พิมพ์ครั้งแรกใน “หัวใจนักเขียน” วารสาร WRITER ฉบับที่ 29 เดือนพฤศจิกายน 2557
สารภาพตามตรงว่า ชาตินี้ไม่เคยคิดฝันว่าจะได้ก้าวข้ามพรมแดนที่มองไม่เห็นจาก “นักอ่าน” มาเป็น “นักเขียน” กับเขา จวบจนวันนี้ยังรู้สึกอัศจรรย์ใจทุกครั้งที่คิดว่าตัวเองได้มีวาสนามาอยู่ร่วมวงการกับนักเขียนทั้งหลาย คนประเภทเดียวเท่านั้นที่รู้สึกประหม่าและตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้พบหน้า ถ้าลงว่าเป็นนักเขียนในดวงใจ (ควรหมายเหตุนิสัยส่วนตัวซึ่งอาจดูแปลกประหลาดในสายตาใครบางคนไว้ตรงนี้ว่า เหล่าดาราหรือเซเลบไม่ว่าใหญ่โตคับฟ้ามาจากไหนล้วนไม่เคยทำให้หัวใจเต้นแรงได้เท่ากับนักมายากลที่ร่ายมนตร์สะกดคนอ่านด้วยตัวหนังสือ)
เหตุนี้จึงหวั่นใจไม่น้อย เมื่อได้รับเทียบเชิญจาก อุทิศ เหมะมูล หนึ่งนักเขียนในดวงใจ ในฐานะบรรณาธิการคนล่าสุดของ WRITER ให้เขียนเรื่องลงคอลัมน์ชื่อน่าเกรงขาม “หัวใจนักเขียน”
เมื่อไม่เคยคิดฝัน อย่าว่าแต่จะฝึกปรืออย่างจริงจัง อาศัยครูพักลักจำเอาจากบรรดาหนังสือเล่มโปรด ผนวกกับซึมซับเสียงแนะนำและคำวิพากษ์จากผองบรรณาธิการผู้ใจดีมาทีละเล็กทีละน้อยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงไม่อาจหาญกล้าประกาศต่อใครๆ ว่า “นักเขียน” ควรทำตัวหรือไม่ทำตัวเช่นไร และ “หัวใจ” ของนักเขียนควรอยู่ที่ใดกันแน่
บอกได้คร่าวๆ แต่เพียงผลของการนำเสียงเต้นของหัวใจตัวเองมาประกอบภาพจำจากสมอง ร้อยเรียงเป็นตัวหนังสือให้ชัดที่สุดนับจากนี้ เท่าที่พอจะมีปัญญาทำว่า ตัวเองได้เรียนรู้อะไรมาบ้างและพยายามทำงานเขียนอย่างไร ตลอดระยะเวลาเก้าปีนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ – วันที่เรียกตัวเองว่า “นักเขียนอาชีพ” มานานกว่า “นักการเงินอาชีพ” ในแวดวงการเงินการธนาคาร ผลิตงานเขียนและงานแปลเชิงสารคดีที่มีความต่อเนื่องพอประมาณ และยังคงอยากทำอยู่เรื่อยไปจนกว่าชีวาจะหาไม่
1. ควรเขียนเพราะมีอะไรจะพูด ไม่ใช่เพราะต้องพูดอะไรสักอย่าง
สำหรับผู้เขียน แก่นสารของกระบวนการเขียนคือกระบวนการสนทนากับตัวเอง ดึงเอาความคิดที่ว่ายเวียนอยู่ในหัวออกมาคลี่ ดึงสารพัดประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ นานาอันเป็นวัตถุดิบในการเขียนออกมาพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ถกเถียงกับตัวเองว่าแท้จริงแล้วเราคิดอะไรกันแน่ ทำไมเราถึงคิดแบบนี้ มีข้อมูล แง่มุม หรือความเห็นอื่นใดที่น่าสนใจสำหรับเรามากกว่าสิ่งที่เรารู้แล้วหรือไม่ วันนี้มีข้อมูลใหม่ที่หักล้างความเชื่อหรือข้อมูลเดิมของเราไปแล้วหรือยัง ฯลฯ
ในเมื่อการเขียนคือการสนทนากับตัวเองบนหน้ากระดาษหรือหน้าจอ ผู้เขียนคิดว่าเราจึงควรเขียนก็ต่อเมื่อมีอะไรจะพูดจริงๆ เมื่อได้พูดคุยถกเถียงกับตัวเองจนค้นพบแง่มุมที่เราสนใจเกี่ยวกับหัวข้อที่เราจะเขียนแล้ว สนใจถึงขั้นไปค้นคว้าหาข้อมูลมาเตรียมแล้ว ไม่ใช่เขียนเพราะรู้สึกว่าเราต้องพูดอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้(ให้ได้สิน่า) และที่รู้สึกว่าต้องเขียนอะไรสักอย่างก็เพราะกลัวว่าเดี๋ยวจะตกกระแส อยากให้ “โดนใจ” คนอ่าน หรือถูกบรรณาธิการบังคับให้เขียน
ต่อให้บรรณาธิการกำหนดหัวข้อมาให้ ผู้เขียนเชื่อว่าทุกเรื่องในโลกนี้ย่อมมีแง่มุมที่ถูกจริตเรา กระตุกต่อมความสนใจใคร่รู้ของเราได้ทั้งนั้น ถ้าใช้เวลาพินิจพิจารณามันมากพอ
เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นคนที่ไม่มีความสนใจในเรื่องอะไรทั้งนั้น คนแบบนั้นผู้เขียนคิดว่าคงไม่เหมาะที่จะเป็นนักเขียนตั้งแต่ต้น
ไปทำอย่างอื่นเถิด จะเกิดผลดีงามกับชีวิตมากกว่า
ถ้าเขียนเพียงเพราะรู้สึกว่าต้องพูดอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เราก็จะสักแต่เขียนๆ ไปให้จบๆ หรือเขียนแบบลวกๆ โดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน
ผู้เขียนเชื่อว่าระดับความไม่ตั้งใจของงานเขียนย่อมสะท้อนผ่านตัวหนังสือออกมา ไม่ว่าคนเขียนจะเพียรกลบเกลื่อนมันเพียงใดก็ตาม
ถ้าคนเขียนมักง่าย คนอ่านก็รู้ว่ามักง่าย
2. ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ เมื่อผิดพลาดก็ยอมรับ
นอกจากงานเขียนจะสื่อว่าคนเขียนมักง่ายเพียงใด ไม่ว่าคนเขียนจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลมหาศาลบานตะไทไหลหลั่งมาได้ด้วยปลายนิ้ว ผู้เขียนคิดว่าคนอ่านยอมรับระดับความมักง่ายของคนเขียนได้น้อยกว่ายุคก่อนหน้านี้มาก
หากข้อเขียนเชิงสารคดีชิ้นใดตั้งคำถามไปในสายลม คำถามซึ่งตอบได้ด้วยการค้นคำตอบเพียงสิบวินาทีบนวิกิพีเดีย คนเขียนก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกคนอ่านปรามาสเอาว่า ทำไมไม่ทำการบ้านก่อนเขียนเอาเสียเลย แล้วอย่างนี้ฉันจะอ่านเธอจนจบไปทำไม สู้ไปเสิร์ชกูเกิลเอาเองไม่ดีกว่าหรือ
โลกยุคข้อมูลท่วมท้นเป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ และความคิดเห็นใหม่ๆ ผุดพรายขึ้นเสมอไม่ขาดสาย นักเขียนควรเปิดใจยอมรับโอกาสค่อนข้างสูงที่จะถูกข้อมูลใหม่ๆ พิสูจน์ว่าข้อเขียนของตนนั้นผิดพลาดหรือล้าสมัยไปเสียแล้ว ยังมิพักต้องพูดถึงความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงเช่นกันที่จะมีคนอ่านทักท้วงว่าใช้ข้อมูลหรือตีความข้อมูลผิดตั้งแต่ต้นทาง
การเขียนคือการจดจารจารึก ณ ห้วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น ภายใต้ข้อจำกัดอันมากมายของคนเขียน ไม่อาจแปรเปลี่ยนโดยอัตโนมัติให้สอดรับกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ฉะนั้นเมื่ออนาคตคล้อยเข้ามาใกล้จนกลายเป็นปัจจุบัน สิ่งที่นักเขียนทำได้เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคนอ่าน ก็คือการบอกกล่าวเมื่อมีโอกาสว่า โปรดอย่าอ่านงานเขียนชิ้นนั้นของฉันเลยนะ มันล้าสมัยคร่ำครึไปแล้วล่ะ
เมื่อมีผู้ชี้ให้เห็นความผิดพลาดใดๆ ในข้อเขียน ก็ควรจะน้อมรับและขอบคุณอย่างชื่นบาน เพราะนั่นแสดงว่าคนอ่านไม่เพียงแต่ตั้งใจอ่าน แต่ยังมีแก่ใจพอที่จะชี้แนะคนเขียน จะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนาตัวเองต่อไปในอนาคต
พรวิเศษอย่างหนึ่งของการเขียน คือโอกาสในการได้พัฒนาตัวเอง เพราะเป็นงานที่ต้อง “อยู่กับตัวเอง” ให้ได้อย่างแท้จริง
นักเขียนจะใช้โอกาสนี้พัฒนาตัวเอง หรือจะปล่อยให้โอกาสผ่านเลยไปด้วยการเป่าอัตตาให้พองโต ก็สุดแท้แต่จะคิด
3. จริงใจ ใจกว้าง และพยายามมองโลกผ่านมุมมองของคนอื่น
ผู้เขียนสังเกตว่า นักเขียนที่ตัวเองเคารพรักและคบหาเป็นพี่ เป็นเพื่อน หรือเป็นน้องในวงการนี้ หลายคนเป็นนักเขียนที่มี “อัตตา” หรือ “อหังการ์” น้อยเสียยิ่งกว่าน้อย น้อยจนอดอุทานในใจไม่ได้เมื่อเจอตัวเป็นๆ เป็นครั้งแรกว่า “นี่หรือนักเขียนในดวงใจของเรา ดูช่างเป็นคนธรรมดา ไม่เหมือนกับภาพที่จินตนาการไว้เลย”
เมื่อครั้งยังเป็นนักอ่านเพียงอย่างเดียว ผู้เขียนเคยมีทฤษฎีส่วนตัวว่า นักเขียนสารคดีเน้นการ “สื่อ” ประเด็นให้ชัด มิใช่ “เสก” ตัวละครออกมาจากจินตนาการอย่างนักเขียนนิยาย ดังนั้นนักเขียนประเภทแรกจึงมีแนวโน้มที่จะมีอัตตาน้อยกว่านักเขียนประเภทหลัง
วันนี้เมื่อประเมินจากนักเขียนทั้งสองประเภทที่ได้รู้จักตัวจริงแล้วหลายคน ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่าทฤษฎีนี้มีส่วนถูกมากน้อยเพียงใด แต่ก็รู้จักมากพอที่จะยืนยันได้ว่า การมีอัตตาพองโตไม่จำเป็นต่อการเขียนงานที่ดี นักเขียนหลายคนที่แสนจะสุภาพเรียบร้อย ถ่อมตัวเป็นสรณะ สามารถผลิตงานเขียนชั้นเอกออกมาได้อย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนเชิงสารคดี นักเขียนนิยาย หรือเขียนทั้งสองแบบก็ตาม
พวกเขาเหล่านี้ทั้งจริงใจและใจกว้าง ซึ่งหาไม่ง่ายเลยในยุคแห่งความแตกแยกทางความคิด ยุคที่คนไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างไม่เคยมีมาก่อน ความบาดหมางร้าวลึกลงถึงระดับครอบครัว ความจริงบางเรื่องในบางแง่มุมถูกกดทับหรือกวาดเข้าไปกองไว้ในมุมมืด ในนามของ “ความมั่นคงแห่งชาติ”
ในสังคมแบบนี้ ลำพังการยืนหยัดในความเป็นอิสระของนักเขียน เขียนในสิ่งที่คิด และอธิบายให้ชัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ว่าเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายและยากลำบากมิใช่น้อย
ผู้เขียนคิดว่า ยิ่งสังคมเป็นเช่นนี้ นักเขียนยิ่งน่าจะพยายามก้าวให้พ้นพรมแดนของความเป็น “พวก” หรือ “ค่าย” ฝ่ายใครก็ตาม ก้าวไปใช้ความเป็นอิสระของการเขียน เปิดใจรับฟังและถ่ายทอดมุมมองของคนที่ทั้งเหมือนและทั้งต่างจากเราที่สุด เพื่อที่งานเขียน – ในฐานที่เป็นการจดจาร ณ ห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง – จะได้กลมเกลี้ยงและหลากหลายเช่นเดียวกับสังคมที่ให้กำเนิดมันขึ้นมา สังคมที่ผู้เขียนหวังว่า ลึกๆ แล้วยังเชื่อในการหาฉันทามติร่วมกันในการหาทางออกจากความขัดแย้ง
เปิดใจตัวเอง เปิดโอกาสที่ตัวเองอาจคิดผิด และรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
เขียนมาถึงตรงนี้ ผู้เขียนก็นึกสงสัยว่า หัวใจของนักเขียนคืออะไรกันเล่า หากมิใช่หัวใจของความเป็นมนุษย์?