airbnb กับด้านมืดของ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” (sharing economy)

airbnb.jpg

ในบรรดาบริษัทระดับโลกที่กำลัง “เขย่า” ธุรกิจการท่องเที่ยวชนิดถึงรากถึงโคน อันดับหนึ่งหนีไม่พ้น “แอร์บีแอนด์บี” (Airbnb) กิจการอายุไม่ถึงสิบปีแห่งนี้ดังเป็นพลุแตก ด้วยโมเดลการสร้าง “ตลาดที่พักระยะสั้น” (เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นมือถือ) บนอินเทอร์เน็ต ใครก็ตามสามารถปล่อยเช่าห้องนอนหรือบ้านทั้งหลังของตัวเอง เป็นรายวัน รายสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์ โดยแอร์บีแอนด์บีจะหักหัวคิวจากค่าเช่าเป็นรายได้ของบริษัท

วันนี้บนเว็บแอร์บีแอนด์บีมีผู้เปิดห้องหรือบ้านให้เช่ามากถึง 1.5 ล้านแห่ง กระจายใน 34,000 เมือง 191 ประเทศทั่วโลก เทียบเท่าเชนโรงแรมระดับโลกหลายเชน และมีแนวโน้มว่าแอร์บีแอนด์บีอาจแซงหน้าอุตสาหกรรมโรงแรมทั้งอุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากโตเร็วเหลือเกิน

จากมุมมองของคนธรรมดาที่ปล่อยห้องให้คนอื่นเช่า หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แอร์บีแอนด์บีนั้น “เจ๋ง” เพราะทำให้มีรายได้เสริม ได้รู้จักคนใหม่ๆ ซึ่งบางคนก็อาจมากลายเป็นเพื่อนกัน อีกทั้งมี “ระบบชื่อเสียง” (โหวตให้คะแนนที่พัก) ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ปล่อยเช่าที่ดูแลเอาใจใส่ผู้มาเยือนเป็นอย่างดี

นักไอที นักเศรษฐศาสตร์ และนักอื่นๆ จำนวนไม่น้อยประสานเสียงกันยกย่องแอร์บีแอนด์บีว่า เป็นหัวหอกของระบอบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่ใช้ชื่อว่า “sharing economy” หรือแปลเป็นไทยแบบบ้านๆ ได้ว่า “เศรษฐกิจแบ่งปัน”

คำว่า “แบ่งปัน” ทำให้เรารู้สึกดี เพราะสื่อถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ฉันมิตร เหมือนภาพจำของชนบทไทยสมัยก่อนที่วางน้ำนอกชาน ผู้มาเยือนดื่มแก้กระหายได้ตามอัธยาศัย

แต่คนที่ประกาศให้เช่าห้องหรือบ้านบนแอร์บีแอนด์บีนั้นไม่ได้อยากเอื้อเฟื้อแก่คนแปลกหน้า แต่ทว่าอยากได้เงินค่าเช่า ไม่ว่าเงินนั้นจะเป็นแรงจูงใจหลัก หรือแรงจูงใจรองก็ตาม และแอร์บีแอนด์บีก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่บ้านใจกว้าง แต่เป็นบริษัทแสวงกำไรที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจจากช่องว่างระหว่างอุปสงค์ (คนที่อยากเช่าห้องพักระยะสั้น ไม่อยากพักโรงแรม หรือโรงแรมเต็ม) กับอุปทาน (คนที่อยากปล่อยห้องให้เช่า)

ในเมื่อบริษัทส่วนใหญ่ใน “เศรษฐกิจแบ่งปัน” แสวงกำไรสูงสุด ไม่ได้อยากแบ่งปันอะไรกับใครจริงๆ การใช้คำว่า “แบ่งปัน” ในบริบทนี้จึงชี้ชวนให้คนเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง

สื่อการตลาดและโฆษณาต่างๆ ของแอร์บีแอนด์บีพยายามหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์แสวงกำไรของบริษัท แต่เน้นการ ‘เล่น’ กับความคิดที่ว่า “เจ้าภาพ” เปิดห้องที่ตัวเองไม่ได้ใช้ให้ “แขก” เข้ามาพักพิงชั่วคราว คล้ายกับเจ้าบ้านสมัยโบราณผู้โอบอ้อมอารี

อย่างไรก็ดี ความจริงวันนี้คือ รายได้ส่วนใหญ่ของแอร์บีแอนด์บีไม่ได้มาจาก “เจ้าภาพ” ที่เจียดห้องนอนให้แขกอีกต่อไปแล้ว แต่มาจากเจ้าของบ้านที่ปล่อยบ้านทั้งหลังให้เช่า – รวมทั้งวิลล่าหรูและอพาร์ตเม้นท์ที่ตัวเองไม่ได้อยู่เอง ผู้เช่าระยะยาวในหลายเมืองที่แอร์บีแอนด์บีได้รับความนิยมสูงมาก เช่น ซานฟรานซิสโก ถูกเจ้าของห้องพักกดดันให้ออกก่อนสัญญาหมดอายุ เพราะอยากเอาห้องไปปล่อยเช่าระยะสั้นผ่านแอร์บีแอนด์บี (ได้กำไรมากกว่า)

ความสำเร็จของแอร์บีแอนด์บีดึงดูดคนรวยจำนวนมากให้ซื้อบ้านพักราคาแพงในเมืองดัง แล้วเอามาปล่อยเช่าผ่านแอร์บีแอนด์บี ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยถีบตัวสูงขึ้น คนที่อยากอยู่ในเมืองเดือดร้อนกว่าเดิมเพราะห้องพักจำนวนมากถูกเอาไปปล่อยเช่าผ่านแอร์บีแอนด์บี แทนที่จะปล่อยเช่าระยะยาว

ด้วยเหตุนี้ แรงตึงเครียดซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เกิดเป็นธรรมชาติระหว่างการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว (อยากเอาที่พักไปรองรับนักท่องเที่ยว) กับความอยู่ดีมีสุขของชาวเมือง (อยากเอาที่พักไปรองรับคนท้องถิ่น หรือคนต่างถิ่นที่อยากย้ายเข้ามาทำงาน) จึงถูกขับเน้นให้แหลมคมและรุนแรงกว่าเดิมด้วยซอฟต์แวร์ของแอร์บีแอนด์บี – หัวหอกของ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” ซึ่งถูกเพ่งเล็งมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า อาจกำลัง “เบียดเบียน” มากกว่า “แบ่งปัน”

ปัญหาคาราคาซังอีกประการของแอร์บีแอนด์บี และบริษัทใน “เศรษฐกิจแบ่งปัน” จำนวนมาก อย่างเช่น อูเบอร์ (Uber) คือ การไม่ยอมรับที่จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลของรัฐ โดยอ้างว่าธุรกิจของตัวเองไม่เข้าข่าย เช่น แอร์บีแอนด์บีอ้างว่าตัวเองทำเพียง “เวที” เชื่อมต่อระหว่างคนที่อยากปล่อยห้องให้เช่า กับคนที่อยากเช่า ไม่ได้ทำธุรกิจโรงแรม ดังนั้นกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่โรงแรมต้องปฏิบัติตามจึงใช้กับบริษัทไม่ได้ ส่วนอูเบอร์ก็อ้างว่า ตนทำเพียง “เวที” เชื่อมต่อระหว่างเจ้าของรถที่อยากเป็นแท็กซี่ชั่วคราว กับคนที่อยากเรียกรถ ไม่ได้เป็นบริษัทแท็กซี่ ดังนั้นกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับรถแท็กซี่จึงใช้กับบริษัทไม่ได้ ฯลฯ

การยืนกระต่ายขาเดียวของบริษัทส่งผลให้รัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น หรือหน่วยงานกำกับดูแล ไม่อาจคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เจ้าของที่พักกับผู้เช่าต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด หากจองผ่านแอร์บีแอนด์บีไปแล้วเกิดปัญหาขึ้น

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงคือ นอกจากแอร์บีแอนด์บีจะปฏิเสธที่จะอยู่ใต้กฎหมายการท่องเที่ยวแล้ว บริษัทยังปฏิเสธความรับผิดชอบ เช่น เจ้าของบ้านกลับมาพบว่าผู้เช่าทำลายข้าวของเสียยับเยิน หรือผู้เช่าถูกเจ้าของบ้านล่อลวงไปข่มขืน แอร์บีแอนด์บีก็จะบอกว่า บริษัทเป็นเพียง “เวที” สื่อสารระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่า ถ้าเกิดเรื่องใดๆ ก็ต้องดิ้นรนร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการเอาเอง

หลายเมืองทั่วโลกที่แอร์บีแอนด์บีได้รับความนิยมกำลังพยายามรับมือกับความท้าทาย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เทศบาลเมืองซานฟรานซิสโก บ้านเกิดและสำนักงานใหญ่ของบริษัท ออกกฎหมายรับรองให้ “การปล่อยเช่าระยะสั้น” แบบแอร์บีแอนด์บีเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่ก็กำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ให้เช่าแบบนี้จะต้องเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรในเมือง (permanent resident) การให้เช่าบ้านทั้งหลังจะต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 90 วันตลอดทั้งปี และผู้ให้เช่าจะต้องไปจดทะเบียนกับเทศบาล

ตั้งแต่กฎหมายใหม่นี้มีผลบังคับใช้ สถานการณ์ก็กระเตื้องขึ้นแต่เพียงเล็กน้อย – มีผู้ให้เช่าที่ใช้แอร์บีแอนด์บีเพียง 700 รายในเมืองซานฟรานซิสโกที่ยอมไปจดทะเบียนกับทางการ และแอร์บีแอนด์บีก็บ่ายเบี่ยงที่จะให้ข้อมูลกับเทศบาลว่า ผู้ให้เช่าในซานฟรานซิสโกแต่ละรายปล่อยเช่าที่ไหนบ้าง ให้เช่านานเพียงใด ตลอดจนไม่ยอมให้ข้อมูลอื่นๆ ซึ่งจะทำให้บริษัทต้องทำตามกฎเกณฑ์นั่นเอง

แน่นอน วันนี้ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” อายุยังน้อย เส้นทางการพัฒนายังอยู่อีกยาวไกล แต่ประสบการณ์จากแอร์บีแอนด์บี อูเบอร์ และบริษัทในวงการนี้อีกมากมายก็บอกเราว่า “แบ่งปัน” น่าจะเป็นคำที่ถูกใช้อย่าง “ผิดฝาผิดตัว” เกินไป เพราะบริษัทในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่หาวิธีนำ “ศักยภาพที่ไม่ถูกใช้” (excess capacity อย่างเช่น ห้องนอนในบ้านที่ไม่มีใครนอนเวลาที่เจ้าของบ้านไม่อยู่) มาหารายได้ มิใช่ว่าอยากจะ “แบ่งปัน” เพราะมีจิตอาสาหรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ในความหมายที่เราเข้าใจกันมาแต่โบร่ำโบราณแต่อย่างใด

สุดท้าย ถ้าบริษัทเหล่านี้อยาก “แบ่งปัน” จริงๆ ก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบมากกว่านี้มาก – ทั้งต่อตัวลูกค้าของบริษัทเอง และต่อความยั่งยืนของสังคมเมืองที่สร้างโอกาสให้บริษัทได้เติบโต.

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร อพท. ทราเวล เดือนกรกฎาคม 2559