ก่อนอื่น ขอแจ้งข่าวดีกับมิตรรักนักอ่านทั้งหลาย: โอเพ่นออนไลน์ เปิดตัวแล้วนะคะ ใครที่เป็นแฟนโอเพ่นฉบับหนังสือคงไม่พลาดอยู่แล้ว ใครที่ไม่เคยอ่านโอเพ่น แต่ชอบอ่านบล็อกนี้หรือเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ น่าจะตกหลุมรักได้ไม่ยาก […]
ก่อนอื่น ขอแจ้งข่าวดีกับมิตรรักนักอ่านทั้งหลาย: โอเพ่นออนไลน์ เปิดตัวแล้วนะคะ ใครที่เป็นแฟนโอเพ่นฉบับหนังสือคงไม่พลาดอยู่แล้ว ใครที่ไม่เคยอ่านโอเพ่น แต่ชอบอ่านบล็อกนี้หรือเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ น่าจะตกหลุมรักได้ไม่ยาก
คอลัมน์ “คนชายขอบ” เล่าเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดของนักคิด นักปฏิบัติที่เดินอยู่นอกกระแสหลัก ตอนนี้มีบทความที่เคยลงในบล็อกนี้ไปแล้ว 5 เรื่อง และบทความใหม่ที่ไม่เคยลงในบล็อก 2 เรื่อง คือ “Mohammad Yunus บิดาแห่งแนวคิด micro-credit” และ “หลักการในการทำบุญ และประเด็นทางศีลธรรมในการบริจาคเงิน” กรุณาติชมได้ตามอัธยาศัย 🙂
อาทิตย์ก่อนไปเที่ยวเชียงใหม่มา จุดประสงค์หลักเพื่อไปเยือนอาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ ผู้เขียนบทความชิ้นเอกเรื่อง “การสร้างความเป็นไทยกระแสหลัก และ “ความจริง” ที่ “ความเป็นไทย” สร้าง” (ซึ่งท่านสามารถดาวน์โหลดจากที่นี่) อาจารย์สายชลได้กรุณาพาไปเยือนสถานที่จริงของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หนึ่งในเว็บไซด์โปรด และแนะนำให้รู้จักกับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยหลายท่าน เช่นอาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม และอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ “ปัญญาชนไพร่” ในดวงใจของผู้เขียน
การเดินทางเที่ยวนี้จะอยู่ในความทรงจำไปอีกนาน
พยายามเขียนเล่าเรื่องอย่างละเอียดอยู่ ติดที่ลืมชื่อวัดวาอาราม และดอกไม้สวยๆ ที่ถ่ายรูปมาไปเยอะ (เพราะลืมเอาสมุดโน้ตไป และมัวแต่เพลินกับการเดินสนทนากับอาจารย์อรรถจักร์ และอาจารย์สายชล จนไม่ค่อยได้สังเกตทิวทัศน์สองข้างทาง) จึงต้องใช้เวลาอีกหลายวันในการใช้กูเกิ้ล เสาะหาชื่อของสถานที่ต่างๆ ระหว่างนี้ขอเชิญท่านชมรูปที่ถ่ายมา (อย่างมือสมัครเล่นมากๆ) ได้ที่ Flickr set ของผู้เขียน
อนุสนธิจากบทความคราวที่แล้วเกี่ยวกับสนธิ vs. ทักษิณ และคอมเม้นท์จากคุณสหายสิกขา ทำให้ค้นเจอกลอนบทหนึ่งของกวีซีไรต์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เกี่ยวกับ เกสปุตตสูตร (หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักดีในนาม กาลามสูตร) ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในกลอนสอนธรรมะที่ดีที่สุดตั้งแต่เคยมีมา:
หมู่บ้านหนึ่ง นามว่า กาลามะ
เกิดภาวะ วุ่นวาย หลายสถาน
ขาดผู้นำ ผู้น้อย พลอยรังควาน
อลหม่าน มากมาย ทุกมุมเมือง
เฮที่ไหน เฮด้วย ช่วยเฮนั่น
ที่เงียบงัน โง่งง ก็งมเงื่อง
ที่ยกหู ชูหาง ก็ย่างเยื้อง
ตื่นข่าวลือ ถือข่าวเลื่อง อยู่เนืองนันต์
จึงพระพุทธองค์ ทรงโปรดสัตว์
เทศนา ดำรัส ตัดโมหันธ์
หลักความเชื่อ สิบอย่าง ในทางธรรม์
คนทั้งนั้น นิ่งฟัง โดยตั้งใจ
หนึ่ง ฟังตาม กันมา อย่าได้เชื่อ
สอง ทำกัน ทุกเมื่อ เชื่อไม่ได้
สาม ตื่นข่าว ป่าวมา อย่าเชื่อไป
สี่ อย่าไว้ ใจแม้ แต่ตำรา
ห้า อย่าเชื่อ เพราะเดา เอาเองเล่น
หก กะเกณฑ์ คาดคะเน ไว้ล่วงหน้า
เจ็ด เพราะนึก ตรึกตรอง หรือตรวจตรา
แปด เพราะว่า ต้องตาม ธรรมเนียมตน
เก้า อย่าเชื่อ เพราะเพื่อ ควรเชื่อเขา
สิบ ครูเรา แท้แท้ มาแต่ต้น
ก็ใช่จัก เชื่อได้ น้ำใจคน
จงเชื่อผล เชื่อเหตุ สังเกตเทอญ ฯ
พอพูดเรื่องกลอนสอนธรรมะ ก็อดแนะนำกลอนของท่านพุทธทาสภิกขุไม่ได้ ปราชญ์ผู้นี้เป็นพระที่แต่งกลอนเก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ไม่เชื่อก็ลองอ่านบางตัวอย่างจาก “หัวข้อธรรมในคำกลอน” ของท่านดู:
มีลาภมียศ สุขทุกข์ปรากฏ สรรเสริญนินทา เสื่อมลาภเสื่อมยศ เป็นกฎธรรมดา อย่ามัวโศกา นึกว่าช่างมัน
(เรียบเรียง โลกธรรม ๘ เป็นร้อยกรอง)
เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างเขาเถิด
จงเลือกเอา ส่วนดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
เรื่องไม่ดี อย่าไปรู้ ของเขาเลย
อันจะหา คนที่ดี แต่ส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว ไปหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเอย
ฝึกจนเคย เห็นแต่ดี มีคุณจริง.