ก่อนอื่นขอขอบคุณ คุณ Saruj ที่คิดคำเก๋ๆ ว่า “ยอดคลื่นของทุน” และอนุญาต(กลายๆ)ให้ข้าพเจ้านำมาใช้จั่วหัวเรื่องนี้
ว่าจะเขียนเรื่องนี้เป็นบทเปิดตัวบล็อกตั้งนานแล้ว แต่ด้วยความยาก(มากๆ)ของการกลั่นกรองประสบการณ์ชีวิต(อันน้อยนิด) ออกมาเป็นตัวหนังสือ และความอ่อนหัดทางภาษา ทำให้ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาจดๆ จ้องๆ คิดใคร่ครวญอยู่เป็นแรมเดือนกว่าจะลงมือเขียน (คิดแล้วก็อดรู้สึกอิจฉา blogger เก่งๆ อย่างคุณปิ่น ปรเมศวร์ คุณนิติรัฐ หรือคุณแทนไทไม่ได้ ที่ไม่ว่าจะเขียนอะไร สารพัดสารพันเรื่อยเปื่อยขนาดไหน ก็ไม่เคยส่งเดชหรือน่าเบื่อเลยซักที)
ยิ่งอยากเขียนเรื่องนี้ในลักษณะ “เล่าให้ฟังอย่างเป็นกลาง” เกี่ยวกับวงการวาณิชธนกิจ (ซึ่งต่อไปขอเรียกว่า IB (ย่อมาจาก Investment Banking) และคนประกอบอาชีพนี้ว่า I-banker ตามธรรมเนียมปฏิบัติในวงการก็แล้วกัน เพราะศัพท์ “ทางการ” เช่น “วาณิชธนกิจ/วาณิชธนกร” ฟังดูสวยหรูแต่ไม่มีใครเข้าใจ เหมือนศัพท์การเงินส่วนใหญ่) เผื่อจะมีผู้อ่านท่านใดสนใจจะเข้าวงการนี้ ก็ยิ่งทำให้ต้องคิดมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
ที่ต้องคิดมากก็เพราะว่า หลังจากเป็น I-banker มา 4 ปี ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่ายังสามารถ “เป็นกลาง” เกี่ยวกับอาชีพตัวเองได้อยู่หรือเปล่า
เพราะกระแสทุนนิยมเสรีอันเชี่ยวกรากเกินต้านทาน ทำให้วงการนี้ “เถื่อน” และเป็น “ปาหี่” ขึ้นทุกวัน
จริงๆ แล้วคำว่า “IB” ที่ใช้กันอยู่ในเมืองไทย หมายถึงการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทต่างๆ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Corporate Finance (การเงินบรรษัท) เท่านั้น ไม่รวมธุรกิจประเภทอื่นๆ ที่ปกตินับเป็นเรื่องของ IB ด้วย เช่น โบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ ที่บริการลูกค้า “ฝ่ายซื้อ” (buy-side) ในตลาดทุน คือนักลงทุนรายย่อยและสถาบัน
ก่อนอื่นขอขอบคุณ คุณ Saruj ที่คิดคำเก๋ๆ ว่า “ยอดคลื่นของทุน” และอนุญาต(กลายๆ)ให้ข้าพเจ้านำมาใช้จั่วหัวเรื่องนี้
ว่าจะเขียนเรื่องนี้เป็นบทเปิดตัวบล็อกตั้งนานแล้ว แต่ด้วยความยาก(มากๆ)ของการกลั่นกรองประสบการณ์ชีวิต(อันน้อยนิด) ออกมาเป็นตัวหนังสือ และความอ่อนหัดทางภาษา ทำให้ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาจดๆ จ้องๆ คิดใคร่ครวญอยู่เป็นแรมเดือนกว่าจะลงมือเขียน (คิดแล้วก็อดรู้สึกอิจฉา blogger เก่งๆ อย่างคุณปิ่น ปรเมศวร์ คุณนิติรัฐ หรือคุณแทนไทไม่ได้ ที่ไม่ว่าจะเขียนอะไร สารพัดสารพันเรื่อยเปื่อยขนาดไหน ก็ไม่เคยส่งเดชหรือน่าเบื่อเลยซักที)
ยิ่งอยากเขียนเรื่องนี้ในลักษณะ “เล่าให้ฟังอย่างเป็นกลาง” เกี่ยวกับวงการวาณิชธนกิจ (ซึ่งต่อไปขอเรียกว่า IB (ย่อมาจาก Investment Banking) และคนประกอบอาชีพนี้ว่า I-banker ตามธรรมเนียมปฏิบัติในวงการก็แล้วกัน เพราะศัพท์ “ทางการ” เช่น “วาณิชธนกิจ/วาณิชธนกร” ฟังดูสวยหรูแต่ไม่มีใครเข้าใจ เหมือนศัพท์การเงินส่วนใหญ่) เผื่อจะมีผู้อ่านท่านใดสนใจจะเข้าวงการนี้ ก็ยิ่งทำให้ต้องคิดมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
ที่ต้องคิดมากก็เพราะว่า หลังจากเป็น I-banker มา 4 ปี ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่ายังสามารถ “เป็นกลาง” เกี่ยวกับอาชีพตัวเองได้อยู่หรือเปล่า
เพราะกระแสทุนนิยมเสรีอันเชี่ยวกรากเกินต้านทาน ทำให้วงการนี้ “เถื่อน” และเป็น “ปาหี่” ขึ้นทุกวัน
จริงๆ แล้วคำว่า “IB” ที่ใช้กันอยู่ในเมืองไทย หมายถึงการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทต่างๆ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Corporate Finance (การเงินบรรษัท) เท่านั้น ไม่รวมธุรกิจประเภทอื่นๆ ที่ปกตินับเป็นเรื่องของ IB ด้วย เช่น โบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ ที่บริการลูกค้า “ฝ่ายซื้อ” (buy-side) ในตลาดทุน คือนักลงทุนรายย่อยและสถาบัน
IB ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการเงินกับบริษัทต่างๆ ซึ่งเป็น “ฝ่ายขาย” (sell-side) ในการระดมทุนจากตลาดทุน ไม่ว่าจะในรูปของหุ้น หุ้นกู้ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ และในการตัดสินใจต่างๆ ที่ต้องมีการประเมินมูลค่ากิจการออกมาเป็นตัวเงิน เช่น การซื้อขายกิจการ การควบรวมกิจการ การปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ
ไม่ต่างจากนักการตลาด หรือนักโฆษณาเท่าไหร่ ต่างกันแค่ “สินค้า” ที่ IB ขาย คือตัวบริษัทลูกค้าเอง IB มีหน้าที่จูงใจฝ่ายซื้อ (ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน หรือบริษัทอื่นๆ ที่สนใจซื้อกิจการ) ให้ปักใจเชื่อว่า กิจการของบริษัทลูกค้าของ IB นั้น มีมูลค่าเท่ากับที่เสนอขายจริง
IB ก็เหมือนธุรกิจบริการอื่นๆ คือลูกค้าต้องเป็นใหญ่เสมอ แม้จะ “เสนอ” อะไรไป ถ้าลูกค้าไม่เห็นด้วย ก็จำต้อง “สนอง” ความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่งั้นก็ต้องทำใจ เตรียมตัวเสียลูกค้าไปให้ IB คู่แข่งรายอื่น
ทีนี้ถ้าบริษัทต่างๆ เต็มไปด้วยจรรยาบรรณ ไม่คิดหลอกลวงใคร IB ก็เป็น “ฟันเฟือง” ที่สำคัญในระบอบทุนนิยม ที่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวมได้จริงๆ โดยทางอ้อม เช่น ช่วยบริษัทดีๆ ให้ระดมทุนจากตลาดทุนได้สำเร็จ จะได้เอาเงินไปขยายกิจการ ก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบเพิ่มขึ้น หรือช่วยให้บริษัทนั้นมีกำไรดีขึ้น ช่วยให้สามารถขึ้นค่าจ้างให้ลูกจ้างพนักงาน ทำให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ฯลฯ
ปัญหาคือ ปัจจุบันบริษัทที่ “ดี” แบบนี้หายากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ “ตัววัดผลงาน” ในระบอบทุนนิยมเสรีสุดขั้ว โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น ไม่ใช่ความดี หากเป็นผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น
คือตัวเลขกำไรขาดทุนบรรทัดสุดท้าย หารด้วยส่วนทุน คือเงินที่ผู้ถือหุ้นใส่ลงไป
ดังนั้นตราบใดที่สังคมละเลย ผู้บริโภคยินดีซื้อสินค้าของบริษัทเหล่านี้ และผู้ถือหุ้นพึงพอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับ โดยไม่มีใครสนใจว่าบริษัทได้กำไรมาจาก “วิธีการ” อะไรแล้วละก็ บริษัทเหล่านั้นก็มีแต่จะ “เจริญ” ขึ้นเรื่อยๆ ในระบอบทุนนิยม
บริษัทห้างร้านต่างๆ ก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป ตรงที่การทำ “เลว” นั้นง่ายกว่า สะดวกกว่า และประหยัดเงินกว่าการทำ “ดี” มาก มีซักกี่บริษัทในเมืองไทย ที่ไม่อยากหาวิธีหนีภาษี ทำบัญชีตบตาผู้ถือหุ้นให้ดูเหมือนมีฐานะการเงินดีเกินจริง (แต่ทำอีกบัญชีแสดงผลขาดทุนไว้ส่งสรรพากร จะได้เสียภาษีน้อยๆ) หลอกซื้อที่ดินถูกๆ จากชาวบ้านที่ไม่รู้มูลค่าตลาด ปั่นหุ้นตัวเองให้เข้ากระเป๋าเจ้าของ หรือแอบปล่อยของเสียลงน้ำโดยไม่ต้องเสียเงินสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย?
ลูกค้าเลวลงเท่าไหร่ IB ก็เลวลงเท่านั้น หรือต้องเลวกว่าด้วยซ้ำ เพราะถ้าเลวเท่ากันกับลูกค้า ก็จะไม่มี “จุดเด่น” เหนือคู่แข่งรายอื่น ถ้าเขาคิดเองได้ เขาจะจ้างคุณทำไม
ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเงินของ IB ทั้งหลาย จึงแสดงออกมาในทางพลิกแพลง หลบหลีกกฎหมาย ไร้จรรยาบรรณมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นการแหกตาระดับโลกของ Enron และ Worldcom หรือกลโกงของ Natural Park และ Picnic ในไทย ซึ่งมีบริษัท IB แนวหน้าให้คำปรึกษาอยู่เบื้องหลังทั้งนั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า บริษัทที่โกงระดับโลก หรือระดับชาติเหล่านี้ ล้วนมีนักการเมืองหนุนหลัง หรือมีเจ้าของที่สนิทสนมกับรัฐบาลเป็นอย่างดี
ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างธุรกิจ กับการเมืองนี่แหละ ที่ทำให้ IB ทั้งหลายช่วยลูกค้าต้มตุ๋นชาวบ้านต่อไป โดยไม่ต้องห่วงว่าจะถูกลากตัวไปเข้าคุก หรือถูกฟ้องร้องใหญ่โตจนต้องปิดกิจการ
ถึงถูกปรับ เงินค่าปรับไม่กี่ล้าน (หรือเพียงหลักแสนในกรณีของ กลต. บ้านเรา) ก็จิ๊บจ๊อยมาก เมื่อเทียบกับรายได้หลายสิบล้าน หรือหลายร้อยล้านที่ได้จากการทำดีลแต่ละดีล
รายได้อันมหาศาล บวกกับการ “เอาหูไปนาเอาตาไปไร่” ของรัฐบาลนายทุน ทำให้บริษัท IB ในระบอบทุนนิยมเสรีทุกประเทศ แข่งกันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวิถีทางที่ทำได้
จนตอนนี้ถึงขึ้นที่ต้องเรียกว่า เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้ลูกค้าเห็นว่าคนอื่น “เก่งน้อยกว่า” ด้วย คือพูดจายกตนข่มท่าน แทงคนอื่นข้างหลังทุกครั้งที่มีโอกาส
สองปีก่อน ตอนที่ทำงานสาขาฮ่องกงกับ IB ฝรั่งแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยไปทำดีลเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ ที่ต้องไปนอนค้างในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียหลายวัน เจ้านายกำชับให้ไปยืนเฝ้าเครื่องแฟกซ์ ทุกครั้งที่ส่ง presentation กลับไปให้ทีมในสิงคโปร์แก้ ต้องส่งแฟกซ์ด้วยตัวเอง ห้ามให้โรงแรมส่งให้เด็ดขาด
พอถามว่าทำไม นายบอกว่ามีบริษัทคู่แข่งเราหลายคน ที่จ้างพนักงานโรงแรมให้แอบถ่ายสำเนาแฟกซ์ทุกหน้าที่บริษัท IB ต่างๆ ส่งออก เอาไปส่งให้
เล่นกันขนาดนี้เลย
อดีตลูกน้องคนหนึ่งของข้าพเจ้า เคยถูกนายใหญ่สั่งให้บินจากฮ่องกง ลงใต้ไปสิงคโปร์ เปลี่ยนเครื่องวกขึ้นเหนือไปปักกิ่ง เพราะต้องหอบเอาหน้าใหม่ 2 หน้าใน presentation ที่นายสั่งแก้ ไปส่งนาย (ที่บินไปรออยู่ที่ปักกิ่งเป็นวันแล้ว) ให้ทันการประชุมตอนเก้าโมงเช้า จะให้ทีมที่ปักกิ่งแก้ก็ไม่ได้ เพราะ printer ที่ปักกิ่งยัง print ตัว presentation ออกมาให้เป็นสี่สีสวยงามเหมือนเครื่องที่ฮ่องกงไม่ได้
ต้องบินลงใต้ไปสิงคโปร์ก่อน แทนที่จะขึ้นเหนือไปปักกิ่งเลย เพราะเย็นวันนั้นไม่มีเที่ยวบินตรงจากฮ่องกงไปปักกิ่งแล้ว ถ้าจะบินตรง (ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง) ต้องรอวันรุ่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ไม่ทันการประชุมเช้าวันนั้น
ชายผู้โชคร้ายคนนี้ออกจากฮ่องกงประมาณสองทุ่มกว่า ถึงปักกิ่งประมาณตีสี่ของอีกวัน ใช้เวลาบนเครื่องบินเกือบ 12 ชั่วโมง เหมือนบินจากกรุงเทพฯ ไปลอนดอน ทั้งคืนไม่ได้นอน เพียงเพื่อจะเอาหน้า 2 หน้าที่แก้คำผิดไม่กี่แห่ง ไปส่งนายให้ทันการประชุม
เว่อร์ไหม? นี่แหละ วงการที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อเอาใจลูกค้า
ความ “เถื่อน” ของวงการ และการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ IB เป็นอาชีพที่คนทำงานหนักมาก I-banker ที่ทำงานวันละ 14-18 ชั่วโมง รวมเสาร์อาทิตย์ด้วย เป็นเรื่องธรรมดา สองปีที่ข้าพเจ้าอยู่ฮ่องกง กลับบ้านเวลาเที่ยงคืนตีหนึ่งเกือบทุกวัน บางวันออกจากงานตอนตีสามกับเพื่อนๆ แล้วไปกินเบียร์กันต่อถึงเจ็ดโมงเช้า กลับบ้านไปงีบหนึ่งชั่วโมง ตื่นแบบแฮงก์สุดๆ แต่งตัวมาทำงานให้ทันเก้าโมงเช้า เริ่มวัฏจักรกันใหม่
เรียกว่าเป็นอาชีพสำหรับคนหนุ่มสาว หรือพวกพลังงานเหลือเฟือเท่านั้น
ไม่ว่างานจะหนักอย่างไร เนื่องจาก I-banker เป็นอาชีพที่มีผลตอบแทนสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก (ถ้าปีไหนกำไรดี โบนัส 24 เดือน 36 เดือน ไม่ใช่เรื่องแปลก) ทำให้ไม่เคยขาดแคลนทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่หัวดีที่ยอมเสียสละชีวิตส่วนตัว เพื่อแลกกับรายได้งามๆ
พูดได้ว่า ถ้าไม่ “บ้างาน” หรือ “บ้าเงิน” อย่างน้อยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วไซร้ อย่าคิดมาทำงานนี้เลย ทนอยู่ได้ไม่นานหรอก
เพราะ “ผลงาน” ของ I-bankers วัดกันที่ตัวเงินที่หาให้บริษัทอย่างเดียวเท่านั้น (I-bankers เก่งๆ มีศัพท์เรียกว่า “rainmakers” เหมือนพ่อมดที่เรียกฝนได้) จึงไม่แปลกที่ I-bankers ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ในอเมริกา มีนิสัยส่วนตัวเลวทราม เห็นแก่ตัวสุดๆ ลูกน้องกลัวมากกว่ารัก
ถ้าใครอยากอ่านรายละเอียดว่าชีวิตของ I-banker ฝรั่งนั้นเป็นยังไง ขอแนะนำให้อ่าน Monkey Business หนังสือโดยอดีต I-banker สองคน ที่เล่าประสบการณ์ของตัวเองได้อย่างสนุกระคนน่ารันทด
โชคดีที่วงการ IB ในเมืองไทยยังไม่เถื่อนเท่าของอเมริกาหรือฮ่องกง แต่ข้าพเจ้าว่าความแตกต่างมันไม่ใช่เพราะ “คนไทยใจดี” หรอก มันเป็นเพราะระดับ “ความเจริญ” ของธุรกิจการเงินในบ้านเรายังไม่ได้ “พัฒนา” ไปเท่าอเมริกามากกว่า
ยิ่งทุนนิยมเสรีสไตล์อเมริกันมีอิทธิพลในบ้านเรามากขึ้นเท่าไหร่ (และยิ่งการเมืองการปกครองในไทยถูกครอบงำด้วยกลุ่ม “ทุนนิยมการเมือง” แบบปัจจุบันแล้ว) วงการ IB ของเราก็นับวันมีแต่จะเถื่อนขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็คงเป็นเหมือนอเมริกานั่นแหละ
เขียนไปเขียนมาชักยาว ยังไม่ได้เล่าเลยว่าตัวเองมาทำงานนี้ทำไม แล้วมัน “ปาหี่” ขนาดไหน ขอต่อตอนสองพรุ่งนี้แล้วกันค่ะ 😉