เทคนิคการ “ซุกหนี้” ของรัฐบาลกรีซ

greek-dilemma.jpg

เทคนิคการ “ซุกหนี้” ของรัฐบาลกรีซ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “รู้ทันตลาดทุน” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 มกราคม 2555

วันนี้อยากพักเรื่องตลาดทุนชั่วคราว เพราะพอได้ยินดำริของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะโยกหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ควาน)หารายได้มาใช้หนี้ (แถมสำทับว่าไม่ให้พิมพ์ธนบัตรหรือแตะต้องทุนสำรอง) ผู้เขียนก็อดนึกถึงประเทศกรีซไม่ได้

ต้นปี ค.ศ. 2012 กรีซดังระเบิดในฐานะ “ประเทศรวยหลอก” ที่หนี้สาธารณะท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะกัดฟันลดหนี้ให้ครึ่งหนึ่ง กรีซก็ไม่น่าจะมีปัญญาชำระหนี้ได้ ปัญหาหนี้ของกรีซจะทำให้สหภาพยุโรปถึงกาลล่มสลายหรือเปล่ายังต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ เทคนิคการ “ซุกหนี้” ของรัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งทั้งเหลือเชื่อ น่าเศร้า และตลกขบขันระคนกัน

คนที่เล่าเรื่องนี้ได้สนุกมากคือ ไมเคิล ลูวิส อดีตวาณิชธนกร นักเขียนโปรดคนหนึ่งของผู้เขียน เขาเขียนเล่าในหนังสือเรื่อง “Boomerang” ว่า –

แทบทุกปีตลอดทศวรรษ 1980 และ 1990 อัตราดอกเบี้ยของกรีซสูงกว่าของเยอรมนีร้อยละ 10 เนื่องจากตลาดมองว่ากรีซมีความสามารถในการใช้หนี้ต่ำกว่าเยอรมนีมาก ในกรีซไม่มีสินเชื่อส่วนบุคคล ชาวกรีกไม่มีบัตรเครดิตใช้ และโดยทั่วไปก็ไม่มีสินเชื่อบ้านด้วย แน่นอนว่ากรีซอยากให้ตลาดการเงินปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนกับประเทศยุโรปเหนือที่เดินได้ดี พอถึงปลายทศวรรษ 1990 กรีซก็สบโอกาส – โละสกุลเงินของตัวเอง เปลี่ยนไปใช้ยูโร ก่อนจะทำแบบนี้ได้พวกเขาต้องบรรลุเป้าบางตัวเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นพลเมืองยุโรปที่ดี คือพิสูจน์ว่าสุดท้ายจะไม่ก่อหนี้เกินตัวจนบังคับให้สมาชิกสหภาพยุโรปประเทศอื่นต้องใช้หนี้แทน เป้าตัวหนึ่งคือต้องขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และคุมเงินเฟ้อให้อยู่ราวระดับของเยอรมนี

ในปี 2000 หลังจากมหกรรมมั่วกับสถิติ กรีซก็ทำตามเป้าได้สำเร็จ รัฐบาลกรีซโยกค่าใช้จ่ายหลายรายการ (อาทิ บำนาญกว่า 600 ล้านยูโร และค่าใช้จ่ายทางทหาร) ไปไว้นอกงบดุล ลดอัตราเงินเฟ้อด้วยการตรึงราคาไฟฟ้า น้ำประปา และสินค้าอื่นที่รัฐจัดหาให้กับประชาชน ลดภาษีน้ำมัน สุรา และบุหรี่ นักสถิติของรัฐบาลทำอะไรๆ หลายอย่าง เช่น เอามะเขือเทศ (ซึ่งแพง) ออกจากดัชนีราคาผู้บริโภคในวันที่วัดอัตราเงินเฟ้อ อดีตนักวิเคราะห์เศรษฐกิจยุโรปในภาคการเงินอเมริกาคนหนึ่งกล่าวว่า “เราไปหาคนที่สร้างตัวเลขพวกนี้ …เราหยุดหัวเราะไม่ได้ เขาอธิบายวิธีดึงราคามะนาวออก ใส่ส้มเข้าไปแทน ดัชนีตัวนี้มั่วได้ใจมาก”

นั่นแปลว่าแม้แต่ตอนนั้นผู้สังเกตการณ์บางคนก็ตั้งข้อสังเกตแล้วว่าตัวเลขของกรีซบวกกันไม่ลงตัว มิรันดา ซาฟา นักวิเคราะห์จากบริษัทซาโลมอน บราเธอร์ส ชี้ให้เห็นในปี 1998 ว่า ถ้าคุณบวกตัวเลขขาดดุลงบประมาณทั้งหมดของกรีซตลอดระยะเวลา 15 ปี ผลรวมจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของตัวเลขหนี้ทั้งหมดของกรีซเท่านั้น พูดอีกอย่างคือ หนี้ทั้งหมดที่รัฐบาลกรีซกู้มาใช้จ่ายมีจำนวนสูงกว่าตัวเลขการขาดดุลที่ประกาศถึงสองเท่า

ในปี 2001 กรีซเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แลกเงินสกุลดรักมาเป็นยูโร และทำให้หนี้ของตัวเองมียุโรป (หมายถึงเยอรมนี พี่เบิ้มของยุโรป) ค้ำประกันโดยนัย ชาวกรีซสามารถกู้เงินระยะยาวได้ในอัตราดอกเบี้ยทัดเทียมกับเยอรมนี – ร้อยละ 5 แทนที่จะเป็นร้อยละ 18 กฎการดำรงสมาชิกภาพของกรีซในสหภาพยุโรปคือต้องรักษาการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 ของจีดีพี ในทางปฏิบัติ สิ่งเดียวที่รัฐบาลต้องทำคือมั่วตัวเลขเพื่อแสดงให้เห็นว่าทำได้ตามเป้า

ในปีเดียวกันคือ 2001 โกลด์แมน แซคส์ บริษัทวาณิชธนกิจชื่อดัง รับจ้างรัฐบาลทำดีลที่ถูกกฎหมายแต่น่ารังเกียจหลายดีล ซึ่งถูกออกแบบมา “หมกเม็ด” ระดับหนี้ที่แท้จริงของรัฐบาลกรีซ ว่ากันว่าดีลเหล่านี้ทำให้ โกลด์แมน แซคส์ (ซึ่งกลายเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลกรีซ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ได้รับค่าธรรมเนียมถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในประเทศไทยก็เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายกัน วันหนึ่งผู้เขียนจะหาโอกาสเขียนเล่า เพราะมีความพิสดารพันลึกไม่น้อย)

“เครื่องจักร” ที่ถูกสร้างมาให้รัฐบาลกรีซกู้เงินมาใช้ตามใจชอบนั้นคล้ายกันกับ “เครื่องจักร” ที่ถูกสร้างมา “ฟอก” เครดิต (ความสามารถในการใช้หนี้) ของลูกหนี้ซับไพรม์ในอเมริกา – และบทบาทของวาณิชธนกิจอเมริกันในเครื่องจักรที่ว่านี้ก็เหมือนกันทั้งสองกรณี วาณิชธนกรสอนข้าราชการกรีซให้รู้วิธีแปลงรายได้ในอนาคตจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ค่าผ่านทางด่วน ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยาน (landing fee) และแม้แต่เงินให้เปล่าที่ได้รับจากสหภาพยุโรป ให้เป็นหลักทรัพย์ รายได้ในอนาคตอะไรก็ตามที่มองเห็นถูกรัฐบาลกรีซเอามาขายแปลงเป็นเงินสดในปัจจุบัน (securitized)

ใครก็ตามที่มีสมองย่อมรู้ว่ากรีซหมกเม็ดสถานภาพทางการเงินที่แท้จริงของตัวเองไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่ ก) เจ้าหนี้คิดว่าเงินกู้ที่ปล่อยให้กรีซนั้นมีสหภาพยุโรป (นั่นคือ เยอรมนี) เป็นผู้ค้ำประกัน และ ข) ไม่มีใครนอกประเทศใส่ใจที่จะขุดคุ้ย ภายในกรีซเองไม่มีใคร “เป่านกหวีด” แฉปัญหา เพราะแทบทุกคนมีเอี่ยวกับมหกรรมต้มตุ๋นนี้

สถานการณ์นี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในเดือนตุลาคม ปี 2009 เมื่ออำนาจเปลี่ยนขั้ว พรรคอนุรักษ์นิยมตกจากอำนาจ พรรคสังคมนิยมขึ้นเป็นรัฐบาลใหม่ พบว่ามีเงินหลวงน้อยกว่าที่คาดไว้มากจนตัดสินใจว่าไม่มีทางออกอื่นนอกจากพูดความจริง แน่นอนว่าทันทีที่พูดความจริง เจ้าหนี้ของกรีซก็ตื่นตระหนกทันที พอถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2011 รัฐบาลก็เสนออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสูงถึงร้อยละ 25 แต่นักลงทุนจำนวนมากมองว่ากรีซเสี่ยงสูงเกินกว่าจะรับไหวไปแล้ว (ถ้าเจ้าหนี้มั่นใจว่าลูกหนี้ใช้หนี้เงินต้นไม่ได้แน่ๆ ก็คงไม่อยากปล่อยกู้ ไม่ว่าดอกเบี้ยจะสูงเท่าไรก็ตาม)

ปัญหาหนี้กรีซยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมาก เช่น รัฐบาลขึ้นเงินเดือนและสวัสดิการให้กับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกคะแนนนิยมอย่างมักง่าย โดยไม่ใส่ใจกับผลงานหรือประสิทธิภาพ ส่งผลให้ข้าราชการได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยถึงสามเท่า (!) ของภาคเอกชน นอกจากนี้ กรีซยังเป็นประเทศที่คอร์รัปชั่นกว้างขวางและซึมลึกทุกระดับ องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล (Transparency International) รายงานว่า กรีซเป็นประเทศที่คอร์รัปชั่นสูงที่สุดในยุโรป ชาวกรีกจ่ายเงินใต้โต๊ะและสินบนเฉลี่ยคนละกว่า 3,000 ยูโร (ประมาณ 120,000 บาท) ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนในปี 2009

เรื่องราวของกรีซให้อุทาหรณ์ว่า นักการเมืองที่ถนัด “ซุก” มักจะไม่ถนัด “สร้าง” อะไรที่ยั่งยืนนัก อาจเป็นเพราะการ “ซุก” นั้นง่ายกว่าการ “สร้าง” หลายเท่า แถมกว่าจะเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ ตัวเองก็อาจอยู่ไกลแสนไกลจนไม่ต้องรับผิดชอบ.