ที่ีนี่ (อยู่ในหน้า Writings ของบล็อกนี้แล้ว):

(ขอแนะนำให้ทุกท่านดาวน์โหลด Powerpoint presentation ประกอบการบรรยายของคุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน ที่ไปเสวนาในงานเดียวกันมาอ่านประกอบด้วย)

สรุปประเด็นหลักๆ ของผู้เขียนที่ไปพูด (นอกเหนือจากที่เขียนไปเยอะแล้วในบล็อกนี้ – อ่านความเห็นเก่าๆ ได้ใน ความเข้าใจผิดและทัศนคติ “คับแคบ” เกี่ยวกับคำตัดสินคดี ปตท., และ นัยยะของ พ.ร.บ. พลังงานฯ ต่อคดี ปตท. – เมื่อนิติบัญญัติ “มัดมือชก” ตุลาการ?):

  1. ศาลปกครองไม่แตะเรื่อง “กำไรผูกขาด” ในกิจการท่อส่งก๊าซของ ปตท. พิพากษาแต่เพียงว่าท่อก๊าซเป็น “สาธารณสมบัติ” และดังนั้นจึงต้องโอนคืนให้รัฐดูแล
  2. รัฐ ในที่นี้คือกระทรวงการคลัง เป็น “ผู้ดูแล” สาธารณสมบัติแทนสาธารณชนไทย ไม่ใช่ “เจ้าของ” ท่อก๊าซ (สาธารณสมบัติ คือสมบัติของสาธารณะ ไม่ใช่สมบัติของรัฐ) ดังนั้นการคิดค่าเช่าท่อ จึงไม่น่าจะเข้าข่าย “รายการที่เกี่ยวโยงกัน” ตามกฎของตลาดหลักทรัพย์ เพราะถ้าเข้าข่าย (ถ้ามองว่ากระทรวงการคลังเป็นทั้ง “เจ้าของ” ท่อ และ “เจ้าของ” ปตท.) ก็อาจเป็นแรงจูงใจให้กระทรวงการคลังคิดค่าเช่า “ต่ำเกินไป” เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับแนวโน้มที่จะต้องงดออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย)
  3. แต่ไม่ว่าค่าเช่าท่อจะเป็นเท่าไร ก็ไม่สามารถกำจัด “กำไรผูกขาด” ในกิจการท่อก๊าซของ ปตท. ได้ ตราบใดที่หลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าผ่านท่อยังเป็นแบบ “cost-plus” (ต้นทุนบวกมาร์จิ้น) ไม่ใช่ “เพดานราคา” อย่างที่ควรจะเป็นในกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ปตท. อาจ “ส่งต่อ” ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าเช่าท่อ ไปยังผู้ซื้อก๊าซก็ได้
  4. ดังนั้น การผลักดันให้รัฐปฏิรูปกิจการก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงสำคัญกว่าการพยายาม “ทำตามคำพิพากษา” (เจรจากันว่าจะคิดค่าเ่ช่ากี่เปอร์เซ็นต์, มูลค่าท่อที่ควรจะโอนมีกี่ล้านบาท ฯลฯ) ไปทื่อๆ แล้วก็จบ เพราะถ้า้คิดค่าเช่าแต่ไม่มีการเปลี่ยนสูตรการคำนวณราคาก๊าซ “กำไรผูกขาด” ของ ปตท. ก็จะยังคงอยู่เหมือนเดิมไม่หายไปไหน
  5. ถ้ารัฐมัวแต่หมกมุ่นกับการคิดค่าเช่า กับมูลค่าท่อที่ควรโอนคืนใ้ห้รัฐดูแล โดยไม่เปลี่ยนสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อ ปตท. ก็อาจจะ “ส่งต่อ” ต้นทุนเพิ่มไปยังผู้ซื้อก๊าซ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประชาชนเดือดร้อน มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคอาจจะถูกประชาชนกล่าวหาว่าเป็น “ตัวการ” ทำให้เดือดร้อน ฟ้องไปไม่ได้ประโยชน์ ฯลฯ ทั้งๆ ที่ความผิดในกรณีนั้นเป็นของรัฐบาล ที่ไม่นำคำพิพากษาของศาลไป “่ต่อยอด” ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
  6. ท่อก๊่าซที่อยู่ในทะเล ควรนับเป็น “สาธารณสมบัติ” ด้วย (ถ้าบนบกยังเป็น เหตุใดในทะเลจึงจะไม่เป็น?) รัฐบาลกำลังตีความเพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชนจริงๆ หรือไม่?
  7. ปตท. มีการ “ต่อเติม” มติ ครม. ในจดหมายที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในทางที่อาจทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดว่า ครม. ตกลงแล้วว่าให้ ปตท. โอนท่อสามเส้น มูลค่า 15,000 ล้านบาท และคิดค่าเช่าท่อ 5% และดังนั้นจึงเข้าใจว่าผลกระทบต่อราคาหุ้นของ ปตท. จะมีน้อยมาก ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนี้ก็มีการเลื่อนออกไปอีก 3 สัปดาห์ นักลงทุนหลายคนอาจเข้าใจผิด ไปซื้อหุ้นเพราะคิดว่าผลกระทบจากคำพิพากษา “จบ” แล้ว คิดว่าไม่มีความเสี่ยงจากประเด็นนี้แล้ว
  8. การใช้ข้ออ้างทำนอง “เดี๋ยวจะมีผลกระทบต่อฐานะหรือราคาหุ้นของ ปตท.” เป็นเหตุผลในการทำหรือไม่ทำอะไร เป็นข้ออ้างที่ “ฟังไม่ขึ้น” เพราะถ้ามูลค่ากิจการของ ปตท. ส่วนหนึ่งมาจากกำไรผูกขาด ใช้อำนาจมหาชน หรืออำนาจอื่นๆ ที่ “ไม่ชอบธรรม” ก็ถือเป็น “มูลค่าไม่ชอบธรรม” ดังนั้นถ้าราคาหุ้นของ ปตท. ต้องลดลงเพื่อสะท้อนกำไรที่ลดลง จากการที่รัฐกำจัดความไม่ชอบธรรมทั้งหลาย (ที่ทำให้ได้กำไรเกินควรไปสูงสุด คือระดับผูกขาด) มันก็สมควรจะต้องลง นักลงทุนต้องรับได้ และมองให้ออกว่าเป็นความเสี่ยงในการลงทุนประการหนึ่ง (ซึ่งจริงๆ ก็เป็น “ความเสี่ยงเก่า” ที่เปิดเผยตั้งแต่ตอน ปตท. ยื่นไฟลิ่งขอเสนอหุ้นครั้งแรก เพราัะในไฟลิ่งระบุว่ารัฐจะแยกกิจการท่อก๊าซออกมาภายใน 1 ปี เพื่อกำกับดูแลให้ดีและเปิดเสรีให้มีการแข่งขัน แต่รัฐกลับผิดสัญญามาตลอดโดยอ้างเหตุผลที่ไม่เคยฟังขึ้น)