หลังจากที่ได้เดินเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือกับเพื่อนมาแล้วสองวัน ซื้อหนังสือเยอะเกินโควตาที่ตั้งโดยประเมินความสามารถในการข่มความอยากของตัวเองต่ำเกินไป 5 เท่า ก็ได้ข้อสรุปกับเพื่อนว่าน่าจะประมวลเคล็ดลับและข้อควรระวังบางข้อที่พวกเรา(ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่าคุ้นเคยกับวงการนี้ระดับหนึ่ง)ใช้ในการเลือกซื้อหนังสือมาแบ่งปันคนอื่น เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อกระเป๋าสตางค์บ้างไม่มากก็น้อยค่ะ
เพราะกิเลสเรื่องหนังสือว่าดับยากแล้ว การซื้อหนังสือที่ด้อยคุณภาพมาโดยไม่รู้ตัวน่าเจ็บใจกว่ากันอีก :p
เคล็ดลับ/ข้อควรระวังในการเลือกซื้อหนังสือ
1. พึงระวังหนังสือที่คนทำตั้งใจ “เป่า” คือทำให้มันหนาเกินราคาโดยไม่มีเนื้อหา ไม่สมเหตุสมผลทางศิลปะ (คือไม่ได้แลดูสวยงามแต่อย่างใด) วิธีดูง่ายๆ เช่น ใช้ฟ้อนต์ขนาดใหญ่เว่อร์ (เกิน 16), เว้นที่กั้นหน้ากั้นหลังในแต่ละหน้าบานเบอะ, ใส่กระดาษคั่นหน้าเยอะๆ โดยเฉพาะหน้ากระดาษว่างเปล่าไร้ภาพประกอบใดๆ
2. การแปะคำว่า “พิมพ์ครั้งที่ 20” หรือ “Bestseller” อาจไม่มีความหมายใดๆ ก็ได้ เพราะอาจพิมพ์แค่ครั้งละ 500 เล่ม หรือเป็น Bestseller แต่เฉพาะในร้านหนังสือเขตบางบอน อะไรแบบนี้ (แต่นักอ่านก็ไม่ควรซื้อหนังสือเพียงเพราะเขาว่ามัน “ขายดี” หรือ “ดัง” อยู่แล้วนี่นะ)
3. หนังสือบางเล่มสำนักพิมพ์เปลี่ยนปกเฉยๆ โดยที่เนื้อหาข้างในเหมือนเดิมเป๊ะแต่ไม่ใส่คำว่า “พิมพ์ครั้งที่ xx” อย่างชัดเจนบนปก หรือไม่ก็เอาเนื้อหาจากหนังสือเก่า 3 เล่ม เล่มละ 33% มายำรวมกัน แล้วอ้างว่าเป็น “หนังสือใหม่” ทำให้นักอ่านสับสนว่าตกลงฉันเคยอ่านเจ้านี่แล้วหรือยัง ทางที่ดีพลิกอ่านด้านในก่อนดีกว่าว่าเนื้อหาในเล่มนี้เคยรวมเล่มมาก่อนแล้วหรือไม่ (สำนักพิมพ์อาจโกหก แต่ถ้าโกหกก็เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคนะ กล้าทำกันไม่มาก)
4. หนังสือที่ไม่ใส่ชื่อและโลโก้สำนักพิมพ์ ทั้งบนปกและสันปก มักจะเป็นหนังสือประเภท “เขาจ้างให้ฉันพิมพ์” (ฉันเอาสตางค์อย่างเดียว ไม่อยากเอาชื่อเสียงตัวเองมาเสี่ยง) หรือ “เนื้อหาแย่จนฉันอาย” (แหะๆ) หรือ “เนื้อหาก๊อปมาจากเน็ต” (ฉันไม่อยากเสี่ยงโดนฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์) (“ฉัน” ในที่นี้คือสำนักพิมพ์) — 99% ของหนังสือประเภทนี้เท่าที่เคยพลิกๆ ดู เข้าข่ายไม่คุ้มที่จะเสียเงินซื้อด้วยประการทั้งปวง
5. สำหรับหนังสือแปล พึงระวังลักษณะต่อไปนี้
- “แปลและเรียบเรียง” –> หมายความว่าสำนวนแปลอาจแตกต่างจากต้นฉบับมาก (ไม่ใช่ไม่ดีเสมอไป แต่ก็ควรระวัง)
- “xxx แปล และคณะ” –> แปลว่าแปลกันหลายคน สำนวนอาจจะแตกต่างกันมาก เนื้อหาไม่สม่ำเสมอ
- ไม่ใส่ชื่อคนแปล –> มีแนวโน้ม 90% ว่าแปลแย่ สำนักพิมพ์(และอาจจะรวมถึงคนแปลเอง)ไม่อยากรับผิดชอบ
- ไม่ให้เครดิตคนเขียน –> คือไม่ใส่ชื่อคนเขียนอย่างชัดเจนบนปก อันนี้ก็ไม่ควรสนับสนุน เพราะมันแสดงถึงความไม่ใส่ใจ (แล้วเนื้อในจะเหลือเหรอ)
- ใช้นามปากกาแปลหนังสือสารคดี –> การใช้นามปากกาแปลนิยายนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าใช้นามปากกาแปลสารคดี อันนี้พึงระวังว่าอาจมีนักแปลหลายคนที่ใช้นามปากการ่วมกัน หรือเจ้าตัวไม่อยากให้ใครรู้ว่าแปลไม่ดี เลยไม่ใช้ชื่อจริง