[อ่านตอนแรกได้ที่นี่ และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]
Blogger Tour 2011
วันที่สอง: 6 เมษายน 2554 (ช่วงเช้า)
ความพยายามที่จะปรับนาฬิการ่างกายเหลวไม่เป็นท่า เช้านี้ตื่นมาตีสี่ (สิบโมงเช้าเวลาไทย) แล้วก็หลับไม่ลงอีกเลย ทั้งที่พยายามถ่างตานอนจนถึงเที่ยงคืน
แต่ไม่เป็นไร ตื่นแล้วก็แล้วกัน วันนี้โปรแกรมแน่นและน่าสนใจ ไม่น่าจะผล็อยหลับกลางทางได้ง่ายๆ
ช่วงนี้อากาศที่เบอร์ลินกำลังสบาย อุณหภูมิประมาณ 12-13 องศา – หนาวพอให้กระฉับกระเฉง ฟ้าครึ้มทั้งวัน บางช่วงก็มีฝนปรอย ไม่กี่นาทีก็ซา ผู้เขียนลงมากินอาหารเช้า(ฟรี)ที่ร้านอาหารของโรงแรมตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่ง เผื่อเวลาหนึ่งชั่วโมงก่อนเวลานัด นั่งโต๊ะเดียวกับ อาลิเชอร์ บล็อกเกอร์ร่างโย่ง (สูง 2 เมตร) จากคาซักสถาน กับ วิสักโซโน และ อิมาน สองคู่หูคู่ฮาจากอินโดนีเซีย (เป็นประเทศเดียวที่มากันสองคน อาจเป็นเพราะเป็นประเทศใหญ่มากละมัง) เป็นนักข่าวอาชีพทั้งคู่ วิสักโซโนแก่วัยและสุขุมกว่า อิมานพูดเร็วและโผงผาง อายุประมาณยี่สิบปลายๆ น่าจะได้ วิสักโซโนน่าจะมีอายุมากที่สุดในคณะของเรา คือประมาณหกสิบถ้าวัดจากผมสีดอกเลา แก่รองลงมาน่าจะเป็น บังจูมุน จากเกาหลีใต้ เขาเป็นนักข่าวอาชีพเหมือนกัน สงวนคำพูดยิ่งกว่าวิสักโซโนเสียอีก แต่หน้าตาใจดีและยิ้มละไมตลอดเวลา
วิสักโซโนกับบังจูมุนเหมือนกันตรงที่ไม่ค่อยพูดจากับใคร ไม่ใช้สมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์เหมือนกับบล็อกเกอร์วัยเด็กกว่า แต่บันทึกข้อมูลด้วยกระดาษกับปากกาตามประสานักข่าวรุ่นเดอะ ผู้เขียนเองจดบันทึกในสมุดจดเป็นหลักเพราะไม่อยากแบกโน้ตบุ๊คติดตัวไปทุกหนแห่ง แต่ก็ใช้ไอโฟนถ่ายรูปและทวีตระหว่างวัน พบว่านอกจากจะช่วยให้ใครก็ตามที่อยาก “ติดตาม” ได้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่แล้ว รูปและทวีตเหล่านั้นยังเป็นบันทึกช่วยจำที่มีประโยชน์มากนอกเหนือจากสิ่งที่บันทึกในสมุด เพราะรูปถ่ายคือ “ภาพจำ” ที่ดี และทวีตก็บันทึกประโยคสำคัญที่ได้ยินในขณะนั้น (คือคิดว่าสำคัญพอที่จะทวีต)
อาหารเช้าในโรงแรมมีให้เลือกหลากหลายตามสไตล์ยุโรป ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นชีส ซึ่งมีให้เลือกทั้งชีสใส่สมุนไพร (อร่อยดี อันนี้ไม่เคยกินมาก่อน) และบลูชีสชนิดต่างๆ รู้สึกว่าไส้กรอกกับเบคอนของที่นี่อร่อยเป็นพิเศษ แต่คงเชื่ออะไรไม่ได้เพราะรู้ตัวดีว่าลิ้นจรเข้
[อ่านตอนแรกได้ที่นี่ และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]
Blogger Tour 2011
วันที่สอง: 6 เมษายน 2554 (ช่วงเช้า)
ความพยายามที่จะปรับนาฬิการ่างกายเหลวไม่เป็นท่า เช้านี้ตื่นมาตีสี่ (สิบโมงเช้าเวลาไทย) แล้วก็หลับไม่ลงอีกเลย ทั้งที่พยายามถ่างตานอนจนถึงเที่ยงคืน
แต่ไม่เป็นไร ตื่นแล้วก็แล้วกัน วันนี้โปรแกรมแน่นและน่าสนใจ ไม่น่าจะผล็อยหลับกลางทางได้ง่ายๆ
ช่วงนี้อากาศที่เบอร์ลินกำลังสบาย อุณหภูมิประมาณ 12-13 องศา – หนาวพอให้กระฉับกระเฉง ฟ้าครึ้มทั้งวัน บางช่วงก็มีฝนปรอย ไม่กี่นาทีก็ซา ผู้เขียนลงมากินอาหารเช้า(ฟรี)ที่ร้านอาหารของโรงแรมตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่ง เผื่อเวลาหนึ่งชั่วโมงก่อนเวลานัด นั่งโต๊ะเดียวกับ อาลิเชอร์ บล็อกเกอร์ร่างโย่ง (สูง 2 เมตร) จากคาซักสถาน กับ วิสักโซโน และ อิมาน สองคู่หูคู่ฮาจากอินโดนีเซีย (เป็นประเทศเดียวที่มากันสองคน อาจเป็นเพราะเป็นประเทศใหญ่มากละมัง) เป็นนักข่าวอาชีพทั้งคู่ วิสักโซโนแก่วัยและสุขุมกว่า อิมานพูดเร็วและโผงผาง อายุประมาณยี่สิบปลายๆ น่าจะได้ วิสักโซโนน่าจะมีอายุมากที่สุดในคณะของเรา คือประมาณหกสิบถ้าวัดจากผมสีดอกเลา แก่รองลงมาน่าจะเป็น บังจูมุน จากเกาหลีใต้ เขาเป็นนักข่าวอาชีพเหมือนกัน สงวนคำพูดยิ่งกว่าวิสักโซโนเสียอีก แต่หน้าตาใจดีและยิ้มละไมตลอดเวลา
วิสักโซโนกับบังจูมุนเหมือนกันตรงที่ไม่ค่อยพูดจากับใคร ไม่ใช้สมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์เหมือนกับบล็อกเกอร์วัยเด็กกว่า แต่บันทึกข้อมูลด้วยกระดาษกับปากกาตามประสานักข่าวรุ่นเดอะ ผู้เขียนเองจดบันทึกในสมุดจดเป็นหลักเพราะไม่อยากแบกโน้ตบุ๊คติดตัวไปทุกหนแห่ง แต่ก็ใช้ไอโฟนถ่ายรูปและทวีตระหว่างวัน พบว่านอกจากจะช่วยให้ใครก็ตามที่อยาก “ติดตาม” ได้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่แล้ว รูปและทวีตเหล่านั้นยังเป็นบันทึกช่วยจำที่มีประโยชน์มากนอกเหนือจากสิ่งที่บันทึกในสมุด เพราะรูปถ่ายคือ “ภาพจำ” ที่ดี และทวีตก็บันทึกประโยคสำคัญที่ได้ยินในขณะนั้น (คือคิดว่าสำคัญพอที่จะทวีต)
อาหารเช้าในโรงแรมมีให้เลือกหลากหลายตามสไตล์ยุโรป ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นชีส ซึ่งมีให้เลือกทั้งชีสใส่สมุนไพร (อร่อยดี อันนี้ไม่เคยกินมาก่อน) และบลูชีสชนิดต่างๆ รู้สึกว่าไส้กรอกกับเบคอนของที่นี่อร่อยเป็นพิเศษ แต่คงเชื่ออะไรไม่ได้เพราะรู้ตัวดีว่าลิ้นจรเข้
คุยเรื่องอินโดนีเซียและคาซักสถานกับเพื่อนร่วมโต๊ะเพลินจนลืมเวลา วิสักโซโนกับอิมานผลัดกันเล่าว่า อินโดนีเซียตอนนี้ปัญหาไม่ใช่ทหารแล้ว เพราะหลังจากที่โค่นซูฮาร์โตลงได้ทุกคนก็เข็ด ขีดเส้นแบ่งให้ทหารกลับเข้ากรมกอง เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเด็ดขาด ทหารเองก็เข็ดขยาดกับการเมืองเหมือนกัน นานๆ ทีนายพลบางคนจะถูกนักการเมืองฉวยโอกาสปั่นหัว ยั่วยุและให้ท้ายเพื่อจะได้เกาะ(กิน)เมื่อสบโอกาส ตอนนี้ปัญหาใหญ่ในอินโดนีเซียเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ประชาชนคนกันเอง” มากกว่า คือกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงติดอาวุธที่พยายามแบ่งแยกดินแดน กับคอร์รัปชั่นของข้าราชการกับนักธุรกิจ
การเซ็นเซอร์ส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียเป็นการเซ็นเซอร์เนื้อหาโป๊เปลือย แต่รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารไม่รู้เรื่องอินเทอร์เน็ต ชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ (เหมือนกระทรวงไอซีทีบ้านเราเลยแฮะ) และตีความชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) อย่างเคร่งมาก วิสักโซโนกับอิมานบอกว่าตัวเขาทั้งคู่ก็เป็นชาวมุสลิม แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ชารีอะห์อย่างเคร่งครัดเกินเลย – เกินเลยจนละเมิดสิทธิเสรีภาพและดูถูกสติปัญญาของประชาชน ไม่ปล่อยให้คิดอะไรเอง
ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมถึงชอบคุยกับคนอินโด รู้สึกเหมือนกำลังปรับทุกข์กับคนไทยด้วยกัน 😉
วิสักโซโน กับ อาลิเชอร์
อาลิเชอร์ ชาวคาซักสถานร่างโย่ง (หน้าตาเหมือนคนจีน) บอกว่าคนที่ประเทศเขาชอบมาเที่ยวเมืองไทยมาก โดยเฉพาะเมืองชายทะเลอย่างภูเก็ตและพัทยา ตัวเขามาเมืองไทยแทบทุก 3-4 เดือน คนคาซักมีฐานะค่อนข้างดีเพราะประเทศมีแร่ธาตุและน้ำมันเยอะ ผู้นำไม่ได้กดขี่ประชาชนเหมือนกับหลายประเทศในตะวันออกกลาง จีดีพีต่อหัวของเขามากกว่าของไทยค่อนข้างเยอะ คือประมาณ 14,000 เหรียญสหรัฐต่อคน (ของเราประมาณ 8,000 กว่าเหรียญ) อาลิเชอร์ตอนนี้ทำงานให้กับบริษัทช็อปปิ้งมอลล์ น่าจะมีรายได้ดีพอสมควร เพราะเขาบอกว่าชอบพักโรงแรมบันยันทรีในกรุงเทพฯ และผู้เขียนสังเกตเห็นว่าเขาคุยกับคนคาซักบนทวิตเตอร์โดยใช้ไอแพดทุกครั้งที่มีเวลาว่าง อาลิเชอร์เขียนบล็อกและทวีตเป็นภาษารัสเซียเป็นหลัก เขาบอกว่าคนคาซักส่วนใหญ่ใช้ภาษารัสเซีย เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมานาน โชคดีที่ตอนโซเวียตล่มสลาย ประเทศของเขาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่น
ฟังอาลิเชอร์พูดแล้วรู้สึกว่า ปัญหาของคาซักสถานคล้ายกับประเทศประชาธิปไตยไม่เต็มใบที่อื่น คือประชาชนไม่ค่อยมี “ตัวเลือก” ที่มีความสามารถ
เยือน Reichstag
วันนี้โปรแกรมทัวร์ของเราเริ่มต้นอย่างเป็นทางการด้วยการไปเยือนตึกรัฐสภาอันโด่งดังของเยอรมนี ตึกนี้ชื่อ ไรช์สตาก (Reichstag) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสภาผู้แทนราษฎรระดับชาติ หรือ บุนเดสตาก (Bundestag) พอลิซ่า (ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรา เธอเป็นไกด์ฟรีแลนซ์ที่รับจ็อบจากกระทรวงต่างประเทศ) พาเราเดินข้ามถนนตรงหัวมุมโรงแรมก็ถึงบางอ้อว่าทำไมเขาถึงให้เราพักที่นี่ – บุนเดสตากและอาคารหน่วยงานราชการต่างๆ อยู่ใกล้กับโรงแรมเรามาก เดินจ้ำอ้าวหนีลมหนาวไม่ถึง 8 นาทีก็ถึงแล้ว
ระหว่างทางสังเกตเห็นว่าคนเบอร์ลินใช้จักรยานกันเยอะมาก คันที่จอดก็ล็อกไว้ตามเสาไฟฟ้าเกือบทุกเสา ผิวเลนจักรยานก็เรียบน่าปั่น แต่คนขี่จักรยานหลายคนขับเร็วน่าหวาดเสียว แถมยังชอบขี่มาเฉี่ยวคนเดินเท้าราวกับเป็นเรื่องธรรมดา ดร.อ้อยแห่งมูลนิธิโลกสีเขียวน่าจะชอบเมืองนี้ยิ่งกว่าพอร์ตแลนด์ที่อเมริกาเสียอีก ผู้เขียนไม่เคยเห็นเมืองไหนมีคนปั่นจักรยานเยอะเท่านี้มาก่อน (ไม่นับเมืองจีน แต่คนจีนเมื่อไหร่มีตังค์ซื้อรถขับก็จะซื้อรถทันที ฉะนั้นไม่นับ ทัศนคติยังไม่ “เขียว” เหมือนคนเบอร์ลิน แต่เชื่อว่าอีกหน่อยวิกฤติมลพิษและสิ่งแวดล้อมมากมายก็จะบังคับให้เขียวเอง)
สังเกตเห็นป้ายอนุญาตให้จอดรถเกยทางเท้าได้ด้วย ป้ายจราจรแบบนี้ไม่เคยเห็นมาก่อน แปลกดี ทางเท้าที่มีป้ายนี้ก็เห็นมีรถขึ้นไปจอดเกยติดกัน แต่ทางเท้าที่นี่ก็เตี้ยพอให้รถเกยได้ สูงแค่หกเซ็นต์เท่านั้นเอง
ลิซ่าชี้ให้ดูตึกสองตึกที่อยู่คนละฝั่งของแม่น้ำ มีสะพานเชื่อมถึงกัน อธิบายว่าสะพานนี้คือสัญลักษณ์ของการกลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวของเบอร์ลินตะวันตกและเบอร์ลินตะวันออก (ตึกทางขวามือในรูปเคยอยู่เบอร์ลินตะวันออก มีกำแพงเบอร์ลินกั้นกลาง ข้ามไปไม่ได้) สง่างามและชวนให้สำรวมใจเมื่อนึกถึงว่าคนเยอรมันต้องสูญเสียและฝ่าฟันอะไรมาบ้าง กว่ากำแพงเบอร์ลินจะล่มสลายในปี 1989
สะพานสัญลักษณ์
ก่อนเข้าตึกรัฐสภา ทุกคนต้องต่อคิวเข้าตู้คอนเทนเนอร์สีขาว เป็นด่านตรวจความปลอดภัย เราต้องเอากระเป๋าใส่เครื่องเอ็กซเรย์และกางเสื้อนอกให้เจ้าหน้าที่ดู ลิซ่าบอกว่ารัฐบาลเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เข้มขึ้นหลังจากที่เกิดกรณีกลุ่มก่อการร้ายขู่วางระเบิด เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2010) นี่เอง
ตึกรัฐสภาดูใหญ่โตภูมิฐาน ข้างนอกเป็นสถาปัตยกรรมกรีกโบราณตามแบบแผนที่นิยมใช้กับอาคารของรัฐในยุโรป (ไกด์บอกเรียกว่าสไตล์ Imperial) แต่พอเข้าข้างในกลายเป็นตึกสมัยใหม่อย่างน่าอัศจรรย์ ลองเปรียบเทียบสองรูปข้างล่างนี้ดู –
ภายนอกอาคาร
ภายในอาคาร
เขาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินวนเวียนตามทางเดินก้นหอยขึ้นไปถึงชั้นบนสุดของโดมได้ เปิดออกไปเป็นดาดฟ้าที่เห็นเบอร์ลินทั้งเมือง ที่ผู้เขียนชอบมากคือ audio guide พร้อมหูฟังที่เขาแจกนักท่องเที่ยวทุกคน ตอนแรกกดปุ่ม Play เท่าไรเจ้าเครื่องนี้ก็ไม่ทำงานเสียที นึกว่ามันเสีย กำลังจะทุบมัน(เบาๆ)ตามนิสัยคนไม่รักษาของที่คิดว่า ถ้าข้าวของเครื่องใช้มีปัญหา เราก็ต้องใช้ความรุนแรงเล็กน้อยก่อนมันถึงจะยอมทำงานให้ โชคดีไกด์เดินมาสะกิดว่า ต้องเริ่มเดินวนไปตามทางเดินก่อน เจ้าเครื่องนี้มันถึงจะทำงาน เป็นความคิดที่ดีมาก แสดงว่าเขาติดเซ็นเซอร์เอาไว้เป็นจุดๆ คงกลัวนักท่องเที่ยวจะเดินหลงไปไหนต่อไหน แล้วจะพานฟัง guide ไม่รู้เรื่อง เวลาผู้เขียนเดินเร็ว (ไปเจอเซ็นเซอร์ที่มองไม่เห็นอีกตัว) เครื่องนี้ก็จะหมุนไปเรื่องต่อไปทันที เวลาที่ได้ยินคำว่า “ณ จุดนี้มองไปทางขวา ตรงหน้าคุณคือโบสถ์…” ข้อมูลที่ได้ยินจะได้ถูกต้องตรงจุดจริงๆ
ละเอียดรอบคอบสมกับเป็นเยอรมนีจริงๆ แค่ฟัง audio guide ก็ทำให้ได้รู้จักสถานที่สำคัญของเบอร์ลินหลายสิบแห่ง แถมยังรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง
ชั้นล่างเราเดินผ่านงานศิลปะสมัยใหม่ที่แปลกตาและมีความหมาย – แถบตัวหนังสือเรืองแสงที่วิ่งจากล่างขึ้นบน ดูเหมือน “หาย” เข้าไปในเพดานคือเนื้อหาของสุนทรพจน์ 400 ชิ้นที่กล่าวในรัฐสภาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน
ศิลปะเรื่องการเมือง
สถาปัตยกรรมภายในของตึกนี้ออกแบบใหม่หมดเมื่อปี 1999 โดย เซอร์ นอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษ เขาออกแบบกรวยทรงสูงกลางที่ประชุมสภาให้เป็น “เสา” ค้ำโดมแก้วที่อยู่บนสุดของตึกเอาไว้ มองลงไปจะเห็นที่ประชุมสภา นั่งดู ส.ส. ทำหน้าที่ (หรือนั่งหลับ) ได้ถนัดชัดเจน ไกด์อธิบายว่าหลังคาของตึกนี้เป็นกระจกตั้งแต่ต้น เพราะต้องการสื่อว่ารัฐบาลควรทำงานอย่างโปร่งใส ให้ประชาชนตรวจสอบได้ทุกเมื่อ
ตลกร้ายคือคนที่สั่งให้สร้างโดมกระจกบนตึกนี้เป็นคนแรกคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จอมเผด็จการที่ร้ายกาจที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมัน โดมและสถาปัตยกรรมภายในของตึกไรช์สตากถูกทำลายในการวางเพลิงปี 1933 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังถกเถียงกันไม่จบว่า พรรคนาซีหรือพรรคคอมมิวนิสต์กันแน่ที่อยู่เบื้องหลัง (คนที่วางเพลิงถูกจับและประหารชีวิต แต่เขายืนกรานจวบจนลมหายใจสุดท้ายว่าทำคนเดียว วางเพลิงเพราะต้องการประท้วงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ของชนชั้นกรรมกรในสมัยนั้น)
ประวัติศาสตร์ของตึกไรช์สตากมีประเด็นน่าสนใจหลายช่วง ถ้าเป็นคนก็เรียกว่ามีประสบการณ์โลดโผนและสู้ชีวิตมาอย่างโชกโชนทีเดียว หลังจากที่นักวางเพลิงเผาตึกนี้จนภายในวอดวายทั้งหลัง และหลังจากที่ตึกถูกเผาซ้ำและรุกรานโดยกองทัพโซเวียตผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง ก็มีความพยายามที่จะบูรณะขึ้นมาใหม่ ปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมภายในให้ทันสมัยระหว่างปี 1966-1972 แต่บูรณะไปก็ไม่สามารถใช้ไรช์สตากเป็นอาคารรัฐสภาได้ เพราะเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตก (สถาปนาปี 1949) อยู่ที่กรุงบอนน์ ไม่ใช่เบอร์ลิน หลังจากปี 1990 เมื่อเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกรวมเป็นประเทศเดียวกันอีกครั้ง ย้ายเมืองหลวงกลับมาที่เบอร์ลิน คนเยอรมันก็ถกเถียงกันยกใหญ่ว่าควรใช้ตึกไรช์สตากเป็นรัฐสภาดีหรือไม่ หลายคนไม่อยากให้ใช้ตึกเดียวกันกับที่ระบอบเผด็จการของฮิตเลอร์ใช้ เพราะรู้สึกว่ามีมลทิน แต่ในที่สุดคนเยอรมันก็ก้าวข้ามเงื่อนปมทางประวัติศาสตร์ขนาดยักษ์มาได้
ข้างในที่ประชุมสภาสวยงามสมัยใหม่ ผนังเหนือที่นั่งประธานสภาติดรูปปั้นนกอินทรีสีเทาขนาดยักษ์ เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ (แต่ตัวนี้ดูไม่ดุเท่ากับพญาอินทรีของอเมริกา) ประชาชนจะเข้าไปนั่งดู ส.ส. ทำงานจากอัฒจรรย์ที่ยื่นออกมาเป็นชั้นลอยเหนือที่นั่งของ ส.ส. วันไหนเมื่อไหร่ก็ได้ที่มีประชุมสภา แต่ไกด์บอกว่าปกติไม่ค่อยมีใครสนใจอยากมานั่งดูเท่าไหร่หรอก มีแต่คนแก่เป็นหลัก ดูอยู่ที่บ้านสบายกว่า เพราะรัฐสภานี้มีสถานีทีวีและเว็บไซต์ถ่ายทอดสดของตัวเอง ไกด์เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า สภาอังกฤษก็มีหน้าตาคล้ายกัน แต่ต้องติดตั้งกระจกใสกั้นกลางระหว่างผู้ชมกับ ส.ส. เพราะบ่อยครั้งเกิดกรณีการปาไข่เน่า มะเขือเทศ ฯลฯ จากประชาชนที่ไม่พอใจผู้แทน แต่ในเยอรมนีไม่ต้องทำอย่างนั้นเพราะ “คนเยอรมันมีวินัยสูงมาก” (น้ำเสียงกระหยิ่ม)
ที่นั่ง ส.ส. สีม่วงทั้งห้องแบ่งเป็น “คอก” ตามพรรค และเรียงคอกตามอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค พรรคซ้ายจัดอยู่ทางซ้ายมือ(ของประธานสภา) พรรคแนวอนุรักษนิยมอยู่ทางขวา พรรคกรีนอยู่กลางๆ (แต่น่าจะค่อนมาทางซ้ายมากกว่าขวา) บล็อกเกอร์ในคณะของเราคนหนึ่งยกมือถามว่า แล้วพรรคขวาจัดล่ะอยู่ตรงไหน ไกด์ตอบว่าในเยอรมนีพรรคการเมืองต้องได้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ถึงจะมีคอกเป็นของตัวเองได้ พรรคขวาจัดไม่เคยได้เสียงพอที่จะมาอยู่ในคอก
ที่นั่ง ส.ส. และอัฒจรรย์
การทำงานของสภาเยอรมันมีประเด็นน่าสนใจมากมาย เป็นต้นว่า ส.ส. เยอรมันยังใช้วิธีโหวตแบบโบราณ คือยกมือ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ (กดปุ่มตรงเก้าอี้) เหมือนกับสภาบางแห่งในยุโรป เหตุผลเป็นเรื่องของความโปร่งใสต่อสาธารณะ – ถ้า ส.ส. กดปุ่มตรงเก้าอี้ ประชาชนก็จะไม่รู้เลยว่าใครโหวต “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” อีกทั้งยังไม่ชัวร์ว่าคอมพิวเตอร์จะไม่คำนวณพลาดหรือถูกใครแฮ็ก (กรณีปัญหาการนับโหวตของรัฐฟลอริดาในอเมริกา ซึ่งสุดท้ายเรื่องต้องไปถึงศาลฏีกา และ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างฉิวเฉียด เป็นกรณีตัวอย่างคลาสสิกของเรื่องนี้เลย)
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีว่า เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้เราเสมอไป บางเรื่องการใช้วิธีแบบ “บ้านๆ” กลับได้ผลดีกว่าหรือมีความเสี่ยงน้อยกว่า
เพื่อนร่วมคณะหลายคนยิงคำถามใส่ไกด์ไม่หยุดเกี่ยวกับกลไกการทำงานของสภาเยอรมัน ผู้เขียนก็สนใจอยากรู้รายละเอียด น่าจะเป็นเพราะพวกเรามาจากประเทศที่ประชาธิปไตยเพิ่งเกิด หรือเกิดแล้วแต่ยังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่พอสมควร ไม่ค่อยมีกลไกอะไรที่ลงตัวและเป็นเหตุเป็นผล เห็นเพื่อนบล็อกเกอร์กระตือรือร้นขนาดนี้เลยทำให้รู้สึกว่า เมื่อใดก็ตามที่ “สำนึกพลเมือง” ของคนธรรมดาตื่นตัว เขาก็จะกลับไปใช้ชีวิตที่เฉยชาหรือหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องของตัวเองไม่ได้อีกต่อไป แต่แง่ดีคือชีวิตของเขาก็น่าจะรุ่มรวยและสนุกสนานขึ้นด้วย (ถ้ากล้าแต่พอประมาณ ไม่ถึงขนาดบ้าบิ่นมุทะลุ)
นอกจากจะมีห้องประชุมสภาและโดมสวยๆ แล้ว ตึกนี้ยังมีของน่าดูอีกเยอะ ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผู้เขียนคือ ลายมือ(ไก่เขี่ย)ของทหารโซเวียตยุคสงครามโลกครั้งที่สองบนกำแพงสองข้างทางเดิน เขียนด้วยถ่านในวันที่ทหารโซเวียตบุกเข้ายึดเบอร์ลินได้สำเร็จ (นาซีเยอรมันแพ้สงคราม ฮิตเลอร์ฆ่าตัวตาย) กราฟฟิติเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เขียนแบบที่วัยรุ่นสมัยนี้ขีดเขียนบนกำแพง เช่น “วลาดิมีร์มาถึงแล้ว” “โอลาฟคิดถึงบริจิตต์” ฯลฯ ในคณะของเรามีหลายคนมาจากประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต (มอลโดวา ยูเครน คาซักสถาน และอาเซอร์ไบจัน) เลยอ่านภาษารัสเซียให้คนอื่นและไกด์ฟัง
กราฟฟิติฝีมือทหารโซเวียต
ประเด็นที่น่าสนใจกว่าความหมายของประโยคเหล่านี้ คือคำถามที่ว่า ทำไมรัฐบาลเยอรมันถึงได้ “อนุรักษ์” กราฟฟิตินี้ไว้ในตึกรัฐสภา (ถ้าเป็นนักการเมืองไทยคงอาละวาด สั่งให้คนมาขัดออกตั้งแต่วันแรกแล้ว) ไกด์บอกว่ารัฐบาลตัดสินใจเก็บรักษาเอาไว้เป็นบันทึกหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์
ต่อมาไกด์พาเราไปเยือน “ห้องภาวนา” ชั้นล่างของตึกไรช์สตาก ห้องนี้ออกแบบโดยศิลปินมีชื่อของเยอรมัน (จดไม่ทัน ต้องไปค้นวันหลัง) ใช้แสงเงาและสีทึมสร้างบรรยากาศหม่นมัวน่าเกรงขาม เชื้อเชิญให้สำรวมจิตใจ เช่น ใช้ก้อนสีเทาแทนขี้เถ้า เป็นสัญลักษณ์ของความตายและความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต ห้องนี้ศิลปิน(และรัฐบาลด้วย)ตั้งใจจะให้เป็นห้องภาวนาแบบไม่ระบุศาสนา (คนไม่มีศาสนาก็อาจจะอยากมานั่งนิ่งๆ สำรวจจิตใจตัวเองเหมือนกัน) แต่เนื่องจากรัฐสภามีบริการสวดมนต์แบบคริสต์ทุกเช้า และ ส.ส. ส่วนใหญ่นับถือคริสต์ ส.ส. จึงเรียกร้องให้มีไม้กางเขนในห้อง ศิลปินสุดท้ายก็เลยโอนอ่อนผ่อนปรนด้วยการติดตั้งไม้กางเขนที่ทำจากไม้เรียบๆ หนึ่งอันบนโต๊ะ ไม่มีร่างพระเยซูถูกตรึง ผู้เขียนคิดว่านี่เป็นการพบกันครึ่งทางที่ดีระหว่างความต้องการของศิลปิน กับความต้องการของผู้ใช้ศิลปะที่เขาสร้าง
ห้องภาวนา
หลังจากที่พาเราเยี่ยมชมตึกรัฐสภา ไกด์ก็พาเราเดินลอดใต้อุโมงค์ไปยังตึกที่ทำการของหน่วยงานราชการ เพราะการบรรยายที่เราจะได้ฟังวันนี้ทั้งวันจัดที่นี่ ระหว่างทางเราเดินผ่านส่วนหนึ่งของอุโมงค์เก่าที่ว่ากันว่าทหารนาซีมุดเข้ามาลอบวางเพลิงและมุดกลับออกไป เขาตั้งใจอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู จะได้จุดประกายให้ถกเถียงกันเกี่ยวกับปริศนาการวางเพลิงที่นักประวัติศาสตร์ยังไร้ข้อสรุป
อุโมงค์ใต้ดิน
โปรดติดตามตอนต่อไป.