เหล่าบล็อกเกอร์เยือนเยอรมนี ตอนที่ 8

[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ ตอนที่ห้า ตอนที่หก ตอนที่เจ็ด และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้]

Blogger Tour 2011
วันที่เจ็ด: 11 เมษายน 2554

วันนี้เป็นวันทำงานวันแรกของสัปดาห์ แน่นอนว่าโปรแกรมเดินสายฟังบรรยายของเราก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง นึกขอบคุณลูเซียนอีกครั้งที่จัดโปรแกรมคร่อมเสาร์-อาทิตย์ ให้เรามีเวลาเที่ยวทั้งเบอร์ลินและแฮมบูร์กเมืองละวัน

ถ้าไม่สังเกตให้ดี อาจมองความละเอียดรอบคอบของคนเยอรมันผิดไปว่าเป็นความบังเอิญ เพราะเขาละเอียดทุกเม็ดจริงๆ

อาหารเช้าที่โรงแรมนี้ไม่อร่อยเหมือนกับโรงแรมที่เบอร์ลิน หรือที่จริงอาจอร่อยพอๆ กันก็ได้ แต่คนกินมีอคติเพราะติดใจชีสใส่สมุนไพรของโรงแรมเบอร์ลินเสียแล้ว แต่โดยรวมอาหารก็โอเค มีครัวซองกับ scramble egg ใส่ผักที่โรงแรมเบอร์ลินไม่มี

ParliamentWatch

ตอนเช้าเรานั่งรถแท็กซี่ไปเยือนสำนักงานของ ParliamentWatch (“โครงการจับตารัฐสภา”) สุดยอด “กิจการเพื่อสังคม” แห่งหนึ่งในเยอรมนี เกรกอร์ แฮ็คแม็ก (Gregor Hackmack) ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรนี้พาเดินขึ้นลงบันไดอย่างน่าเวียนหัวเล็กน้อย ต้อนเราเข้าไปในห้องประชุมชั้นสี่ แล้วก็เริ่มแนะนำโครงการที่บ้านเราน่าจะมีเป็นอย่างยิ่ง

เกรกอร์ แฮ็คแม็ก
เกรกอร์ แฮ็คแม็ก


[อ่าน ตอนที่หนึ่ง ตอนที่สอง ตอนที่สาม ตอนที่สี่ ตอนที่ห้า ตอนที่หก ตอนที่เจ็ด และดูรูปทั้งหมดที่ถ่ายได้ที่ Flickr set หน้านี้]

Blogger Tour 2011
วันที่เจ็ด: 11 เมษายน 2554

วันนี้เป็นวันทำงานวันแรกของสัปดาห์ แน่นอนว่าโปรแกรมเดินสายฟังบรรยายของเราก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง นึกขอบคุณลูเซียนอีกครั้งที่จัดโปรแกรมคร่อมเสาร์-อาทิตย์ ให้เรามีเวลาเที่ยวทั้งเบอร์ลินและแฮมบูร์กเมืองละวัน

ถ้าไม่สังเกตให้ดี อาจมองความละเอียดรอบคอบของคนเยอรมันผิดไปว่าเป็นความบังเอิญ เพราะเขาละเอียดทุกเม็ดจริงๆ

อาหารเช้าที่โรงแรมนี้ไม่อร่อยเหมือนกับโรงแรมที่เบอร์ลิน หรือที่จริงอาจอร่อยพอๆ กันก็ได้ แต่คนกินมีอคติเพราะติดใจชีสใส่สมุนไพรของโรงแรมเบอร์ลินเสียแล้ว แต่โดยรวมอาหารก็โอเค มีครัวซองกับ scramble egg ใส่ผักที่โรงแรมเบอร์ลินไม่มี

ParliamentWatch

ตอนเช้าเรานั่งรถแท็กซี่ไปเยือนสำนักงานของ ParliamentWatch (“โครงการจับตารัฐสภา”) สุดยอด “กิจการเพื่อสังคม” แห่งหนึ่งในเยอรมนี เกรกอร์ แฮ็คแม็ก (Gregor Hackmack) ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรนี้พาเดินขึ้นลงบันไดอย่างน่าเวียนหัวเล็กน้อย ต้อนเราเข้าไปในห้องประชุมชั้นสี่ แล้วก็เริ่มแนะนำโครงการที่บ้านเราน่าจะมีเป็นอย่างยิ่ง

เกรกอร์ แฮ็คแม็ก
เกรกอร์ แฮ็คแม็ก

องค์กร ParliamentWatch บริหารเว็บไซต์ชื่อเดียวกัน (“Abgeordneten Watch” ในภาษาเยอรมัน) เป็น “เวทีสนทนาสาธารณะ” ระหว่างพลเมืองกับผู้แทนราษฎร เว็บของเขาเปิดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเข้ามาตั้งคำถามต่อผู้แทนเขตหรือจังหวัดของตัวเอง แล้วให้ผู้แทนเข้ามาตอบ

วิธีการทำงานของเว็บนี้คือ เขาทำหน้าโปรไฟล์ของ ส.ส. ทุกคนในรัฐสภา (ทั้งสภาระดับรัฐ และสภาระดับชาติ ตอนนี้กำลังขยายเพื่อครอบคลุมให้ได้ทั้ง 16 รัฐทั่วประเทศ) แสดงสถิติการเข้าประชุมและการโหวตในสภาของ ส.ส. แต่ละคน ถ้าเราอยากถามคำถามกับ ส.ส. ของตัวเอง ก็คลิ้กส่งคำถามได้จากหน้าโปรไฟล์ เขาจะถามชื่อเรา เพราะต้องสร้างความไว้วางใจกันทั้งสองฝ่ายและรักษาความเท่าเทียมด้วย – ในเมื่อ ส.ส. เปิดเผยตัวตน คนถามก็สมควรเปิดเผยชื่อ-นามสกุลจริงของตัวเองเหมือนกัน

นอกจากนี้เขาจะถามว่าเราอาศัยอยู่ที่เขตไหน เพื่อให้ ส.ส. มั่นใจว่าไม่ได้กำลังตอบคำถามกับคนที่อยู่นอกเขตของตัวเอง จากนั้นก็มีทีมงานคอยกลั่นกรองคำถามก่อนชั้นหนึ่งก่อนที่จะส่งต่อให้กับ ส.ส. เพื่อให้มั่นใจว่าคำถามนั้นเป็นประเด็นสาธารณะ เช่น “เมื่อไหร่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมแถวบ้านฉันได้เสียที” หรือ “ช่วยอธิบายหน่อยว่าทำไมคุณถึงสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์” ไม่ใช่คำถามเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว (เช่น “จริงหรือเปล่าที่คุณมีกิ๊กเป็นนางแบบชื่อ…”) หรือคำถามแบบ “เกรียน” คือตั้งใจหาเรื่องหรือก่อกวนเฉยๆ ไม่ได้อยากได้คำตอบ

คำถามทุกคำถาม(ที่ทีมงานกรองแล้ว)จะถูกโพสขึ้นเว็บ เมื่อใดก็ตามที่ ส.ส. เข้ามาตอบ (อาจนานหลายเดือนหรือข้ามปี) คำตอบก็จะอยู่บนเว็บอย่างถาวรเช่นกัน ถือเป็นเนื้อหาสาธารณะ นำไปใช้อ้างอิงได้ เว็บ ParliamentWatch ไม่ได้บังคับให้ ส.ส. ต้องเข้ามาตอบ แต่ ส.ส. ปกติจะเข้ามาตอบอยู่แล้วเพราะดูดีและมีแรงกดดันทางสังคม – ถ้า ส.ส. จากพรรคอื่นตอบคำถาม 100% แต่ตัวเองไม่ตอบเลย แน่นอนว่าจะต้องดูแย่ในสายตาของประชาชน ตั้งแต่เว็บนี้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในปี 2006 มีคำถามในฐานข้อมูลกว่า 100,000 คำถาม มีคำถามที่ยังไม่มีใครตอบเพียงไม่ถึง 10% แสดงว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างดีทีเดียว

มีคำถามว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ส.ส. เข้ามาตอบเอง หรือให้ทีมงานตอบแทน เกรกอร์บอกว่าเอาเข้าจริงเราก็ไม่รู้หรอก แต่นี่ไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่ว่าเขาจะตอบเองหรือมีทีมงานทำแทน ส.ส. คนนั้นต้อง “อนุมัติ” คำตอบอยู่ดีก่อนจะเผยแพร่ เมื่อเผยแพร่บนเว็บแล้วก็ถือเป็นคำตอบ “ของเขา” ที่คนเอาไปอ้างอิงหรือถามต่อได้ เท่ากับว่าต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเองไม่ว่าจะมีใครคิดให้หรือเปล่า (ที่จริงนักการเมืองตำแหน่งใหญ่ๆ ก็มีคนเขียนสุนทรพจน์ให้ทั้งนั้น คงไม่มีใครบอกว่าโอบามาไม่ต้องรับผิดชอบกับคำพูดเพราะเขาไม่ได้เป็นคนเขียนสุนทรพจน์เอง เว็บนี้ก็ทำนองเดียวกัน)

สิ่งที่เกรกอร์ซีเรียสมากกว่าคือ ไม่ให้ ส.ส. ตั้งคำถาม “ชง” ให้ตัวเองตอบ (เพื่อสร้างภาพ) เขาบอกว่าปกติจะดูออกเวลาที่ ส.ส. เข้ามาตั้งคำถามเอง เพราะวิธีตั้งคำถามจะไม่เหมือนคนธรรมดา (เดาว่าคงใช้ภาษาแบบเว่อร์ๆ หน่อย) และสามารถเช็คไอพีแอดเดรสได้ว่าคนถามกับคนตอบใช้ไอพีเดียวกันหรือเปล่า นอกจากนี้เขาก็ไม่อนุญาตให้นักการเมืองพรรคอื่น พนักงานองค์กร และนักศึกษาที่มาฝึกงานกับองค์กรโพสคำถามเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและป้องกันไม่ให้เว็บนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

เขาบอกว่าสำคัญมากที่เว็บจะเป็นเวทีสื่อสารระหว่างพลเมืองกับ ส.ส. ที่เป็นกลางจริงๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งสองฝ่ายว่านี่ไม่ใช่เวทีเล่นๆ หรือทำไปเพราะมีวาระซ่อนเร้น เขาบอกว่า ParliamentWatch ไม่ได้มองนักการเมืองว่าเป็น “คู่ต่อสู้” หรือ “ศัตรู” แต่ต้องการดึงดูดให้นักการเมืองใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ถ้าเขาไม่กลั่นกรองคำถามและคิดระบบที่รอบคอบขนาดนี้นักการเมืองคงไม่อยากร่วม

ในฤดูเลือกตั้ง เขาทำเวทีแบบเดียวกันสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งจากแต่ละพรรค บนเว็บไซต์ต่างหากชื่อ CandidateWatch เพื่อไม่ให้คนสับสนกับ ส.ส. ปัจจุบัน

นอกจากจะเป็นเวทีถาม-ตอบแล้ว ParliamentWatch ยังคอยรวบรวมและวิเคราะห์สถิติการโหวตในสภาของ ส.ส. แต่ละคน และทำวิจัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง เผยแพร่ผลการวิเคราะห์เหล่านี้ผ่านบล็อกบนเว็บไซต์ของตัวเอง และในรูปวารสารอิเล็กทรอนิกส์ เขาเคยแฉมาแล้วว่าอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนีขาดประชุมสภาหลายครั้ง และวันที่ขาดนั้นบางวันก็ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ได้รับค่าตอบแทนสูงมากที่ธนาคารหรือบริษัทประกันขนาดใหญ่ ในเวลาเดียวกันกับที่มีประชุมสภา (เกรกอร์พูดติดตลกว่า รัฐมนตรีคนนี้สองปีก่อนช่วยอุ้มธนาคารให้พ้นจากวิกฤติ ปีนี้สถาบันการเงินเลยตอบแทนบุญคุณละมัง)

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สนุกมากคือ สถิติการร่วมประชุมสภาของ คาร์ล-เอดูอาร์ด วอน บิสมาร์ค ลี้ (หรือเปล่า? หมายถึง great-great-grandson) ของ อ็อตโต วอน บิสมาร์ค รัฐบุรุษผู้รวมชาติเยอรมันเป็นปึกแผ่นเป็นครั้งแรก ตัวเลขที่ ParliamentWatch ติดตามเก็บทำให้ Bild (หนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลและอื้อฉาวที่สุดของเยอรมนี) ตั้งสมญานามให้กับเขาว่า “ส.ส. ที่หลังยาวที่สุดในสภา” เพราะเข้าประชุมแค่ 14 จาก 27 ครั้งระหว่างปี 2005-2007 และยกมือโหวตเพียงสองครั้ง แถมยังไม่เคยเข้าร่วมประชุมทางการเมืองใดๆ ในเขตของตัวเองเลย หลังจากที่โดนสื่อด่า และต่อมาประชาชนก็ด่า ลี้ของรัฐบุรุษคนนี้ก็ยอมลาออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคมปี 2007 และประกาศว่าจะนำเงินบำเหน็จบำนาญทั้งหมดที่ได้รับไปบริจาคให้กับการกุศล (ต้องชิงประกาศก่อนที่จะโดนคนด่าอีกยก)

โมเดลการหารายได้ขององค์กรนี้น่าสนใจเหมือนกัน เกรกอร์ก่อตั้งเว็บในปี 2006 ด้วยเงินกู้แบบใจดีมากๆ 250,000 ยูโรจาก BonVenture กองทุนเพื่อสังคมในเยอรมนี เงินลงทุนส่วนใหญ่จ่ายค่าตอบแทนทีมงานประจำ 3 คน และค่าใช้จ่ายในการโค้ดโปรแกรมถาม-ตอบและฐานข้อมูลบนเว็บ รายได้ของ ParliamentWatch มาจากเงินบริจาคจากประชาชนคนใช้เว็บ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 คนที่เลือกออปชั่น “บริจาคสม่ำเสมอทุกเดือน” (เขาเอาตัวเลขนี้ตัวเบ้อเร่อแปะผนังสำนักงาน คอยเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ)

รายได้อีกส่วนมาจากค่าธรรมเนียม “premium profile” ราคา 149 ยูโร – premium profile นี้สำหรับให้ ส.ส. (และผู้สมัครรับเลือกตั้งบน CandidateWatch) ปรับปรุงหน้าโปรไฟล์ของตัวเองให้ดูดีขึ้น เช่น ใส่รูปถ่ายของตัวเอง ใส่ลิงก์ไปหน้าเว็บตัวเอง ประชาสัมพันธ์งานอีเวนท์ต่างๆ และแคมเปญหาเสียง รวมทั้งใส่ประวัติย่อที่มีรายละเอียดมากกว่าโปรไฟล์ปกติที่ไม่ต้องเสียเงิน นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการทำวิจัย จัดเวิร์คช็อป และค่าใช้สิทธิซอฟต์แวร์ของเขาเวลาไปติดตั้งให้กับคนในประเทศอื่นที่อยากทำโครงการแบบเดียวกัน (ตอนนี้ขึ้นแล้วในไอร์แลนด์)

จากรายได้ทั้งหมดนี้เขา break even (เท่าทุน) ได้แล้วในปี 2010 และกำลังเริ่มทยอยคืนเงินกู้ ที่โมเดลนี้ใช้ได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำด้วย คือมีพนักงานประจำแค่ 3 คน เช่าสำนักงานไม่แพง และอาศัยทีมงานอาสาสมัครและนักศึกษาฝึกงาน 10-15 คนคอยกลั่นกรองเนื้อหาและจัดการเอกสารต่างๆ ให้เกรกอร์บอกว่าตั้งแต่เขาได้เป็น Ashoka Fellow ในปี 2008 ทำให้เขาไม่ต้องรับเงินเดือนจากที่นี่เพราะอโชกาจ่ายเงินค่าครองชีพให้ 3 ปี แต่ปีหน้าเขาต้องเริ่มรับเงินเดือนจาก ParliamentWatch อีกครั้ง

ประวัติความเป็นมาของ ParliamentWatch นั้นน่าสนใจไม่แพ้ตัวโครงการ ในปี 2004 เกรกอร์กับเพื่อนของเขาอีก 2 คนซึ่งเป็นชาวเมืองแฮมบูร์กทั้งหมด ตัดสินใจทำแคมเปญล่ารายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อ (ขั้นต่ำตามกฎหมาย) เพื่อทำประชามติแก้กฎหมายเลือกตั้งของรัฐแฮมบูร์ก เปลี่ยนจากระบบเลือกพรรค (ปาร์ตี้ลิสต์) เป็นระบบเลือกตั้ง ส.ส. โดยตรง เขาบอกว่าระบบเลือกพรรคนั้นแย่กว่าเลือก ส.ส. โดยตรง เพราะมันทำให้นักการเมืองไม่ใส่ใจประชาชนในเขตตัวเองเท่าที่ควร

แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จ การลงประชามติได้เสียงจากชาวแฮมบูร์กถึง 2 ใน 3 ทำให้แก้กฎหมายได้ แต่นักการเมืองก็แก้กลับไปเหมือนเดิมในปี 2006 เกรกอร์เลยต้องออกแรกอีกครั้ง ระดมเสียงจากพลเมืองแก้กฎหมายกลับมาใหม่ในปี 2009

เกรกอร์บอกว่า เขารู้ดีตั้งแต่ก่อนที่การลงประชามติครั้งแรกจะสำเร็จในปี 2006 แล้วว่า การทำประชามติแก้กฎหมายเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด เพราะไม่เพียงแต่นักการเมืองไม่ติดดิน แต่คนธรรมดาก็สนใจการเมืองน้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่รู้จักผู้แทนหรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาจึงอยากสร้าง “เครื่องมือ” ขึ้นมาเพื่อให้นักการเมืองแนะนำตัวเองต่อสาธารณะ และให้สาธารณะสามารถติดตามการทำงานของนักการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เขียนคิดว่า ParliamentWatch เป็นตัวอย่างที่ดีมากของความจริงที่ว่า ถ้าเราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ แค่สร้างเว็บไซต์ดูดีขึ้นมาหนึ่งอันมักจะไม่พอ แต่จะต้องคิดให้ลึก ระบุเป้าหมายของเราและกลุ่มเป้าหมายให้ชัด คิดวิธีการดึงดูดความสนใจของคนใช้เน็ต และทำงานร่วมกับคนจากหลากหลายวงการ

นี่เองคือความสำคัญที่แท้จริงของคำว่า “บูรณาการ” ที่เรายังไม่ค่อยเข้าใจเท่าที่ควร (จะว่าไป สังคมไทยก็ “รู้จัก” คำใหญ่ๆ ที่ฟังดูเป็นนามธรรม เช่น ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ฯลฯ ค่อนข้างมาก แต่ระดับ “ความเข้าใจ” ที่แท้จริงยังต่ำมากจนน่าเป็นห่วง เพราะสนใจแต่หลักการ ไม่สนใจ “ผลลัพธ์” ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเข้าใจในหลักการนั้นอย่างถ่องแท้จริงหรือไม่)

มื้อเที่ยงลูเซียนกับลิซ่าพาไปทานอาหารที่ร้าน VLET ในย่านเก่าแก่ของเมือง ซุปถั่วกับเนื้อหมูป่าและปลาชื่อ ไซบลิง (Saibling) อร่อยมาก ถ่ายรูปอาหารกับวิวจากสะพานหลังร้านอาหารมาเป็นที่ระลึก

ซุปถั่วกับเนื้อหมูป่า
ซุปถั่วกับเนื้อหมูป่า ร้าน VLET

ย่านเก่าแก่ในแฮมบูร์ก
ย่านเก่าแก่ในแฮมบูร์ก

สังเกตว่าวิทยากรส่วนใหญ่ที่เราได้ฟังในทริปนี้อายุค่อนข้างน้อยกันทั้งนั้น คือยังไม่ถึง 40 หรืออย่างมากก็ 45 ตรงกับปรากฏการณ์ที่สังเกตมาพักใหญ่ว่า อินเทอร์เน็ตเป็นโลกเปิดที่คนวัยหนุ่มสาวเข้ามาใช้ชีวิตส่วนหนึ่งและทดลองอะไรใหม่ๆ ผู้ใช้เน็ตวัยทำงานที่แอ็กทีฟ (ซึ่งยังมีน้อยเกินไปในไทย) ชอบใช้ “พลังกลุ่มไร้สังกัด” ในเน็ตขับเคลื่อนวาระทางสังคม และพยายามอธิบายให้ “ผู้ใหญ่” โดยเฉพาะผู้มีอำนาจทั้งหลายเข้าใจอินเทอร์เน็ต จะได้ไม่กีดขวางความเจริญที่มันสร้างด้วยการยก “ความมั่นคงของรัฐ” มาเป็นข้ออ้างในการควบคุมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเอาเข้าจริงก็ควบคุมไม่ได้ เพราะใครที่อยากจะพูด ไม่ว่ายังไงก็หาทาง “มุด” เซ็นเซอร์ทั้งหลายได้อยู่ดี

ดังนั้นแทนที่จะเซ็นเซอร์ ใช้วิธีเปิดไปเลยแล้วให้ทุกฝ่ายพูดในสิ่งที่อยากพูดจะดีกว่า โดยมีกลไกคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลตามสมควร คือคุ้มครองสิทธิเฉพาะในกรณีที่เป็นเรื่องส่วนตัว (อาทิ กฎหมายหมิ่นประมาท) ถ้าใครโกหก คนอื่นก็ยกความจริงขึ้นมาสู้ได้อยู่แล้ว

ธรรมชาติความเร็วของข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเข้าข้างคนที่พูดความจริง แต่ธรรมชาติการทิ้ง “ร่องรอย” ในอินเทอร์เน็ตเข้าข้างผู้มีอำนาจที่อยากปิดปากคนที่พูดความจริง

การดัดแปลงและแต่งเติมธรรมชาติทั้งสองของอินเทอร์เน็ตให้คุ้มครองคนที่พูดความจริงในประเด็นสาธารณะ จึงเป็นความท้าทายหลักของโลกออนไลน์ในศตวรรษนี้

Der Spiegel

ตอนบ่ายพวกเราไปเยือน เดอ ชปีเกล (Der Spiegel) สื่อที่ทำ “ข่าวเจาะ” (ข่าวสืบสวนสอบสวน) เก่งที่สุดในเยอรมนี ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและนักข่าวฝ่ายต่างประเทศอีก 2 คน มาบรรยายให้เราฟังอย่างสนุกสนาน ชปีเกลมีจุดเริ่มต้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1947 ที่เมืองฮาโนเวอร์ ไม่ใช่แฮมบูร์ก กองทัพอังกฤษ (ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม) อยากสนับสนุนให้เกิดสื่อเยอรมันที่ตรงไปตรงมาและกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐ เพราะสมัยนาซีเยอรมันสื่อแบบนี้ล้มหายตายจากไปเกือบหมด เหลือแต่โฆษณาชวนเชื่อของนาซี

It all started in Hanover
“It all started in Hanover…”

คนที่อังกฤษเลือกหนุนคือ รูดอล์ฟ อ็อกสตีน (Rudolf Augstein) นักข่าววัย 23 ปี ผู้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่วิทยุทหารในสงคราม เขาจึงก่อตั้งวารสารรายสัปดาห์ แต่ปรากฏว่าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาจนแม้แต่อังกฤษก็รับไม่ไหว ถอนการสนับสนุนหลังจากทำได้เพียง 5 เดือน แต่กว่าจะถึงตอนนั้นอ็อกสตีนก็เชื่อมั่นแล้วว่าประชาชนชาวเยอรมันจะให้การสนับสนุน เขาถามบิดาว่าควรตั้งชื่อหนังสือพิมพ์ว่าอะไรดี บิดาเขียนคำว่า “Der Spiegel” (“กระจก”) ในกระดาษกลับมาให้

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ Der Spiegel เป็นวารสารรายสัปดาห์ที่มียอดจำหน่ายกว่า 1 ล้านฉบับ แตกไลน์ออกไปทำวารสารอีกหลายฉบับ รวมทั้งวารสาร Dein Spiegel สำหรับเด็ก วารสารสำหรับวัยรุ่น และวารสารเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ทั้งหมดนี้เขาให้เรามาคนละปึก พร้อมรายงานประจำปี 2010

ปก Dein Spiegel ฉบับล่าสุดเป็นรูปเด็กผู้หญิงทาหน้าด้วยสัญลักษณ์นิวเคลียร์ เรื่องจากปกว่าด้วยความกังวลเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์หลังเกิดวิกฤติโรงไฟฟ้าฟูกูชิม่าที่ญี่ปุ่น

ปก Spiegel สำหรับเด็ก
ปก Spiegel สำหรับเด็ก

Dein Spiegel แสดงให้เห็นว่าสื่อสำหรับเด็กไม่จำเป็นต้องทำแต่ “เรื่องของเด็ก” เท่านั้น แต่ควรสื่อสารเรื่องใหญ่ๆ ของสังคมให้เด็กเข้าใจ(บ้าง)ด้วย เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ถ้าไม่รับรู้เรื่องราวของสังคมเลย เด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้อย่างไร?

ปัจจุบันถึงแม้ว่าองค์กรจะเติบโตจนมีพนักงานหลายร้อยคน โครงสร้างการถือหุ้นของ Der Spiegel ก็ยังคงให้นักข่าวและพนักงานฝ่ายอื่น (เขาย้ำว่าทุกฝ่าย – คนที่ไม่ใช่นักข่าว เช่น แม่ครัว คนขับรถ และยาม ก็ได้รับหุ้นของบริษัทด้วย) ร่วมกันเป็นเจ้าของ เพื่อรับประกันความเป็นอิสระในฐานะสื่อ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ (ผ่านเงินปันผลและระบบแบ่งปันผลกำไร) พนักงานทั้งหมดในองค์กรถือหุ้นรวมกันกว่า 50.5% ครอบครัวอ็อกสตีน (เขาเสียชีวิตในปี 2002) ถือหุ้นเพียง 24% ที่เหลืออีก 25% เป็นของนักลงทุนอีกตระกูลหนึ่ง อ็อกสตีนกำหนดในข้อบังคับของ Spiegel ตั้งแต่ยุคแรกว่า การตัดสินใจทุกเรื่องที่สำคัญจะต้องใช้หุ้นไม่ต่ำกว่า 70% ดังนั้นจึงไม่มีทางที่ผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นจะตัดสินใจอะไรที่นักข่าวไม่เห็นด้วย

Der Spiegel ไม่ได้สร้างชื่อเสียงว่าเป็นสื่อเจาะคุณภาพด้วยความบังเอิญ แต่ด้วยการทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ ฝ่าย Spiegel Archive มีพนักงาน 70 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของข่าวและบทความทุกชิ้นก่อนตีพิมพ์ และเก็บบันทึกข้อมูลในกรุให้นักข่าวใช้ ปัจจุบันกรุข้อมูลของ Der Spiegel ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกถ้าเทียบกับสื่ออื่น

ข่าวและบทความทุกชิ้นจะถูกเช็ค 3 เรื่องก่อนที่ บ.ก. จะอนุมัติ คือ 1) ความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้ 2) การสะกดผิด และ 3) ความเป็นเหตุเป็นผลของบทสรุป คือถ้านักข่าวเขียนมาดี แต่มองไม่ออกว่าข้อมูลที่ใช้นั้นนำไปสู่ข้อสรุปที่เขียนได้อย่างไร ก็ต้องกลับไปแก้มาใหม่

ธรรมเนียมของ Der Spiegel เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ เขาจะส่งบทสัมภาษณ์ทุกชิ้นให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ตรวจก่อนตีพิมพ์ ถ้าผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่อนุญาต เขาก็จะไม่ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ชิ้นนั้น ถ้าผู้ถูกสัมภาษณ์ขอแก้เนื้อหามากเกินกว่าสะกดผิดหรือข้อเท็จจริงเล็กๆ น้อยๆ เช่น แก้จนไม่ตรงกับที่ให้สัมภาษณ์เลย Der Spiegel ก็จะไม่ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์นั้นๆ ถึงแม้ว่าจะมีหลักฐานเป็นเทปเสียงของผู้ถูกสัมภาษณ์แล้วก็ตาม แต่จะเขียนอธิบายในหน้าวารสารว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ตีพิมพ์

ธรรมเนียมนี้ไม่เหมือนกับสื่อหลายค่ายที่จะไม่ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ดูบทสัมภาษณ์ก่อน ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ไปเลยเพราะไหนๆ ก็มีเทปเสียงมัดตัวเป็นหลักฐานแล้ว ถ้าโดนผู้ถูกสัมภาษณ์โวยวายหรือฟ้องร้องก็ไปเปิดเทปสู้กันในศาลได้

นักข่าวบอกว่าที่นี่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ยอดขายหนังสือพิมพ์รายวันตกวูบ เพราะเขาเป็นวารสารรายสัปดาห์ที่เน้นข่าวเจาะและบทวิเคราะห์เป็นหลัก ดังนั้นถึงอย่างไรเนื้อหาของเขาก็ไม่ซ้ำกับคนอื่น การทำข่าวเจาะเรื่องหนึ่งปกติจะส่งนักข่าว 2 คนไปทำงานเป็นทีม ให้เวลา 6 เดือน ตอนที่วิกิลีคส์เอาข้อมูลมาให้ Der Spiegel นั้นเป็นกรณีที่พิเศษมาก คือข่าวเดินมาหาเอง ไม่ใช่เขาออกไปหา เอกสารของวิกิลีคส์นั้นมีปริมาณมหาศาล ก็เลยต้องใช้นักข่าวจากหลายฝ่าย เขาคิดว่าจนถึงตอนนี้เนื้อหาที่น่าสนใจในเคเบิลที่วิกิลีคส์เอามาให้ในส่วนของ Der Spiegel นั้นถูกเขา “รีด” ออกมาทำเป็นข่าวไปหมดแล้ว

ตอนนี้ Der Spiegel กำลังสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในเขตก่อสร้างริมแม่น้ำที่เรานั่งเรือเที่ยววันก่อน เสร็จเมื่อไรพนักงานทั้งหมดก็จะได้นั่งทำงานในตึกเดียวกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี เพราะตอนนี้แยกกันอยู่หลายที่

ประโยคเดียวที่ปรากฏในหน้าแรกของรายงาน Der Spiegel ประจำปี 2010 คือ

“A journalist must not go easy on himself, and certainly not on the people he writes about.” – Rudolf Augstein
(นักข่าวจะต้องไม่ทำให้ตัวเองเคยตัว และแน่นอนว่าต้องไม่ทำให้คนที่เขาเขียนถึงเคยตัวด้วย)

Netzwork Recherche และ Intajour

ระหว่างทางเดินไปนัดต่อไปซึ่งเป็นนัดสุดท้ายของวัน เราเดินผ่านซากโบสถ์นักบุญนิโคไล กองทัพอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรใช้ยอดแหลมของโบสถ์นี้ (ซึ่งเคยสูงที่สุดในโลก) เป็นหมุดหมายบอกตำแหน่งและระยะทาง ทิ้งระเบิดถล่มแฮมบูร์กช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวโบสถ์เองก็ถูกถล่มจนแทบไม่เหลือซาก เหลือแต่หอระฆังและซากกำแพงสองด้าน

เช่นเดียวกับที่เบอร์ลิน เยอรมนีอนุรักษ์โบสถ์นี้ไว้เป็นอนุสรณ์แด่เหยื่อของสงคราม ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนเยอรมันกันเองด้วย

โบสถ์ Saint Nicolai
โบสถ์ Saint Nicolai

นัดสุดท้ายของเราพบกับกุนเธอร์ ผู้อำนวยการ Netzwork Recherche เครือข่ายนักข่าวสืบสวนสอบสวนในเยอรมนี และ เวอร์เนอร์ เอ็กเกิร์ธ (Werner Eggert) ผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกอบรมนักข่าวชื่อ Intajour – “โครงการซีเอสอาร์” ใหม่ถอดด้ามของ Bertelsmann ยักษ์ใหญ่ในวงการสิ่งพิมพ์ของที่นี่

โรงเรียน Intajour ยังไม่เปิดให้บริการ แต่เขาคาดว่าจะเปิดเว็บไซต์และเริ่มรับสมัครนักข่าวที่สนใจเข้ารับการอบรมในเดือนพฤษภาคมปีนี้ (2011) ในโครงการ 1 ปีที่มุ่งยกระดับนักข่าวให้เป็น “นักข่าวคุณภาพ” โดยเฉพาะทักษะการทำข่าวในโลกยุคดิจิตอล และเทคนิคสมัยใหม่อื่นๆ เช่น การนำเสนอข้อมูลด้วยภาพ (infographics) ส่วน Netzwork Recherche ก็จัดอบรมนักข่าวเจาะอยู่เนืองๆ และผลิตคู่มือมากมายเกี่ยวกับการทำข่าวเจาะ แต่พวกเราใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้เพราะทั้งหมดเป็นภาษาเยอรมัน ไม่เหมือนกับ Intajour ซึ่งจะสอนเป็นภาษาอังกฤษ

โครงการนี้เปิดสอนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ด้วยเหตุผลที่ดีมากคือ ไม่ใช่เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของ Bertelsmann (ว่าอยาก “คืนกำไรสู่สังคม” จริงๆ) แต่เป็นเพราะว่าถ้าเขาเก็บค่าเล่าเรียน คนที่ได้มาเรียนก็จะมีแต่ผู้มีฐานะดีทางเศรษฐกิจ (คุณเวอร์เนอร์ใช้คำว่า “economic elite”) ซึ่งนั่นไม่ใช่เป้าหมายของเขา เป้าหมายของเขาคือนักข่าวที่ทำงานเป็นนักข่าวอยู่แล้ว และมีแววว่าจะยกระดับการทำข่าวให้มีคุณภาพกว่าเดิมได้ ไม่เกี่ยงว่านักข่าวคนนั้นจะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี

คุณเวอร์เนอร์พูดประโยคหนึ่งที่ชอบมาก – “ข่าวคุณภาพทุกชิ้นคือข่าวสืบสวนสอบสวน ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นแค่การก๊อปปี้สารประชาสัมพันธ์เท่านั้นเอง” (Every good journalism is investigative journalism, otherwise it is just copying PR messages)

นักข่าวหรือบล็อกเกอร์ไทยคนไหนถ้าสนใจโครงการนี้ จำชื่อ “Intajour” ไปพลางๆ ก่อน 🙂

ตกเย็นเราแยกย้ายกันไปท่องเที่ยวส่วนตัว ผู้เขียนรีบกินไส้กรอกเยอรมันตามระเบียบเพื่อจะได้มีเวลาเขียนบันทึก พรุ่งนี้เช้าเราจะขึ้นรถไฟกลับเบอร์ลินแล้ว

ราตรีสวัสดิ์ มหานครสีเขียวแห่งยุโรป

หลักฐานพิสูจน์ความเป็นมิตรต่อจักรยาน
หลักฐานพิสูจน์ความเป็นมิตรต่อจักรยาน