เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 4

[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]

Blogger Tour 2011
วันที่สาม: 7 เมษายน 2554

เช้านี้ตื่นตีห้าครึ่ง ช้ากว่าวานซืนหนึ่งชั่วโมง แต่ยังไม่ปกติดี หวังว่าพรุ่งนี้จะตื่นเจ็ดโมงเช้า (เวลาปกติ) ได้แล้ว แต่อย่างน้อยที่คิดว่าจะสัปหงกตอนกลางวันสองวันที่ผ่านก็ไม่เลย คงเป็นเพราะว่าฟังบรรยายแต่เรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับผู้เขียน 🙂

ลงไปกินข้าวเช้าเจ็ดโมงครึ่งเวลาเดิม ปรากฏว่าเป็นคนแรกในคณะที่ไปทานอาหารเช้า (หรืออาจมีคนอื่นบางคนกินเสร็จแล้วกลับขึ้นห้องไปใหม่ก็ได้) ไม่กี่นาทีต่อมา ก๊วนเดิมจากเมื่อวานคือ อาลิเชอร์ วิสักโซโน กับ อิมาน ก็มานั่งด้วย เราเลยคุยกันต่อจากที่คุยค้างเมื่อวานเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละประเทศ ฟังคนอื่นเกือบครบแล้วก็รู้สึกว่าไม่มีใครจะไร้เสถียรภาพและมีอนาคตที่ไม่แน่นอนเท่ากับเมืองไทย ตูนีเซียถึงแม้ว่าจะเพิ่งผ่านการปฏิวัติมาหมาดๆ คนของเขาก็เต็มไปด้วยความหวังและรู้คร่าวๆ ว่าประเทศควรจะเดินไปทางไหน ผิดกับเมืองไทยที่รู้สึกว่าผู้มีอำนาจขาดวิสัยทัศน์และทำงานไม่เป็น ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์จะดีกว่าเดิมหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่กลางปีนี้หรือเปล่า

คุยไปคุยมาก็วกเข้าเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา อิมานตั้งข้อสังเกตว่าห้องภาวนาในตึกรัฐสภาที่เราไปดูเมื่อวานน่าจะก่อให้เกิดการถกเถียงใหญ่โตในเยอรมนี ตอนที่ ส.ส. ชาวคริสตัง (แคทอลิก) อยากให้ใส่ไม้กางเขนไว้ในห้อง เพราะเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้องเท่าเทียมกันทุกคน ห้องภาวนาแต่เดิมไม่ใช่สำหรับศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ ทุกคนก็เลยใช้ได้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร (ศิลปินที่ออกแบบก็ตั้งใจอย่างนั้น) แต่พอใส่ไม้กางเขนเข้าไปแล้วก็กลายเป็น “ห้องภาวนาของคริสต์” เท่ากับว่ากีดกันคนที่นับถือศาสนาอื่น ถ้ารัฐบาลเคารพในเสรีภาพในการนับถือศาสนาจริง รัฐบาลก็ต้องสร้างห้องภาวนาสำหรับคนที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม และศาสนาอื่นๆ ด้วย ถ้าไม่อยากทำอย่างนั้นก็ไม่ควรสร้างห้องภาวนาเลยตั้งแต่แรก (หรือไม่ก็เอาไม้กางเขนออก)

อิมานมีประเด็นน่าคิดที่ผู้เขียนไม่เคยนึกมาก่อน เขาบอกว่าคนอินโดนีเซียถกเถียงเรื่องทำนองนี้กันบ่อยมาก เพราะมีหลายศาสนา คนที่นับถือแต่ละศาสนาก็แยกย่อยลงไปได้อีกว่าเคร่งครัดแค่ไหน และตีความคำสอนของศาสดาแบบไหน


[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้ – จะทยอยอัพโหลดรูปใหม่ๆ ทุกวัน]

Blogger Tour 2011
วันที่สาม: 7 เมษายน 2554

เช้านี้ตื่นตีห้าครึ่ง ช้ากว่าวานซืนหนึ่งชั่วโมง แต่ยังไม่ปกติดี หวังว่าพรุ่งนี้จะตื่นเจ็ดโมงเช้า (เวลาปกติ) ได้แล้ว แต่อย่างน้อยที่คิดว่าจะสัปหงกตอนกลางวันสองวันที่ผ่านก็ไม่เลย คงเป็นเพราะว่าฟังบรรยายแต่เรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับผู้เขียน 🙂

ลงไปกินข้าวเช้าเจ็ดโมงครึ่งเวลาเดิม ปรากฏว่าเป็นคนแรกในคณะที่ไปทานอาหารเช้า (หรืออาจมีคนอื่นบางคนกินเสร็จแล้วกลับขึ้นห้องไปใหม่ก็ได้) ไม่กี่นาทีต่อมา ก๊วนเดิมจากเมื่อวานคือ อาลิเชอร์ วิสักโซโน กับ อิมาน ก็มานั่งด้วย เราเลยคุยกันต่อจากที่คุยค้างเมื่อวานเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละประเทศ ฟังคนอื่นเกือบครบแล้วก็รู้สึกว่าไม่มีใครจะไร้เสถียรภาพและมีอนาคตที่ไม่แน่นอนเท่ากับเมืองไทย ตูนีเซียถึงแม้ว่าจะเพิ่งผ่านการปฏิวัติมาหมาดๆ คนของเขาก็เต็มไปด้วยความหวังและรู้คร่าวๆ ว่าประเทศควรจะเดินไปทางไหน ผิดกับเมืองไทยที่รู้สึกว่าผู้มีอำนาจขาดวิสัยทัศน์และทำงานไม่เป็น ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์จะดีกว่าเดิมหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่กลางปีนี้หรือเปล่า

คุยไปคุยมาก็วกเข้าเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา อิมานตั้งข้อสังเกตว่าห้องภาวนาในตึกรัฐสภาที่เราไปดูเมื่อวานน่าจะก่อให้เกิดการถกเถียงใหญ่โตในเยอรมนี ตอนที่ ส.ส. ชาวคริสตัง (แคทอลิก) อยากให้ใส่ไม้กางเขนไว้ในห้อง เพราะเสรีภาพในการนับถือศาสนาต้องเท่าเทียมกันทุกคน ห้องภาวนาแต่เดิมไม่ใช่สำหรับศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ ทุกคนก็เลยใช้ได้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร (ศิลปินที่ออกแบบก็ตั้งใจอย่างนั้น) แต่พอใส่ไม้กางเขนเข้าไปแล้วก็กลายเป็น “ห้องภาวนาของคริสต์” เท่ากับว่ากีดกันคนที่นับถือศาสนาอื่น ถ้ารัฐบาลเคารพในเสรีภาพในการนับถือศาสนาจริง รัฐบาลก็ต้องสร้างห้องภาวนาสำหรับคนที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม และศาสนาอื่นๆ ด้วย ถ้าไม่อยากทำอย่างนั้นก็ไม่ควรสร้างห้องภาวนาเลยตั้งแต่แรก (หรือไม่ก็เอาไม้กางเขนออก)

อิมานมีประเด็นน่าคิดที่ผู้เขียนไม่เคยนึกมาก่อน เขาบอกว่าคนอินโดนีเซียถกเถียงเรื่องทำนองนี้กันบ่อยมาก เพราะมีหลายศาสนา คนที่นับถือแต่ละศาสนาก็แยกย่อยลงไปได้อีกว่าเคร่งครัดแค่ไหน และตีความคำสอนของศาสดาแบบไหน

ตอนกินข้าวสังเกตว่าคนที่นั่งโต๊ะอื่น (น่าจะเป็นคนเยอรมันทั้งห้อง) กินข้าวกันอย่างเงียบๆ มีแต่โต๊ะเราโต๊ะเดียวที่หัวเราะเอิ๊กอ๊ากไม่ขาดสาย ทำให้นึกถึงคำพูดเมื่อวานของแซมมวล บล็อกเกอร์จากสโลวาเกีย พลพรรคเราที่มีประสบการณ์มาเบอร์ลินบ่อยที่สุด เขาบอกว่าคนเยอรมันไม่หัวเราะออกมาดังๆ เพราะถือว่าเสียมารยาท แต่ปกติก็ไม่มีเรื่องให้หัวเราะเท่าไหร่ เพราะใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียดจริงจังมาก จุดนี้เห็นจะจริง เท่าที่สังเกตมาสามวัน เบอร์ลินเป็นเมืองที่น่าเที่ยวมาก เพราะมีที่เที่ยวที่ทั้งสวยและเต็มไปด้วยความหมาย (เชิงสัญลักษณ์และความสำคัญทางประวัติศาสตร์) เต็มไปหมด แต่เป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ ผิดกับกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ค่อยมีอะไรน่าเที่ยว แต่เป็นเมืองที่น่าอยู่กว่าเบอร์ลิน ส่วนหนึ่งก็เพราะมันสับสนวุ่นวายไร้ระเบียบเป็นกิจวัตรจนทำให้คนไทยมีทัศนคติแบบ “หยวนๆ” และ “ไม่เป็นไร” (จนเกินพอดี) 🙂

“การเคลื่อนไหวด้วยข้อมูล” (data activism)

โปรแกรมของวันนี้คือฟังบรรยายทั้งวัน ตอนเช้าลิซ่าพาขึ้นรถเมล์เยอรมัน สะอาดสะอ้านและมาตรงเวลามาก ที่นี่ตั๋วใบเดียวใช้กับขนส่งมวลชนได้ทั้งระบบ ทั้งรถไฟฟ้า (ลอยฟ้า) รถไฟใต้ดิน และรถเมล์ ไม่มีคนหรือเครื่องเก็บตั๋วตอนขาออกเลย แสดงว่าใครที่อยากโกงก็ขึ้นฟรีได้ แต่จะมีการสุ่มตรวจเป็นครั้งคราว ถ้าถูกจับได้ว่าไม่มีตั๋วจะต้องจ่ายค่าปรับ 40 หรือ 60 ยูโร (ตามคำบอกเล่าของเพื่อนที่เคยโดนมาแล้ว) การที่เขาใช้ระบบมานานแล้วน่าจะแปลว่ากลไกผสมระหว่างการพึ่งพาวินัยส่วนตัว กับกลไกบังคับแบบอ่อน (ลงโทษถ้าถูกจับได้) ใช้การได้ดีพอสมควรเลยทีเดียว

วันนี้เราไปฟังบรรยายที่อาคารสำนักงานของรัฐ บาเดน-เวิร์ธเทมเบิร์ก (Baden-Wuerttemberg) รัฐที่ร่ำรวยที่สุดในเยอรมนี (แต่ละรัฐจะมี “สำนักงานตัวแทน” ในเมืองหลวง) วิทยากรบรรยายช่วงเช้าชื่อ มาเร็ก ทุสซินสกี (Marek Tuszynski) ชาวโปแลนด์ที่ย้ายมาอยู่เบอร์ลิน เขาร่วมก่อตั้งองค์กรที่เจ๋งมากๆ ชื่อ Tactical Technology Collective เอ็นจีโอด้านไอทีที่เน้นการส่งเสริมและยกระดับนักเคลื่อนไหวให้สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำงาน โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ของคนในวงกว้าง (เช่น ทำคลิปการ์ตูนที่สื่อสารปัญหาสังคม) รวมทั้งจัดเวิร์คชอปสอนให้นักเคลื่อนไหวใช้เทคโนโลยี “เป็น” (คือเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตไม่ปลอดภัยยังไง ต้องระวังอะไรบ้าง อะไรแบบนี้)

มาเร็ก ทุสซินสกี
มาเร็ก ทุสซินสกี ผู้ร่วมก่อตั้ง Tactical Tech Collective

มาเร็กบอกว่า “นักเคลื่อนไหว” (activist) ในความคิดของเขาหมายถึงใครก็ตามที่ “ตั้งใจทำอะไรสักอย่างเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ผู้เขียนคิดว่านิยามนี้ชัดเจนดี อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทำให้คนธรรมดาเป็น “นักเคลื่อนไหว” ได้โดยไม่ต้องเคลื่อนไหวเป็นงานประจำอย่างเช่นในอดีต คนที่ก่อตั้งกลุ่ม BIG TREES ในเฟซบุ๊ก เพื่อรณรงค์ให้ กทม. อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง หรือคนที่ตั้งกลุ่ม “อยากให้ยุบสภา” และ “ไม่อยากให้ยุบสภา” ก็มองว่าเป็นนักเคลื่อนไหวได้เหมือนกัน

มาเร็กบอกว่า “การเคลื่อนไหว” มีหลายแบบ บางคนอาจแค่อยากแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเฉยๆ (dissent) บางคนอาจจะอยากต่อต้านนโยบายอย่างชัดเจน (resistance) และบางคนก็อาจจะอยากไปไกลกว่านั้น คือโค่นล้มระบบเดิมลง (rebellion) นอกจากจะแบ่งเป็นสามประเภทข้างต้นแล้ว เรายังแบ่งการเคลื่อนไหวได้อีกหลายแบบ เช่น การเคลื่อนไหวที่อยู่นอกระบบ (off the system), เดินไปกับระบบ (with the system) หรือต่อต้านระบบทั้งระบบ (against the system) นอกจากนี้ยังต้องดูว่าเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ หรือระหว่างประเทศ

เมื่อนิยามนักเคลื่อนไหวและการเคลื่อนไหวแล้วก็มาถึงหัวข้อ “การใช้สื่อใหม่” (นิวมีเดีย) มาเร็กบอกว่าเราสามารถแบ่งการใช้นิวมีเดียเพื่อการเคลื่อนไหวได้ 5 ประเภท ได้แก่

1. Culture Jamming หมายถึงการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และกลเม็ดทางการตลาดหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อย้อนศรกลับไปวิพากษ์คนหรือองค์กรที่ปกติใช้เครื่องมือเหล่านี้ เช่น กราฟฟิติตามกำแพง หรือกลุ่ม Yes Men (คณะตลกที่แกล้งธนาคารโลกและบริษัทข้ามชาติได้เนียนและฮามาก)

2. Alternative Computing หมายถึงการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเคลื่อนไหว เช่น โอเพ่นซอร์ส วิกิลีคส์ ฯลฯ พุดง่ายๆ คือหมายถึงวัฒนธรรมของแฮ็คเกอร์นั่นเอง

3. Participatory Journalism แปลตรงตัวได้ว่า “การทำข่าวแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งก็หมายถึงทุกอย่างแล้วตอนนี้ เพราะบล็อกเกอร์ นักข่าวอาชีพ คนที่ใช้โซเชียลมีเดีย ฯลฯ ล้วนอยู่ใน “โลก” ใบเดียวกันบนอินเทอร์เน็ต และใช้เครื่องมือเดียวกัน ป่วยการที่จะมานั่งเถียงกันอีกต่อไปว่าใครเป็นมือสมัครเล่น ใครเป็นมืออาชีพ เราควรเรียกบล็อกเกอร์ว่า “นักข่าว” หรือเปล่า ฯลฯ เพราะข่าวทั้งหมดตอนนี้เกิดขึ้นแบบมีส่วนร่วมแล้ว

4. Mediated Mobilization หมายถึงการระดมเสียงสนับสนุน (“ระดมมวลชน” ในภาษาซ้ายเก่า) ด้วยการใช้นิวมีเดีย เช่น นัดกันชุมนุมทางเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์

5. Commons Knowledge หมายถึงการสร้างความรู้ที่อยู่ใน “พื้นที่สาธารณะ” ที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน เช่น วิกิพีเดีย

ผู้เขียนว่าเขาสรุปได้ดี ทีนี้ลองมาดูตัวอย่างการเคลื่อนไหวสนุกๆ บ้าง มาเร็กยกตัวอย่างนับสิบเรื่อง ผ่านการฉายสารคดีสนุกเรื่อง 10 Tactics (ดูฟรีออนไลน์และดาวน์โหลดเนื้อหาทั้งหมดได้) ว่าด้วยกลวิธี “เคลื่อนไหวด้วยข้อมูล” ผู้จะเล่าบางเรื่องที่ตัวเองสนใจเป็นพิเศษ

ตัวอย่างแรก บล็อกเกอร์ในตูนีเซียคนหนึ่งอยากรู้ว่าเครื่องบินของประธานาธิบดี(เผด็จการบ้าอำนาจ)บินไปไหนบ้าง เขากูเกิลหารูปถ่ายของเครื่องบินที่ประธานาธิบดีตูนีเซียใช้ (ลำนี้พาดแดงสดเป็นเอกลักษณ์ ดูแล้วรู้เลยว่าเป็นลำนี้แน่ๆ ไม่ใช่ลำอื่น) รวบรวมรูปเหล่านั้นมา ใช้เว็บไซต์ที่ให้คนติดตามเส้นทางบินของเครื่องบิน อย่าง Airliners.net และค้นหาว่าสนามบินในแต่ละรูปอยู่ที่ประเทศไหนบ้าง ใช้กูเกิลเอิร์ธปักหมุดเมืองที่เครื่องบินไปจอดในแต่ละรูป เสร็จแล้วก็เอาลิสต์นี้ไปเทียบกับสถิติเที่ยวบินทางการของเครื่องบินประธาธิบดี ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บของรัฐบาล ปรากฏว่าเขาเจอว่าประธานาธิบดีตูนีเซียบินไป “ทริปทางการ” แค่เพียงครั้งเดียว

หลังจากที่เขาเผยแพร่การค้นพบนี้ผ่านคลิปวีดีโอบนยูทูบ สื่อกระแสหลักก็เอาไปลงเป็นข่าว และสืบสวนต่อจนพบว่าครั้งอื่นประธานาธิบดีบินไปช็อปปิ้ง เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา รัฐบาลตูนีเซียสั่งบล็อกยูทูบและเดลี่โมชั่น (Daily Motion เว็บให้อัพคลิปวีดีโอฟรี) ทั้งเว็บ (อ่านเรื่องนี้ได้ที่ Global Voices)

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชอบมากมาจากตูนีเซียเหมือนกัน นักเคลื่อนไหว (ซึ่งในที่นี้คือคนธรรมดาที่เหลือทนกับรัฐบาลแล้ว) หลายคนไปปักหมุดรอบบริเวณวังประธานาธิบดีในกูเกิลเอิร์ธ วังนี้เป็นสถานที่ยอดนิยมที่หลายคนที่อยากไปเยือนตูนีเซียจะเปิดดู แต่แทนที่จะใส่ข้อมูลเกี่ยวกับวังเข้าไปในหมุด นักเคลื่อนไหวใส่รูปภาพ ลิงก์คลิปวีดีโอ และคำอธิบายเกี่ยวกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน (ทรมานผู้หญิง ฯลฯ) ที่คนในรัฐบาลกระทำกับประชาชน เท่ากับว่านักท่องเที่ยวที่ค้นข้อมูลเกี่ยวกับวังประธานาธิบดีจะได้รับ “ข้อมูลสองด้าน” เกี่ยวกับตูนีเซีย ฉลาดมากเลย 😀

ต่อไปเป็นเรื่องของวิธีการนำเสนอข้อมูลเพื่อเคลื่อนไหว โดยเฉพาะ “data visualization” – การแสดงข้อมูลเป็นแผนภาพหรือรูปภาพ เพื่อดึงดูดความสนใจของคนบนเน็ต (ซึ่งปกติสมาธิสั้นมาก) และย่อยข้อมูลซับซ้อนให้เข้าใจง่าย

ตัวอย่างที่ชอบมากคือเรื่องของแคมเปญรณรงค์ให้รัฐบาลอเมริกายกเลิกการระเบิดภูเขาบนเทือกเขาอัปปาลาเชียเพื่อทำเหมืองถ่านหิน เพราะเทือกเขานี้มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์และสำคัญ (พี่อ้อยแห่งโลกสีเขียวถ้าได้ยินคงชะโงกมาบอกว่า “ระบบนิเวศไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สำคัญหมดแหละแก”) แต่ถูกระเบิดทำเหมืองไปแล้วว่า 470 ยอด ทั้งๆ ที่อเมริกาทั้งประเทศใช้ไฟฟ้าจากถ่านหินแค่ 3% เท่านั้นเอง

คนทำแคมเปญนี้พยายามมากว่า 10 ปี ที่จะรณรงค์ให้คนอเมริกันในวงกว้าง (นอกจากคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง) ตื่นตัวกับเรื่องนี้ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ จนเมื่อไม่นานมานี้ได้คณะที่ปรึกษาใหม่ ที่ปรึกษาบอกว่า ต้องหาวิธีที่จะทำให้คนที่อยู่นอกชุมชนรู้สึกว่าเรื่องนี้สำคัญสำหรับตัวเขาโดยตรง นักเคลื่อนไหวก็เลยเปลี่ยนแคมเปญใหม่ (ถ้าใช้ภาษาธุรกิจต้องบอกว่า ทำรีแบรนด์ดิ้ง) เปลี่ยนชื่อจาก “ต่อต้านการระเบิดยอดภูเขา” เป็น “ฉันรักภูเขา” สร้างเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมา และมีเครื่องมือที่เท่มากบนหน้าเว็บ คือถ้าใส่รหัสไปรษณีย์ในอเมริกาเข้าไป เขาจะแสดงแผนที่กูเกิลให้ดูว่าไฟฟ้าที่ใช้ในละแวกนั้นมาจากโรงไฟฟ้าไหน โรงไฟฟ้านั้นๆ เกี่ยวข้องกับการระเบิดยอดเขา (ซื้อถ่านหินมาผลิตไฟ) หรือเปล่า พอทำแบบนี้ปุ๊บ เสียงตอบรับก็ดีขึ้นทันตาเห็น 🙂

I Love Mountains
แคมเปญ I Love Mountains (คลิ้กเพื่อดูรูปขยาย)

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สนุกมากคือ แคมเปญ FixMyStreet ของเว็บไซต์ MySociety.com ในอังกฤษ เริ่มแรกเขาเชิญชวนให้คนอังกฤษอัพโหลดรูปถ่ายสาธารณูปโภคแถวบ้านตัวเอง (ถนน ทางเท้า เสาไฟฟ้า ฯลฯ) ที่อยู่ในสภาพแย่ เพื่อประจานเทศบาลและเรียกร้องให้มาจัดการ แต่ทำไปทำมากลายเป็นว่าเทศบาลชอบโครงการนี้ เพราะพบว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเทศบาลติดตามตรวจสอบคุณภาพถนนได้ดีมาก แถมยังประหยัดทั้งเวลาและเงิน (ไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสภาพถนนตลอดเวลา) ก็เลยติดต่อขอเป็นสปอนเซอร์โครงการนี้เอง (ถึงตรงนี้แซมมวล บล็อกเกอร์จากสโลวาเกียผู้มองโลกในแง่ร้ายเสมอก็สวนขึ้นมาว่า โครงการอย่างนี้ในประเทศผมไม่มีทางเวิร์คหรอก เพราะรัฐบาลทุกระดับไม่ใส่ใจ ทำให้ผู้เขียนคิดว่า รัฐบาลน่าจะต้องมีความรับผิดชอบและความรับผิดตามกฎหมายที่ชัดเจนระดับหนึ่งก่อน เรื่องแบบนี้ถึงจะใช้ได้ผล

FixMyStreet
แคมเปญ FixMyStreet (คลิ้กเพื่อดูรูปขยาย)

มาเร็กอธิบายความสำเร็จของ ซีรีส์ Story of Stuff สารคดีเกี่ยวกับผลกระทบของธุรกิจล้าหลังที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ว่าเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ข้อ คือ 1. แอนนี เลียวนาร์ด (Annie Leonard) ผู้ทำสารคดีเรื่องนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องขยะมากว่า 20 ปี จึงสร้างความน่าเชื่อถือได้ไม่ยากในเน็ต 2. เธอรู้วิธีเล่าเรื่องที่ดึงดูดคนฟังและมีอารมณ์ขัน และ 3. เธอมีโลกทัศน์เป็นบวก มองโลกอย่างมีความหวัง ตอนจบของ Story of Stuff ทุกเรื่องจะมีรายการสั้นๆ ที่คนธรรมดาสามารถทำได้ด้วยตัวเองเพื่อช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลง (เช่น เอากระติกน้ำติดตัว) ทำให้คนดูรู้สึกว่าเขามีส่วนร่วมได้ แอนนีไม่ได้ส่งสารแบบ “โลกจะแตกแล้ว” ที่ทำให้คนรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังว่าทำอะไรไม่ได้

ช่วงเวลาที่เหลือมาเร็กแนะนำให้เรารู้จักการแสดงข้อมูลด้วยแผนภาพสวยๆ หลายอัน เขาเลือกแต่อันที่ไม่ได้สวยอย่างเดียว แต่ยัง “ได้ผล” ด้วย (ในแง่ของการกระตุ้นให้คนถกเถียงกัน หรือรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจริงๆ) จะแปะอันที่ชอบที่สุด 🙂

1. โปสเตอร์ของกรีนพีซ แสดงขยะที่อยู่ในกระเพาะของนกอัลบาทรอสหนึ่งตัว (มันตายก็เพราะกลืนของพวกนี้เข้าไปเยอะเกิน ที่กินเข้าไปเยอะก็เพราะในทะเลตอนนี้เต็มไปด้วยขยะพลาสติก น่ากลัวและอันตรายมากสำหรับสัตว์ที่หากินในทะเล)

albatross - Greenpeace
กระเพาะของอัลบาทรอส โดย เอเยนซี Publicis Mojo ออกแบบให้กับกรีนพีซ (คลิ้กเพื่อดูรูปขยาย)

2. ขยะในท้องนกอัลบาทรอส เรื่องเดียวกันแต่นำเสนอแบบเอียงไปด้าน “ศิลปะ” มากกว่า “ข้อมูล” เมื่อเทียบกับโปสเตอร์ด้านบนของกรีนพีซ

albatross- Royal Society
กระเพาะของอัลบาทรอส โดย Rebecca Hosking ออกแบบให้กับ Royal Society (คลิ้กเพื่อดูรูปขยาย)

3. โปสเตอร์รณรงค์เรื่องขยะมหาศาลที่สะสมในทะเลมากขึ้นเรื่อยๆ จัดทำโดยรัฐบาลมลรัฐคาตาลานในสเปน ชอบมากเลยอันนี้ เขาเอาขยะมาจัดวางให้ดูเหมือนสัตว์น้ำพันธุ์ต่างๆ 

Most Dangerous Species
“สัตว์น้ำที่อันตรายที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” (คลิ้กเพื่อดูรูปขยาย)

4. สถิติการตายในสงครามอิรัก (รอบล่าสุด) วิธีทำรูปนี้เจ๋งมาก คือแต่ละ “จุด” (ขนาด 1×1) ในรูปทางขวาแทนคนตาย แบ่งสีตามประเภท สีฟ้าแทนทหารอเมริกันและพันธมิตร สีเขียวแทนทหารอิรัก (รบร่วมกับอเมริกัน ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย) สีส้มแทนพลเรือนอิรัก และสีเทาแทน “ศัตรู” ดึงข้อมูลนี้มาจากวิกิลีคส์ แล้วเอามาจัดเรียงตามสี ได้ผลลัพธ์เป็นรูปทางซ้ายมือ คิดว่าเป็น infographic ที่เจ๋งมากและได้ผลมากๆ เลย เพราะจะมีใครบ้างที่ดูรูปนี้ อ่านคำอธิบาย แล้วไม่รู้สึกว่ามันเป็นสงครามที่งี่เง่าและน่าเศร้าสิ้นดี

สถิติการตายในอิรัก
สถิติการตายในอิรัก (คลิ้กเพื่อดูรูปขยาย ดูภาพ original และคำอธิบายได้ที่ http://www.flickr.com/photos/melkaone/5121285002/)

ฟังมาเร็กเล่าเรื่องพลังของบล็อกเกอร์อย่างเพลิดเพลินจบแล้วก็ได้เวลาอาหารกลางวัน โครงการนี้เลี้ยงดูปูเสื่อพวกเราดีทีเดียว ไม่ใช่ด้วยของแพง แต่ด้วยของไม่แพงที่เดาว่าพวกเราน่าจะชอบ อย่างเช่นไอสกรีมราดราสเบอร์รีเป็นต้น 🙂

ไอสกรีมราดราสเบอร์รี
ไอสกรีมราดราสเบอร์รี

Legal Leaks

พอท้องอิ่มก็ได้เวลากลับเข้าห้องเรียน (ใช้ห้องประชุมในตึกของรัฐบาลรัฐที่รุ่งเรืองที่สุดในเยอรมนี ทุกรัฐมีตึกสำนักงานในเมืองหลวง) ฟังบรรยายกันต่อ คริสเตียน มีร์ (Christian Mihr) กับ อังเดรียส เม็ทซ์ (Andreas Metz) มาคุยให้ฟังเรื่องโครงการ Legal Leaks ทำเรื่องการช่วยบล็อกเกอร์กับนักข่าวทั่วโลก (เน้นกลุ่มประเทศโออีซีดี) ใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหลายประเทศมีกฎหมายตัวนี้แล้วยังมีปัญหาในทางปฏิบัติมากมาย

คริสเตียน มีร์ กับ อังเดรียส เม็ทซ์
คริสเตียน มีร์ กับ อังเดรียส เม็ทซ์ แห่ง Legal Leaks

คริสเตียนบอกว่า เขาก่อตั้ง Legal Leaks ขึ้นมาบนหลักการที่ว่า การเข้าถึงข้อมูลไม่ได้เป็นแค่อภิสิทธิ์ของสื่อมืออาชีพ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เขาบอกว่าปัจจุบันบัลแกเรียมีกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่ดีที่สุดในยุโรป ตัวอย่างนี้ช่วยหักล้างมายาคติของคนในโลกตะวันตกที่มักจะมองว่ายุโรปตะวันออก (ซึ่งส่วนใหญ่เคยอยู่ในสังกัดโซเวียต) มีเสรีภาพน้อยกว่ายุโรปตะวันตก

มีหลายสาเหตุที่นักข่าวและคนทั่วไปยังไม่ใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารมากพอ ตั้งแต่เรื่องค่าใช้จ่าย ความยุ่งยากและล่าช้าของระบบราชการ และความไม่แน่ใจว่าถ้าขอข้อมูลไปแล้วจะได้รับคำตอบหรือไม่ Legal Leaks พยายามช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการตีพิมพ์คู่มือ Legal Leaks (พวกเราได้รับแจกคนละเล่ม แต่ดาวน์โหลดได้จากเว็บ) จัดเวิร์คช็อปในประเทศต่างๆ และมีทีมทนายประจำ Help Desk คอยให้การช่วยเหลือ ผู้เขียนถามว่า ผู้เขียนซึ่งเป็นแค่บล็อกเกอร์คนหนึ่งติดต่อ Help Desk ให้ช่วยใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารของ (ยกตัวอย่างเช่น) เยอรมนีได้หรือไม่ ถ้าสนใจสืบเรื่องในประเทศตัวเองที่เยอรมนีอาจพัวพันด้วย (เช่น โครงการเหมืองแร่ในไทยของบริษัทเยอรมัน) คริสเตียนตอบว่าได้สิ เขาจะยินดีมากเลยถ้าเราติดต่อมา เพียงแต่ต้องอธิบายว่าเราสนใจเรื่องนี้เพราะอะไร เป็นประโยชน์สาธารณะตรงไหน

พลพรรคเราหลายคนอยากรู้มุมมองของ Legal Leaks ต่อวิกิลีกส์ คริสเตียนบอกว่าเขาคิดว่า จูเลียน อัสซานจ์ กับเขามีเป้าหมายเดียวกัน คือกดดันให้รัฐบาลต่างๆ ทำงานอย่างโปร่งใส ดังนั้นเขาจึงสนับสนุนวิกิลีกส์ วิคเตอร์ นักข่าวอาชีพจากโรมาเนีย แลกเปลี่ยนอย่างน่าคิดว่า วิกิลีคส์ควรเปิดเผยแพร่ข้อมูลอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เลือกเฉพาะสื่อค่ายใดค่ายหนึ่ง เขาบอกว่านักข่าวในโรมาเนียหลายคนรวมทั้งตัวเขาไม่เห็นด้วยที่วิกิลีคส์เลือก “ปล่อย” เคเบิลผ่านหนังสือพิมพ์โรมาเนีย 3 ฉบับเท่านั้น เขามองว่านี่คือการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดกับเป้าหมายของวิกิลีคส์เรื่องความโปร่งใส

โลโก้สำหรับสิทธิมนุษยชน?

กิจกรรมสุดท้ายของวันก่อนที่เราจะแยกย้ายกันคือ การไปเยือนสำนักงานของ บริษัท jovoto บริษัทค่อนข้างใหม่ (ก่อตั้งปี 2007) ที่เชี่ยวชาญด้านการโค้ดซอฟต์แวร์ “เวที” (platform) ให้นักออกแบบที่อยู่กันกระจัดกระจายทั่วโลกสามารถทำงานร่วมกันได้ โจโวโตร่วมกับสำนักงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเยอรมนีกำลังจะเปิดตัวแคมเปญ Human Rights Logo รณรงค์ให้คนออกแบบ “โลโก้” ของสิทธิมนุษยชน และส่งเข้าประกวด การตัดสินจะเป็นส่วนผสมของผลโหวตจากผู้ทรงคุณวุฒิ และจากผู้ใชเน็ตทั่วโลก

ตัวแทนสำนักงานสิทธิฯ บอกว่าเหตุผลที่ทำเรื่องนี้คือ ที่ผ่านมาในโลกเรามีสัญลักษณ์ของความรัก (รูปหัวใจ) สันติภาพ (peace sign ของฮิปปี้) แต่ยังไม่มีของสิทธิมนุษยชนเลย เขาคิดว่าถ้าคิดสัญลักษณ์ได้ มันก็จะช่วยได้มากในการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะโลกทุกวันนี้ภาษาภาพที่เข้าใจง่ายมีความสำคัญมากในการสื่อสาร พวกเราบางคนแย้ง (ส่วนผู้เขียนก็นึกแย้งในใจ) ว่า ความรักและสันติภาพเป็น “คุณค่าสากล” ที่ทุกคนเห็นตรงกันได้ แต่สิทธิมนุษยชนไม่ใช่ มันเป็นแนวคิดทางการเมืองซึ่งมีนิยามและองค์ประกอบไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ ในหลายประเทศยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก

ถึงแม้ว่าจะยังมีข้อถกเถียงเชิงปรัชญาและแนวคิด โครงการนี้ก็เป็นโครงการดีที่น่าสนับสนุน เขาจะเปิดรับโลโก้รอบแรกในเดือน พ.ค. ปีนี้ ดีไซเนอร์ไทยคนไหนสนใจ เชิญอ่านรายละเอียดที่ เว็บ Human Rights Logo

ตกเย็นผู้เขียนกินข้าวอย่างรวดเร็ว (ไส้กรอกเยอรมันตามระเบียบ) จะได้แว่บไปแผนกบอร์ดเกมในห้างสรรพสินค้าก่อนที่ร้านจะปิด (ที่นี่วันธรรมดาปิดสองทุ่ม) เพราะบอร์ดเกมของเยอรมนีขึ้นชื่อและหลากหลายที่สุด คนเล่นมีทุกวัยตั้งแต่เด็กยันคนแก่ ไม่ต่างจากการ์ตูนในญี่ปุ่น ซื้อบอร์ดเกมมาสามเกม แปลกใจที่เจอบอร์ดเกมที่ใช้ตัวต่อเลโก้ ไม่ได้มีเกมเดียวแต่มีเป็นชุดเลย ประเทศนี้ช่างบ้าบอร์ดเกมดีจริงๆ 🙂

บอร์ดเกมของเลโก้
บอร์ดเกมของเลโก้