เบอร์จิตตา ยอนส์ดอตตีร์: พลังแห่งการเคลื่อนไหวในระบอบ

birgitta.jpg

ผู้หญิงบางคนเปลี่ยนโลกด้วยการพิสูจน์ให้เห็นว่า นักเคลื่อนไหวไม่จำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงจากนอกระบบเสมอไป แต่สามารถเข้าไปอยู่ในระบบได้โดยไม่ถูก “กลืน” จนกลายเป็นฟันเฟืองของระบบที่ตัวเองเคยต่อต้าน ในทางตรงกันข้าม นักเคลื่อนไหวที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนให้เข้าไปทำงานในสภา สามารถผลักดันวาระของประชาชน ให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์จุดยืนและฝีมือ และฝีมือของกวีเก่งๆ เพียงคนเดียว บางครั้งก็เพียงพอต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง

กำลังทำบล็อกโฉมใหม่ซึ่งจะทำให้ “หาของ” ง่ายกว่าเดิม อดใจรออีกนิดค่ะ

ระหว่างนี้เอางานเก่าอีกชิ้นมาเก็บในบล็อก – เรื่องราวของ “ผู้หญิงกลิ้งโลก” คนโปรดคนหนึ่งที่เคยเขียนถึงในคอลัมน์ make a difference แต่ไม่ได้อยู่ในหนังสือ ผู้หญิงกลิ้งโลก เล่ม 2 เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่

เบอร์จิตตา ยอนส์ดอตตีร์: พลังแห่งการเคลื่อนไหวในระบอบ

“การเมืองไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือชีวิตประจำวันของเรา การเมืองคือการมีความเห็น คนทุกคนล้วนมีโอกาสเปลี่ยนแปลงโลก” 
– เบอร์จิตตา ยอนส์ดอตตีร์

ผู้หญิงบางคนเปลี่ยนโลกด้วยการพิสูจน์ให้เห็นว่า นักเคลื่อนไหวไม่จำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงจากนอกระบบเสมอไป แต่สามารถเข้าไปอยู่ในระบบได้โดยไม่ถูก “กลืน” จนกลายเป็นฟันเฟืองของระบบที่ตัวเองเคยต่อต้าน

ในทางตรงกันข้าม นักเคลื่อนไหวที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนให้เข้าไปทำงานในสภา สามารถผลักดันวาระของประชาชน ให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์จุดยืนและฝีมือ

และฝีมือของกวีเก่งๆ เพียงคนเดียว บางครั้งก็เพียงพอต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลง

เบอร์จิตตา ยอนส์ดอตตีร์ (Birgitta Jónsdóttir, เว็บไซต์ส่วนตัว) เกิดในกรุงเรย์ส์จาวิก เมืองหลวงของไอซ์แลนด์ ชื่นชอบหนังสือ ดนตรี ศิลปะตั้งแต่ยังเด็ก ดังนั้นจึงไม่มีใครแปลกใจที่เธอตัดสินใจเดินทางสายนี้ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เพียงแต่ผลงานของเบอร์จิตตาโดดเด่นกว่ากวีวัยเดียวกันอีกหลายคน เข้าตา อัลเมนา โบคาเฟลาโจ สำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในไอซ์แลนด์ ตกลงตีพิมพ์บทกวีเล่มแรกในชีวิตของเธอ ปี 1989

แจ้งเกิดในบรรณภพด้วยวัย 22 ปี

ในฐานะคนรุ่น “กลางเก่ากลางใหม่” ที่ใช้ชีวิตระหว่างรอยต่อของยุคอนาล็อก กับยุคดิจิตอลแต่กำเนิด (digital natives) เบอร์จิตตาเป็นศิลปินคนแรกๆ ในไอซ์แลนด์ที่ทดลองและสร้างสรรค์ศิลปะแบบมัลติมีเดีย โดยผสมผสานตัวอักษร ดนตรี และจิตรกรรมเข้าด้วยกัน เมื่อคนไอซ์แลนด์มีอินเทอร์เน็ตใช้ เธอก็ใช้มันเป็นพื้นที่แสดงงานและเป็นส่วนหนึ่งของงาน สะสมความเชี่ยวชาญและชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 1996 บริษัทแอปเปิลจ้างเธอทำแกลอรีศิลปะออนไลน์แห่งแรกของไอซ์แลนด์ จุดเด่นของงานนี้นอกจากจะอยู่ที่งานศิลปะที่เลือกมาแสดง ยังเป็นครั้งแรกในไอซ์แลนด์ที่มีการถ่ายทอดในเวลาจริง (live broadcast) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ถ้าไม่นับความคุ้นเคยและหลงใหลในอินเทอร์เน็ตในฐานะเทคโนโลยี สื่อ และสังคม ที่ดูจะมากกว่าคนทั่วไป เบอร์จิตตาก็ไม่แตกต่างจากศิลปินจำนวนมากตรงที่เธอรณรงค์ต่อต้านสงครามและปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแข็งขัน เมื่อใดที่สถานการณ์ในประเทศราบรื่น เธอก็อุทิศงานรณรงค์ให้กับเพื่อนพลเมืองโลกในต่างแดนที่ไม่โชคดีเท่า ส่งผลให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะ “นักเคลื่อนไหว” ควบคู่กับการเป็นกวี และการแต่งบทกวีเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ผ่านเน็ตก็ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักนอกประเทศเล็กๆ บ้านเกิด

เบอร์จิตตาผนวกความรักในศิลปะออฟไลน์ กับความหลงใหลในโลกออนไลน์ไร้พรมแดนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เธอประสานงานกับกวีและนักเขียนนอกไอซ์แลนด์ รับเชิญไป

ในปี 2001 เบอร์จิตตามีบทบาทสำคัญในการช่วยองค์การสหประชาชาติจัดกิจกรรม “บทสนทนาระหว่างอารยธรรมผ่านบทกวี” (Dialogue Among Nations through Poetry) ซึ่งเชิญกวีเอกจากทั่วโลก ต่อมาอีกสองปี เธอก็จัดแคมเปญ “ศิลปะต้านสงคราม” (Art against the War) ขึ้นในไอซ์แลนด์ รวมพลังศิลปินและกวีชาวไอซ์แลนด์ที่ไม่เห็นด้วยกับสงครามอิรัก เว็บไซต์ Poets Against War ซึ่งเธอก่อตั้งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ ได้รับบทกวีต่อต้านสงครามจากกวีทั่วโลกกว่า 13,000 คน

ไม่ว่าจะทำงานเคลื่อนไหวมากขนาดไหน เบอร์จิตตาก็ไม่เคยละทิ้งบทกวี ศิลปะชนิดแรกที่เธอหลงรัก ในปี 2003 เพียงปีเดียว เธอรวมเล่มบทกวีของตัวเองเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ 10 เล่ม สองเล่มในนั้นเป็นภาษาอังกฤษ เดินทางไปร่วมเทศกาลกวีนานาชาติในประเทศโรมาเนีย และเป็นบรรณาธิการรับเชิญให้กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งในนิวซีแลนด์

พอถึงปี 2007 บทกวีของเธอก็ได้รับการแปลไปแล้วมากกว่า 12 ภาษา งานศิลปะแสดงในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ทำแคมเปญด้านสิทธิเสรีภาพอย่างสม่ำเสมอ และเป็นบรรณาธิการหนังสือหลายเล่ม

แต่พอขึ้นปีใหม่ ชีวิตของเบอร์จิตตาก็พลิกผันไปในทางที่เธอไม่คาดคิดมาก่อน

เศรษฐกิจของไอซ์แลนด์ถูกหางเลขวิกฤติการเงินโลกอย่างรุนแรง ระบบธนาคารจวนเจียนจะล้มละลาย ประชาชนรับรู้เป็นครั้งแรกว่าธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศปล่อยกู้รวมกันสูงกว่า 9 เท่า ของรายได้ประชาชาติ ไอซ์แลนด์กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกในประวัติศาสตร์ที่วิ่งแจ้นไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ คนไอซ์แลนด์จำนวนมากตกงาน ออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชนชาติที่มีประชากร 300,000 คน

เบอร์จิตตาโดดเข้าร่วมขบวนผู้ประท้วงซึ่งขยายใหญ่อย่างรวดเร็ว เธอกลายเป็นหัวหอกจัดตั้งแนวร่วมประชาชนชื่อ “ขบวนเคลื่อนไหวประชาสังคม” (Civic Movement) ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นพรรคการเมืองของภาคประชาชน ใช้ชื่อสั้นๆ ว่า “เคลื่อนไหว” (The Movement หรือ “Hreyfingin” ในภาษาไอซ์แลนด์) จุดยืนใหญ่ของพรรคคือการผลักดันการปฏิรูปประชาธิปไตย กระจายอำนาจไปสู่มือประชาชนมากขึ้น โดยทำงานในแนวราบ

พรรคเคลื่อนไหวส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้แทนราษฏรในเดือนเมษายน ปี 2009 และได้รับเสียงสนับสนุนถึง 7 เปอร์เซ็นต์ แม้จะจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเพียงสองเดือนก่อนวันเลือกตั้ง และแทบไม่มีงบประมาณหาเสียงใดๆ

เสียงสนับสนุนจากประชาชนทำให้พรรคเคลื่อนไหวส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าสภาได้ 4 คน (จาก 63 ที่นั่งในสภา) เบอร์จิตตาเป็นหนึ่งในสี่

การได้เป็นผู้แทนราษฎรเปลี่ยนชีวิตของเบอร์จิตตาจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ก็ไม่ได้สั่นคลอนจุดยืนของเธอแต่อย่างใด เธอยังคงทำงานรณรงค์ต่อต้านสงครามและปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในฐานะอาสาสมัครของวิกิลีกส์ เว็บแฉชื่อดัง

เบอร์จิตตาโด่งดังเป็นพลุแตกในปี 2010 เมื่อเธอให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอบีซีของอเมริกาว่า วิกิลีกส์กำลังจะปล่อยวีดีโอลับ วีดีโอชิ้นนั้นชื่อ “Collateral Murder” แสดงการฆาตกรรมพลเรือนจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพสหรัฐในอัฟกานิสถานอย่างชัดเจน วีดีโอชิ้นนี้จนถึงปัจจุบันมีคนดูไปแล้วทางอินเทอร์เน็ตกว่า 13 ล้านคนทั่วโลก ต่อมาเมื่อข้อมูลปรากฏว่าเบอร์จิตตาเป็นโปรดิวเซอร์ที่อยู่เบื้องหลังวีดีโอนี้ เธอก็ได้รับแจ้งจากทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียชื่อดัง ว่าบริษัทถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐสั่งให้ส่งมอบข้อมูลทั้งหมดที่มีเกี่ยวกับตัวเธอ รวมถึงอีเมลแอดเดรสและหลักฐานทางการเงิน ย้อนหลังตั้งแต่ปลายปี 2009

เบอร์จิตตาไม่ยอมส่งข้อมูลให้ตามคำสั่ง เธอฟ้องกลับกระทรวงยุติธรรมอเมริการ่วมกับอาสาสมัครวิกิลีกส์อีกสามคนว่า กฎหมาย NDAA ของอเมริกาที่ให้สิทธิรัฐสอดแนมประชาชนและคนต่างชาตินั้นละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอเมริกัน ปัจจุบันคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด

ผลงานชิ้นสำคัญของเบอร์จิตตาในฐานะนักการเมือง คือการผลักดันร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสาร จนผ่านสภาได้สำเร็จในปี 2010 ด้วยเสียงเอกฉันท์

กฎหมายข้อมูลข่าวสารฉบับนี้นอกจากจะปกป้องสื่อมวลชนและแหล่งข่าวแล้ว ยังปกป้องผู้ให้เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นกรณีพิเศษ เบอร์จิตตามองว่าการออกกฎหมายนี้นับเป็นก้าวสำคัญสู่การทำให้ไอซ์แลนด์เป็น “ที่พักพิงสำหรับเสรีภาพในการแสดงออก”

ระหว่างที่ผลักดันกฎหมาย เบอร์จิตตายกระดับแนวร่วมปฏิรูปสื่อไอซ์แลนด์ (Icelandic Modern Media Initiative) แนวร่วมของภาคประชาชนร่วมกับพรรคเคลื่อนไหวที่ผลักดันกฎหมายข้อมูลข่าวสาร ให้กลายเป็นสถาบันชื่อ สถาบันสื่อสมัยใหม่นานาชาติ (International Modern Media Institute: IMMI)

เบอร์จิตตาเชื่อว่า ทุกประเทศจะต้องพิทักษ์สิทธิในการรับรู้ของประชาชนอย่างเข้มแข็ง เธอให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า “IMMI สำคัญกว่าวิกิลีกส์มาก …เรากำลังพยายามทำให้วิกิลีกส์ไม่จำเป็นอีกต่อไป”

ทั้งหมดนี้คือส่วนเสี้ยวเดียวจากชีวิตของ เบอร์จิตตา ยอนส์ดอตตีร์ กวี นักเคลื่อนไหว และนักการเมือง ผู้ขนานนามตัวเองว่า “นักกิจกรรมทั้งในและนอกระบบ”

ประวัติโดยสังเขป

  • เบอร์จิตตา ยอนส์ดอตตีร์ เกิดปี 1967 ในกรุงเรย์ส์จาวิก เมืองหลวงของไอซ์แลนด์
  • 1989: Frostdinglar (น้ำแข็งย้อย) หนังสือรวมบทกวีเล่มแรก ได้รับการตีพิมพ์
  • 1996: จัดงานแกลอรีศิลปะออนไลน์ครั้งแรกในไอซ์แลนด์ ให้กับบริษัทแอปเปิล
  • 2001: ช่วยจัดงาน Dialogue Among Nations through Poetry ให้กับองค์การสหประชาชาติ
  • 2002: เป็นบรรณาธิการหนังสือ Book of Hope & The World Healing Book
  • 2003: ทำ Art Against War แคมเปญต่อต้านสงครามอิรัก และก่อตั้งเว็บไซต์ Poets Against War ได้รับบทกวีจากกวีทั่วโลกกว่า 13,000 คน
  • 2005: ตีพิมพ์ The Chameleon’s Diary นิยายเล่มแรกในชีวิต
  • 2008: ร่วมก่อตั้งองค์กร Friends of Tibet in Iceland และ Civic Movement ขบวนเคลื่อนไหวจากฐานรากของภาคประชาชน
  • 2009: เริ่มทำงานเป็นอาสาสมัครและหนึ่งในโฆษกของวิกิลีกส์ ยกระดับ Civic Movement เป็นพรรคการเมือง เป็นสมาชิกพรรคหนึ่งในสี่คนที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
  • 2010: เป็นผู้อำนวยการสร้างวีดีโอ Collateral Murder ให้กับวิกิลีกส์ แฉการฆาตกรรมพลเรือนในอัฟกานิสถานโดยกองกำลังสหรัฐ
  • 2010: ก่อตั้ง Icelandic Modern Media Initiative และยกระดับเป็นสภาบันชื่อ International Modern Media Institute ผลักดันร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารจนสำเร็จ