หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของผู้เขียนเรื่อง Macrotrends ที่เขียนร่วมกับอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ และอาจารย์เอื้อมพร พิชัยสนิธ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วางแผงแล้วนะคะ ราคา 200 บาท สั่งซื้อออนไลน์ได้จากโอเพ่นบุ๊คส์ ในราคา 170 บาท 🙂
แวะมาแปะชุดสไลด์และเอกสารที่ใช้ในการบรรยายหัวข้อ “วิชาเศรษฐศาสตร์กับการเข้าใจปัญหาของสังคมมนุษย์” วิชาสหวิทยาการ (TU120) ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเมื่อสัปดาห์ก่อน เผื่อใครจะสนใจค่ะ
ประเด็นหลักที่ต้องการจะสรุปให้นักศึกษาปีหนึ่งฟังคือ ถ้าวิชาเศรษฐศาสตร์จะช่วยสร้างความเข้าใจและแก้ปัญหาของสังคมมนุษย์ในยุคนี้ได้จริง “เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก” ที่ครอบงำวงวิชาการ ก็จะต้องเปลี่ยนจากสำนักเสรีนิยมใหม่ (ที่สำหรับหลายคนกลายเป็น “ลัทธิ” ที่แตะต้องไม่ได้ ที่อาจารย์เสกสรรค์ใช้คำว่า “เศรษฐศาสน์”) ไปเป็นอย่างอื่นก่อน ตอนนี้สาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม+สำนักนิวเคนส์ (นีโอเคนส์)+เศรษฐศาสตร์เชิงประจักษ์ ดูมีแนวโน้มว่าอาจกลายเป็นกระแสหลักได้ในอนาคตอันใกล้นีั – จับตาดูผลงานของนักเศรษฐศาสตร์กระแสรองชั้นนำอย่าง Robert Shiller, Dan Ariely, กับ Dani Rodrik กันให้ดีๆ ;D
สไลด์ประกอบการบรรยาย (ข้างต้น): PDF format และ Powerpoint format
เอกสารแนะนำให้อ่านประกอบ:
- “เศรษฐศาสน์กับการผลิตอวิชชาเชิงโครงสร้าง” [PDF, 13 หน้า] โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปรับปรุงจากปาฐกถา “60 ปี เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์” ครั้งที่ 10 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19 ตุลาคม 2552
- นักเศรษฐศาสตร์ผิดพลาดอย่างมหันต์ได้อย่างไร? [PDF, 16 หน้า] แปลโดย กอปรทิพย์ อัจฉริยโสภณ ผู้เขียนช่วยอีดิท จากบทความเรื่อง How Did Economists Get It So Wrong? โดย Paul Krugman
- รัฐ ชุมชน และตลาดกับการจัดสรรทรัพยากรในระบบทุนนิยม [PDF, 9 หน้า] – บทสรุปหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นในมุมมองของเศรษฐศาสตร์สถาบัน โดย อภิชาต สถิตนิรามัย