Nadine Gordimer: พลังแห่งความจริงในจินตนาการ

nadine.jpg

Nadine Gordimer: พลังแห่งความจริงในจินตนาการ

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Make a Difference นิตยสาร Women & Home ฉบับเดือนเมษายน 2553

รวมเล่มใน “ผู้หญิงกลิ้งโลก” เล่ม 1

ตีพิมพ์บนบล็อกนี้เป็นอนุสรณ์ หลังจาก Nadine Gordimer อำลาโลกไปอย่างสงบในวันที่ 15 ก.ค. 2557 ด้วยวัย 90 ปี

์Nadine Gordimer

“ไม่มีอะไรที่ฉันพูดในบทความหรือสารคดีที่จะจริงเท่ากับนิยายของฉัน …เพราะนิยายเป็นสิ่งปลอมแปลง มันจึงครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เคยเอ่ยในกลุ่มคนและในตัวคุณเอง”

                                                                   – นาดีน กอร์ดิเมอร์

ผู้หญิงบางคนไม่เคยจับอาวุธ แต่มีชัยในการต่อสู้กับความอยุติธรรมในทางที่ยั่งยืนกว่าชัยชนะบนสมรภูมิใดๆ และสร้างแรงบันดาลใจไม่สิ้นสุดให้กับคนรุ่นหลังทุกครั้งที่เปิดหนังสือ

พลังของนาดีน กอร์ติเมอร์ มาจากความทุ่มเทไม่ท้อถอยนานกว่าครึ่งศตวรรษในการตีแผ่ความจริงอันโหดร้ายของระบอบเหยียดผิวในแอฟริกาใต้บ้านเกิดเมืองนอน ผ่านนิยาย 13 เล่ม เรื่องสั้นกว่า 200 เรื่อง ไม่นับหนังสือรวมบทความอีกไม่ต่ำกว่าสิบเล่ม งานเขียนของเธอได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 30 ภาษา นอกจากนี้ กอร์ติเมอร์ยังเป็นนักเขียนน้อยรายที่มีนักวิจารณ์จำนวนมากเกาะติดผลงาน ผลิตบทความวิเคราะห์งานเขียนของเธอกว่า 200 ชิ้นรวมกันจวบจนปัจจุบัน

หากรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 1991 เป็นเครื่องพิสูจน์ ‘ฝีมือ’ ในฐานะนักเขียนของกอร์ติเมอร์ไซร้ ชีวิตทั้งชีวิตของเธอก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ‘หัวใจ’ ของคนเรา ประกอบกับคำกล่าวโบราณที่ว่า “ปากกาเป็นอาวุธ” นั้น สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มหาศาลปานใด

กอร์ดิเมอร์มีพรสวรรค์ล้นเหลือในการเสกคนอ่านด้วยตัวหนังสือให้สามารถมองโลกจากสมองและหัวใจของคนต่างเพศต่างสีผิว อายุ เผ่าพันธุ์ และเชื้อชาติ ตั้งแต่โจรห้าร้อยไปจนถึงไฮโซหรือคนบาปในคราบนักบุญ ในฐานะผู้กระทำ เหยื่อผู้ถูกกระทำ หรือคนยืนมองข้างทางที่อยากช่วยแต่ช่วยใครไม่ได้เลย

พรสวรรค์ของเธอส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่เธอเองก็เป็นคนหลายบุคลิก กอร์ดิเมอร์เป็นคนผิวขาว จบโรงเรียนประจำลัทธิแคธอลิก บิดาเป็นชาวยิวที่อพยพจากรอยต่อระหว่างลัตเวียกับลิธัวเนีย หลบหนีการกดขี่ของรัฐบาลรัสเซียภายใต้พระเจ้าซาร์มาสร้างตัวข้ามทวีปด้วยการเปิดร้านขายนาฬิกาและเครื่องประดับ มารดาเป็นชาวลอนดอนที่รักการอ่านเองและอ่านให้ลูกฟัง เธอโกหกเด็กหญิงนาดีนว่าหัวใจของเธออ่อนแอ เพื่อบังคับกลายๆ ให้เด็กน้อยสนใจอ่านหนังสือและลดการเต้นระบำ (ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เธอชอบ) คำโกหกนี้ส่งผลให้กอร์ดิเมอร์รักการอ่านและการเขียนตั้งแต่อายุยังน้อย

แม่ของกอร์ดิเมอร์มีส่วนอย่างมากในการบ่มเพาะความสนใจในความเป็นไปของสังคม เธอก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลสำหรับเด็กผิวดำเพราะหดหู่และคับข้องใจกับสถานการณ์ที่การเหยียดผิวยังเป็นเรื่องถูกกฎหมายและเกิดขึ้นทั่วไป ห้องสมุดท้องถิ่นในเมืองเล็กๆ ที่กอร์ดิเมอร์เติบโตขึ้นนั้นไม่อนุญาตให้คนผิวดำเข้าไปใช้

ความอยุติธรรมที่ฝังรากลึก รุนแรง และแทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของกอร์ดิเมอร์และชาวแอฟริกาใต้ทุกคน ในยุคที่คนผิวดำซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศถูกมองว่าเป็นเพียงลูกจ้างและคนรับใช้ของคนผิวขาว กลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีให้กับกอร์ดิเมอร์ถ่ายทอดในฉากที่ลืมไม่ลงจำนวนนับไม่ถ้วนในนิยายของเธอ เช่นเขียนบรรยายว่าครอบครัวชนชั้นกลางกำลัง “ปิกนิกในสุสานอันงดงามที่คนถูกฝังทั้งเป็น” (จาก The Lying Days ตีพิมพ์ปี 1953)

นวนิยายทุกเรื่องของกอร์ดิเมอร์โด่งดังในแง่ความสมจริงและเต็มไปด้วยรายละเอียดระดับสารคดีชั้นยอด เธอตีแผ่สังคมแอฟริกาใต้อย่างตรงไปตรงมา กระตุ้นอารมณ์ขันขื่นด้วยกฎหมายเหยียดผิว และกระตุกต่อมมโนธรรมของคนอ่านอย่างลืมไม่ลง แต่ก็ไม่เคยตัดสินหรือตีตราตัวละครของเธอว่าดีหรือเลว ปล่อยให้คนอ่านใช้วิจารณญาณและตีความเอาเอง ตัวละครของเธอล้วนโลดแล่นมีชีวิต ดิ้นรนที่จะกุมเส้นทางชีวิตของตัวเอง หากมักจะพ่ายแพ้ต่อแรงกดดันที่ต้านไม่อยู่ นิยายหลายเรื่องของเธอแสดงความไร้ประโยชน์ของแนวคิดเสรีนิยมที่ไร้การปฏิบัติจริงให้เห็นอย่างแจ่มชัดกว่างานวิชาการหนาหนัก กอร์ดิเมอร์ยืนหยัดยืนกรานตลอดชีวิตของเธอว่า ลัทธิเหยียดผิวไม่อาจกำจัดได้ด้วยคำพูดสวยหรู ไม่ว่าคำพูดเหล่านั้นจะออกมาจากปากนักเสรีนิยมผู้ปรารถนาดีสักเพียงใด

กอร์ดิเมอร์ไม่ใช่นักเขียนที่เฝ้าสังเกตุสังคมอยู่เงียบๆ และถ่ายทอดข้อสังเกตุออกมาเป็นตัวหนังสือ หากเธอกระโจนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อต้านการเหยียดผิวอย่างโดดเด่นและท้าทายอำนาจรัฐ ในยุคที่คนผิวขาวน้อยรายเชื่อว่าคนผิวดำควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกันกับตน น้อยรายกว่านั้นกล้ายอมรับในที่สาธารณะ และมีเพียงหยิบมือเดียวที่กล้าออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับคนผิวดำ เมื่อเพื่อนสนิทของเธอ สตรีผิวดำนาม เบ็ตตี ดู ตัวต์ (Bettie du Toit) ปัญญาชนหัวก้าวหน้าและนักต่อต้านลัทธิเหยียดผิวถูกรัฐบาลจับกุมในปี 1960 การเคลื่อนไหวทางการเมืองก็กลายเป็นเรื่องส่วนตัวสำหรับกอร์ดิเมอร์

เธอเข้าเป็นสมาชิกพรรค African National Congress (ANC ปัจจุบันเป็นพรรครัฐบาลแอฟริกาใต้) ที่ เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) วีรบุรุษผู้ปลดแอกประเทศจากลัทธิเหยียดผิว ทั้งที่สมัยนั้นพรรคนี้ยังเป็นพรรคนอกกฎหมาย ในนิยายยุคนั้นของเธอ กอร์ดิเมอร์มักจะเสียดสีเพื่อนร่วมชาติผิวขาวที่เห็นด้วยกับการต่อต้านลัทธิเหยียดผิวแต่เลือกที่จะยืนดูอยู่ขอบสนาม วิพากษ์วิจารณ์ ANC ตามอำเภอใจแทนที่จะเข้าพรรคเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน

กอร์ดิเมอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า วันที่เธอรู้สึกภูมิใจที่สุดในชีวิตไม่ใช่วันที่เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม (ซึ่งเธออุทิศเงินรางวัลส่วนหนึ่งให้กับกลุ่ม South African Congress of Writers ที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพของนักเขียนในแอฟริกาใต้) หากเป็นวันที่เธอขึ้นศาลในฐานะพยานปากเอกในปี 1986 ช่วยชีวิตสมาชิกพรรค ANC จำนวน 22 คนที่ถูกฟ้องในข้อหากบฏ

ตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่ระบอบเหยียดผิวเรืองอำนาจ (1948-1994) กอร์ดิเมอร์เจียดเวลานับพันชั่วโมงที่ไม่ได้เขียนหนังสือให้กับการร่วมเดินขบวนประท้วง กล่าวสุนทรพจน์ และเดินทางไปบรรยายทั่วโลกเพื่อสนับสนุนงานของ ANC และนักเคลื่อนไหว บ้านพักของกอร์ดิเมอร์ต้อนรับผู้มาเยือนจำนวนนับไม่ถ้วนที่เดินทางมาให้ข้อมูล วิงวอนขอความช่วยเหลือ หรือสารภาพบาปที่กระทำต่อเพื่อนร่วมชาติ ความที่งานเขียนของเธอและการดำเนินชีวิตของเธอแยกไม่ออกจากชีพจรของสังคมแอฟริกาใต้ ทำให้กอร์ดิเมอร์ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เครื่องวัดระบอบเหยียดผิวเดินได้” และ “มโนธรรมของแอฟริกาใต้”

กอร์ดิเมอร์ไม่เคยยอมอพยพไปอยู่ต่างแดนแบบเดียวกับชนผิวขาวรายได้ดีจำนวนมาก กระทั่งในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของระบอบเหยียดผิว – เกือบสามทศวรรษที่รัฐบาลสั่งแบนนิยายของกอร์ดิเมอร์หลายเล่ม สองเล่มในจำนวนนั้นคือ The Late Bourgeois World (โลกเก่าของกระฎุมพี) และ A World of Strangers (โลกของคนแปลกหน้า) ถูกแบนนานกว่าหนึ่งทศวรรษ กอร์ดิเมอร์บอกว่า เธอต้องอยู่ในแอฟริกาใต้และไม่หยุดเขียน เพราะมีนักเขียนผิวดำจำนวนมากที่ถูกรัฐบาลกดขี่หรือปิดปาก เธอรู้สึกว่าจะต้องทำหน้าที่ตีแผ่ความจริงแทนพวกเขา ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถ้าเอางานเขียนของกอร์ดิเมอร์มาเรียงตามลำดับเวลาที่ตีพิมพ์ จะพบว่าเรื่องราวเหล่านั้นสะท้อนประวัติศาสตร์อันปั่นป่วนผวนผันของสังคมแอฟริกาใต้ได้อย่างทรงพลังยิ่งกว่าหนังสือประวัติศาสตร์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เคยนิ่งดูดายและแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นความเดือดร้อน เป็นสังคมที่ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรม และเมื่อได้ประชาธิปไตยมาแล้วก็ยังต้องประคับประคองและเรียนรู้วิธีที่คนเห็นต่างจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสันติสุข นวนิยายของกอร์ดิเมอร์ทุกเล่มสะท้อนความเป็นนักมนุษยนิยมผู้อารีของเธอในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เธอบรรจงอธิบายเกี่ยวกับวิถีชีวิตของตัวละครที่ผันแปรตามสังคม ไม่ว่าจะเป็นมิตรภาพต้องห้าม จิตวิญญาณที่ถูกรัฐเซ็นเซอร์ หรือเครือข่ายขบวนการใต้ดินที่สมจริง

รางวัลโนเบลที่กอร์ดิเมอร์ได้รับในปี 1991 – ไม่ถึงปีหลังจากที่ เนลสัน แมนเดลา ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ฉายให้เห็นประเทศที่กำลังดิ้นรนเอาตัวรอดในยุคเปลี่ยนผ่านที่ทรมาน จากลัทธิเหยียดผิวเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยลุ่มๆ ดอนๆ ประวัติศาสตร์เปื้อนเลือดและหลากสีของของแอฟริกาใต้อาจอธิบายสีสันของวรรณกรรมแอฟริกาใต้โดยรวมได้ แต่ไม่มีนักเขียนชาวแอฟริกาใต้คนใดที่เปิดโปงโฉมหน้าและความซับซ้อนทางศีลธรรมของลัทธิเหยียดผิวได้อย่างชัดเจนและติดตาตรึงใจเท่ากับ นาดีน กอร์ดิเมอร์ – นักเขียนที่กล้าจินตนาการถึงสังคมหลังระบอบเหยียดผิวล่มสลาย และบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศเธอด้วยเรื่องแต่งได้อย่างเที่ยงตรงและลึกซึ้งกว่านักรัฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์.

ล้อมกรอบ

  • นาดีน กอร์ดิเมอร์ เกิดวันที่ 20 พฤศจิกายน 1923 ในเมืองสปริงส์ ประเทศแอฟริกาใต้
  • 1937: เรื่องสั้นเรื่องแรกได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Children’s Sunday Express ด้วยวัย 15 ปี
  • 1953: The Lying Days นวนิยายเรื่องแรก ได้รับการตีพิมพ์
  • 1954: แต่งงานกับ ไรน์โฮลด์ แคสสิเรอร์ (Reinhold Cassirer) นักค้าศิลปะ มีบุตร 2 คน
  • 1960: เริ่มร่วมกิจกรรมทางการเมืองเมื่อเพื่อนสนิทถูกตำรวจจับ และหลังเกิดโศกนาฏกรรมเมืองชาร์ปวิลล์ (Sharpeville massacre) ที่ตำรวจยิงใส่ผู้ชุมนุมประท้วงระบอบเหยียดผิว มีผู้ตาย 69 ราย
  • 1974: นวนิยายเรื่อง The Conservationist ชนะรางวัล Booker
  • 1987: ร่วมก่อตั้ง Congress of South African Writers แนวร่วมของนักเขียนที่จับมือกันรณรงค์ต่อต้านระบอบเหยียดผิว ทำวิจัยด้านนี้ และจัดการอบรมให้กับผู้ด้อยโอกาสที่อยากเขียนหนังสือ
  • 1990: เนลสัน แมนเดลา ผู้นำขบวนการต่อต้านระบอบเหยียดผิวถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ กอร์ดิเมอร์เป็นคนแรกๆ ที่เขาขอพบ
  • 1991: เป็นชาวแอฟริกาใต้คนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
  • เดินสายบรรยายและเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง และเป็นนักรณรงค์ในประเด็นเอชไอวี/เอดส์ในแอฟริกาใต้ และสิทธิเสรีภาพของนักเขียน

บางตอนจากนวนิยายปี 1991 เรื่อง My Son’s Story (เรื่องของลูกชายฉัน)

…ธรรมชาติของงานที่เธอทำนำไปสู่อารมณ์ขีดสุด งานเกิดจากวิกฤติ มีแต่เรื่องขัดจังหวะ ความไม่ต่อเนื่อง – สถานการณ์ในชีวิตของผู้คนที่ไม่อาจรับมือด้วยปฏิกิริยาที่ช่วยสร้างความต่อเนื่องในชีวิต การเฝ้าดูการพิจารณาคดีในศาลคือการ “เฝ้าดู” เส้นกราฟอารมณ์ที่ทะยานสู่ฟ้าและดิ่งลงเหว อารมณ์ที่ผลักดันให้ชายและหญิงออกไปกระทำการ ทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตราย เส้นโค้งชันและหุบเหวแห่งความกล้าหาญ การสูญเสียความกล้า การทรยศหักหลัง ความเจ้าเล่ห์ที่เรียกรู้ด้วยความกล้า ความกล้าที่เรียนรู้ด้วยวินัย และอารมณ์อื่นๆ ที่พุ่งเลยขีดความสามารถของกราฟทุกกราฟที่จะบันทึก กราฟที่เข็มจะลุกไหม้เป็นจุณในความร้อนแรงแห่งอารมณ์

บางตอนจากบทความปี 1988 เรื่อง “Where Do Whites Fit In?” (“คนขาวอยู่ตรงไหนในสังคม?”)

…ถ้าเราจะมีที่ทางอะไรในแอฟริกาใหม่ มันก็จะเป็นที่แบบข้างทาง ที่ไหนก็ได้ที่เราอยู่ได้ ตรงไหนก็ตามที่พวกเขาจะปล่อยให้เราอยู่ เราจะไม่อยู่สบายในสถานการณ์ใหม่นี้ และที่จริงมันจะอยู่ยากที่สุดสำหรับพวกเรา (รวมถึงตัวฉันเองด้วย) ที่อยากเป็นสมาชิกธรรมดาๆ คนหนึ่งของสังคมหลากสีและสีอะไรก็ได้ คนที่ถูกปลดปล่อยออกจากทั้งอภิสิทธิ์และความรู้สึกผิดของบาปสีขาวแห่งบรรพบุรุษของเรา