[UPDATE 15/6: อัพเดทสไลด์ถึงสถานการณ์ 1 เดือนหลังการสลายการชุมนุม]
ไปนำเสนอสไลด์สั้นๆ ในวงคุยที่กรุงเทพธุรกิจ เรื่อง “สื่อสารอย่างไรไม่พาสังคมวิกฤต” เกี่ยวกับ profile pictures ในเฟซบุ๊คที่เก็บรวบรวมมาเป็นเดือน กลับมาแล้วเพิ่มเติมเนื้อหาเล็กน้อย เอาขึ้น Slideshare & ลิ้งก์มาในบล็อกนี้เผื่อทุกท่านที่สนใจค่ะ —
สรุปประเด็นหลักที่นำเสนอในงาน –
- ความหลากหลายของคนเสื้อแดง/เสื้อเหลือง/เสื้อสีอื่น/ไม่มีเสื้อ เป็นสิ่งที่สื่อควรนำเสนอให้คนเห็น มองข้ามแกนนำ/นักวิชาการ/ผู้มีอำนาจ เพราะความขัดแย้งครั้งนี้เป็นความขัดแย้งทางความคิด ไม่มี “สี” ไหนถูกทุกเรื่อง 100% หรือผิด 100%, ต้องเข้าใจซึ่งกันและกันและตั้งสติ เปิดใจรับฟังความคิดต่าง
- ดังนั้น การทำงานของสื่อจึงควรเน้น “ประเด็น” มากกว่า “สีเสื้อ” ของคนพูด เพื่อสร้างเวทีการสนทนา (dialogue) แทนที่การทำข่าวแบบปิงปอง ช่วยสร้างบรรยากาศของการถกเถียงที่สร้างสรรค์ ในยุคที่เมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม ที่สุดท้ายแล้วมติ (consensus) ของเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะออกมาในแนว “จุดร่วม” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ไม่ใช่สิ่งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ (คือไม่มีฝ่าย “ชนะ” หรือฝ่าย “แพ้”)
- สื่อกระแสหลักควรเน้นสิ่งที่ใช้ทักษะ/ทุน/ความสามารถที่คนธรรมดาทำไม่ได้ เช่น การทำข่าวเชิงลึก การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้านและสมดุล ในยุคที่คนธรรมดาบนเน็ตเป็น “สื่อ” เองได้ในแง่ของการแสดงออกและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างรวดเร็ว
- สื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะองค์กรวิชาชีพ ควรเริ่มพิจารณาว่าควรขยายขอบเขต/บทบาทมาครอบคลุมสื่อใหม่หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การปิดเว็บไซต์ ฯลฯ
- ไม่เป็นไรถ้าสื่อกระแสหลักจะ “เลือกข้าง” ตราบใดที่มีความเป็นมืออาชีพ และไม่ข้ามเส้นจาก advocacy (การรณรงค์) ไปสู่ propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) เพราะ propaganda กำลังทำให้สังคมวิกฤต ผู้คนแตกแยกกันมากขึ้น