เหล่าอเมริกันกูรูผู้อดไม่ได้ที่จะกล่าว “ปัจจิมกถา” ว่าด้วยยูเครน

แปลจากบทความ The American Pundits Who Can’t Resist “Westsplaining” Ukraine โดย Jan Smoleński และ Jan Dutkiewicz

4 มีนาคม 2022

ต้นฉบับ: https://newrepublic.com/article/165603/carlson-russia-ukraine-imperialism-nato

จอห์น เมียร์ไชเมอร์ (John Mearsheimer) และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายระหว่างประเทศคนอื่นๆ กำลังมองการรุกรานยูเครนของรัสเซียเสมือนมองเกมกระดาน Risk

จอห์น เมียร์ไชเมอร์ ในปี 2019

YASIN OZTURK/ANADOLU AGENCY/GETTY IMAGES

สงครามคือนรกสำหรับทุกคนในนั้น และมันก็เป็นเสียงเรียกสู่สนามประลองสำหรับคนที่มีความเห็นแต่ไม่อยู่ในสงคราม คาดเดาได้แต่ก็น่าเศร้าใจอยู่ดี ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ [2022] เมื่อรัสเซียบุกยูเครน ระหว่างที่การสู้รบบนพื้นดินทวีความแข็งกร้าว การยิงความคิดเห็นเกี่ยวกับสงครามนี้ก็ยกระดับขึ้นเช่นกัน ในสายตาของนักวิชาการจากยุโรปตะวันออกอย่างพวกเราสองคน น่าตกใจมากที่ได้เฝ้าดูเหล่านักวิชาการและกูรูจากตะวันตก ยอมลงจากหอคอยงาช้างมาอธิบายสถานการณ์ในยูเครนและในยุโรปตะวันออก ในทางที่ไม่แยแสต่อเสียงจากภูมิภาคนี้เลย มองว่า[ยุโรปตะวันออก]เป็นวัตถุแห่งประวัติศาสตร์แทนที่จะเป็นตัวแสดง หรือไม่ก็อ้างว่าพวกเขาเข้าใจตรรกะและแรงจูงใจของรัสเซียอย่างเต็มเปี่ยม แวดวงถกเถียงออนไลน์ในยุโรปตะวันออกเริ่มคิดคำศัพท์ใหม่ – westplaining (“ปัจจิมกถา”) ขึ้นมาอธิบายปรากฎการณ์ที่คนจากโลกแองโกล-แซกซอน เอาวิธีวิเคราะห์และการชี้นิ้วทางการเมืองของพวกเขามาใช้กับภูมิภาคนี้ ปัญหาของปัจจิมกถานั้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนเป็นพิเศษเมื่อกูรูอธิบายบทบาทของการขยายนาโต (NATO) ไปทางตะวันออกว่า เป็นปัจจัยที่จุดประกายให้รัสเซียโจมตี[ยูเครน]

ยุโรปตะวันออกนั้นซับซ้อนอย่างน่าปวดหัว มันไม่มีนิยามที่ชัดเจนเลยด้วยซ้ำ กินอาณาบริเวณตั้งแต่รัฐบอลติกอย่าง เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิธัวเนีย พาดผ่าน (ขึ้นอยู่กับว่าคุณถามใคร) โปแลนด์ เบลารุส สโลวาเกีย สาธารณรัฐเชค และฮังการี จากนั้นก็เลี้ยวซ้ายไปรวม มอลโดวา วกลงทางใต้ไป โรมาเนีย และบัลกาเรีย และบางทีอาจจะรวมประเทศอื่นๆ อีก ภูมิภาคนี้แทบไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยวซึ่งกันละกัน มันไม่ได้มีเอกภาพทางวัฒนธรรม ศาสนา ภาษา เชื้อชาติ ระบอบการเมือง หรือแม้แต่ภูมิศาสตร์ (กรีซกับฟินแลนด์อยู่ทางตะวันออกกว่านี้อีก แต่ไม่เคยถูกเรียกว่าอยู่ในยุโรปตะวันออก จอร์เจียอยู่ห่างจากประเทศอื่นแต่ก็ถูกนับรวมตลอดมา ส่วนสมาชิกภาพในแง่แนวคิดของยูเครน และตัวตนของรัฐยูเครนเอง คือเดิมพันในข้อขัดแย้งล่าสุดนี้)

ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่ทำให้ภูมิภาคนี้สามัคคีกัน สิ่งนั้นก็คือพิกัดอันโชคร้ายที่ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นของเล่นของอาณาจักรต่างๆ พรมแดนและนิยามถูกสร้างและรื้อสร้างหลายครั้งตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ครั้งล่าสุดผ่านการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่นิยามยุโรปตะวันออกก็คือ มันถูกนิยามจากภายนอก ดังที่ ปิโอเตอร์ ทเวอร์ซิซ (Piotr Twardzisz) นักภาษาศาสตร์ชาวโปแลนด์ กล่าวไว้ว่า “ในยุโรปตะวันออกเองมียุโรปตะวันออกน้อยมาก มันมีมากกว่านั้นเยอะในยุโรปตะวันตก หรือตะวันตกเป็นการทั่วไป”

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักกล่าวปัจจิมกถาในจอโทรทัศน์อเมริกันและหน้าบทความของอเมริกาหลายคนเสนอว่า นาโตผลักให้ปูตินแว้งกัดเหมือนสัตว์ที่ถูกต้อนเข้ามุม ด้วยการยอมรับประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกของนาโต พวกเขาอธิบายเรื่องนี้ในแนวนี้ – หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย นาโตก็ให้สัญญากับรัสเซียว่าจะไม่ขยาย แต่ในปี 1997 นาโตกลับขยายสมาชิก และในปี 2007 ก็เปิดทางให้ขยายเข้าสู่จอร์เจียและยูเครน โดยไม่แยแสต่อเสียงบ่นของรัสเซีย รัสเซียถูกสถานการณ์บังคับให้ตอบโต้ ดังนั้นจึงไปรุกรานและยึดครองจอร์เจียในปีนั้น หลังจากนั้น เมื่อการชุมนุมประท้วงที่มีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน โค่นประธานาธิบดียูเครน วิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) เพราะไม่พอใจที่เขาละทิ้งเส้นทางโปรตะวันตกของยูเครน ปูตินก็ตอบโต้อีกครั้ง คราวนี้ด้วยการเข้าไปรุกรานและยึดครองดอนบาสกับไครเมียในปี 2014 และวันนี้ปูตินก็พยายามยึดครองยูเครน เพื่อกันอิทธิพลของอเมริกาในยุโรปตะวันออก

เรื่องราวแนวนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะมันมาจากผู้ที่ว่ากันว่า “มองโลกตามจริง” (realist) เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้รับการหล่อหลอมทางวิชาการในสมัยสงครามเย็น ยกตัวอย่างเช่น จอห์น เมียร์ไชเมอร์ (John Mearsheimer) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก อ้างเมื่อไม่นานมานี้ในวารสาร The New Yorker ว่า การขยายของนาโตถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ส่งผลให้รัสเซียตอบโต้อย่างรุนแรง เราต้องให้เครดิตเมียร์ไชเมอร์ในแง่ที่ว่า เขายอมรับว่ามหาอำนาจเปรียบเสมือนสัตว์นักล่า ไม่ยอมให้ประเทศเพื่อนบ้านขนาดเล็กมีอิสรภาพใดๆ ที่จะดำเนินนโยบายที่พวกเขาตัดสินใจเลือกเอง แต่การ “อ่าน” เรื่องราวแบบนี้สรุปว่า การที่รัสเซียแว้งกัด พยายามปกป้องขอบเขตอิทธิพลของตนเองนั้น เป็นความผิดของนาโต นี่ไม่ใช่มุมมองใหม่แต่อย่างใด มันคือจุดยืนที่ปูตินเองอธิบายในสุนทรพจน์ที่เขากล่าวในงานประชุมความมั่นคงมิวนิค เมื่อปี 2007

จุดยืนนี้สื่อนัยชัดเจนว่าควรทำอะไร – นาโตควรเลิกความพยายามที่จะจีบให้ประเทศต่างๆ อย่างยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และประเทศอย่างยูเครนก็ควรเลิกล้มความใฝ่ฝันที่จะเป็นสมาชิกของนาโต หรือแม้แต่สหภาพยุโรปด้วย ถ้าหากว่าพวกเขาอยากมีชีวิตรอดในฐานะรัฐชาติ พูดอีกอย่างก็คือ ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกควรตระหนักว่าพวกเขาเป็นพลเมืองชั้นสองในประชาคมโลก ยอมรับบทบาท “กันชนที่เป็นกลาง” (neutral buffer) ทางภูมิรัฐศาสตร์ กั้นกลางระหว่างอาณาจักรอเมริกันกับอาณาจักรรัสเซีย

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อถกเถียงนี้ได้รับการตอบรับตลอดเส้นไม้บรรทัดทางการเมือง ทำให้ เท็ด กาเลน คาร์เพนเตอร์ (Ted Galen Carpenter) กูรูสายอิสรนิยมจากสถาบันคาโท กลายเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของ วูลฟ์กัง สตรีก (Wolfgang Streeck) ปัญญาชนฝ่ายซ้ายชาวเยอรมัน ที่เขียนว่า “สงครามแย่งชิงยูเครน” ระเบิดขึ้นจาก “การเผชิญหน้าจ้องตาเขม็งชนิดไม่ยอมประนีประนอม ของทั้งสหรัฐอเมริกาและยูเครน” (สงครามแย่งชิงยูเครน? ในเมื่อผู้รบในสนามนี้มีแต่ผู้รุกรานจากรัสเซีย และผู้ปกป้องตัวเองชาวยูเครน นัยของคำคำนี้ที่ว่า นี่คือการต่อสู้ยื้อแย่งอิทธิพลระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย ก็เป็นนัยที่ไร้สาระมาก) ข้อถกเถียงนี้สร้างความสามัคคีระหว่าง เจฟฟรีย์ แซกส์ (Jeffrey Sachs) นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งน่าจะหายจากอาการเมาหมัดกับลัทธิเสรีนิยมใหม่แล้ว แต่ยังไม่สร่างเมาจากอาการชอบบอกยุโรปตะวันออกว่าต้องทำอะไร กับ ยานนิส วารูฟาคิส (Yannis Varoufakis) นักการเมืองชาวกรีกผู้ต่อต้านเสรีนิยมใหม่ ทั้ง ทักเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) แห่ง Fox News และ มารีอานา มัซซูคัตโต (Mariana Mazzucatto) นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายก้าวหน้า ต่างก็เปรียบเทียบสถานการณ์นี้ว่า เหมือนกับถ้าจีนไปหว่านล้อมให้เม็กซิโกเข้าร่วมแนวร่วมความมั่นคงที่ต่อต้านอเมริกา ส่วน โอเวน โจนส์ (Owen Jones) คอลัมนิสต์แนวประชานิยม ก็เสนอว่าสงครามครั้งนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเพียงแต่มี “ความพยายามที่จะสร้างพื้นที่กันชนที่เป็นกลาง ภายหลังสงครามเย็น” (ทวีตชิ้นนี้หลังจากนั้นถูกลบไปแล้ว และโจนส์ก็กล่าวขอโทษที่เขาละเลยสิทธิของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่กันชนที่ว่า และขอโทษที่ “พูดจาเหมือนนักล่าอาณานิคมที่เล่นเกมกระดาน Risk กับชาวยุโรป”) นัยที่ว่านี้อยู่ในแถลงการณ์หูหนวกจากนักสังคมนิยมประชาธิปไตยแห่งอเมริกา เรียกร้องให้ยุติสงครามแต่ในขณะเดียวกันก็โทษ “ลัทธิขยายอิทธิพลแบบนักล่าอาณานิคม” (imperialist expansionism) ว่านำไปสู่สงคราม

เวลาที่นักคิดฝ่ายซ้ายวิจารณ์การขยายตัวของนาโต พวกเขาอาจคิดว่ากำลังแก้ไขอคติของตัวเอง หรืออคติของเพื่อนพลเมือง ในฐานะพลเมืองของมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมซึ่งมักทำตัวไม่ดี พวกเขาอาจคิดว่ากำลังรับมือกับข้อครหาของมรดกที่รับมาอย่างเพียงพอ ด้วยการพุ่งเป้าการวิพากษ์ของพวกเขาไปยังสิ่งที่พวกเขามองว่า คือลัทธิขยายอิทธิพล  (expansionism) ของตะวันตก แต่ในความเป็นจริง พวกเขากำลังสืบทอดความผิดแบบเจ้าอาณานิคมต่อไป ด้วยการปฏิเสธว่าประเทศและประชาชนของประเทศที่อยู่นอกโลกตะวันตก มีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเองในสนามภูมิรัฐศาสตร์ ความย้อนแย้งก็คือ ปัญหาของลัทธิขยายอิทธิพลแบบอเมริกันนั้นอยู่ที่ว่า แม้แต่คนที่ท้าทายความเชื่อรากฐานของลัทธินี้ และประณามลัทธิสร้างความเข้มแข็งทางทหารของอเมริกา สุดท้ายก็มักจะสร้างลัทธิที่ว่าอเมริกาเป็นข้อยกเว้น (American exceptionalism) ด้วยการวางสหรัฐอเมริกาไว้ที่ใจกลาง ในบทวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพวกเขา เกรกอรี อาฟิโนเจนอฟ (Gregory Afinogenov) กล่าวว่า “การมองเห็นแต่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรของอเมริกาว่าเป็นผู้เล่นหลัก ก็คือลัทธิคลั่งท้องถิ่น (provincialism) ชนิดหนึ่ง” การพูดถึงยุโรปตะวันออก และชาวยุโรปตะวันออก โดยไม่ฟังเสียงของคนในท้องถิ่นหรือไม่พยายามเข้าใจความซับซ้อนของภูมิภาคนี้ ก็คือการมองแบบเจ้าอาณานิคม ประเด็นเรื่องนาโตบอกอะไรๆ เราได้มากเป็นพิเศษ

แน่นอน นาโตและนโยบายระหว่างประเทศของอเมริกามีเรื่องราวมากมายให้วิจารณ์ รวมถึงการยิงระเบิดถล่มยูโกสลาเวียในปี 1999 มาชา เกสเซน (Masha Gessen) แห่ง The New Yorker  ชี้ว่า เหตุการณ์นี้ถูกปูตินใช้อ้างความชอบธรรมในการขยายอิทธิพลของเขาเอง แต่นักวิพากษ์ที่เพ่งแต่ความผิดของนาโตจนแทบไม่มองอย่างอื่นนั้น  ละเลยคำถามที่ใหญ่กว่าเกี่ยวกับสิทธิของรัฐชาติยุโรปตะวันออกในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง รวมถึงสิทธิในการเข้าร่วมกับแนวร่วมทางทหาร ปัจจิมกถาละเลยประวัติศาสตร์ของยุโรปตะวันออก ละเลยมุมมองของชาวยุโรปตะวันออก และเลือกเฟ้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขยายของนาโต

ลัทธิขยายอิทธิพลและลัทธิเสริมสร้างความเข้มแข็งทางทหารของสหรัฐอเมริกาสมควรถูกวิพากษ์ก็จริง แต่สิ่งที่ควรตระหนักไม่แพ้กันก็คือ ในยุโรปตะวันออก ภัยคุกคามความอยู่รอดไม่ใช่นาโตหรือสหรัฐอเมริกา ในศตวรรษที่ 20 ประสบการณ์สร้างชาติของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้คือการควบคุมของโซเวียต ทั้งการควบคุมทางตรงและทางอ้อม รัฐชาติอย่าง ฮังการี เชโกสโลวาเกีย หรือโปแลนด์ แม้ว่าจะมีเอกราชบนกระดาษ ต่างไม่มีอิสระในการกำหนดนโยบายของตัวเอง ไม่ว่านโยบายในประเทศหรือต่างประเทศ ฮังการีและเชโกสโลวาเกียถูกสหภาพโซเวียตบุก เมื่อสองประเทศนี้พยายามออกห่างจากเส้นทางที่มอสโคว์กำหนดมาให้ รัฐบาลของโปแลนด์ที่โซเวียตส่งมา กดขี่ปราบปรามการประท้วงของมวลชนอย่างรุนแรง ในปี 1956 สองครั้งในทศวรรษ 1970 และในปี 1981 ยูเครนไม่มีแม้แต่สิทธิหรูหราที่จะประกาศตัวเป็นเอกราช การต่อต้านของชาวยูเครนที่ถูกบังคับให้ทำนารวมทำให้พวกเขาต้องจ่ายแพงมาก – โฮโลโมดอร์ ภาวะอดอยากรุนแรงที่ถูกออกแบบอย่างจงใจ ฆาตกรรมคนไป 3-12 ล้านคน เสียงเรียกร้องอยากเข้าเป็นสมาชิกนาโตและสหภาพยุโรปของยุโรปตะวันออกนั้น มาจากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของการถูกกดขี่แบบนี้ บทวิเคราะห์ใดๆ ก็ตามที่ไม่พูดถึงมันย่อมเป็นบทวิเคราะห์ที่อย่างดีที่สุดก็ไม่ครบถ้วน อย่างแย่ที่สุดก็เป็นเท็จ

ทั้งหมดนี้นำเรามาสู่ประเด็นที่สอง นั่นคือ นาโตไม่ได้ ขยาย เข้าไปใน “ยุโรปตะวันออก” สาธารณรัฐเชค โปแลนด์ และฮังการี พยายามสมัครเป็นสมาชิกนาโตในปี 1999 ส่วนกลุ่มประเทศบอลติก รวมถึงประเทศอื่นๆ พยายามสมัครเป็นสมาชิกในปี 2004 นี่ไม่ใช่แค่การเล่นคำ ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่เรากล่าวถึงข้างต้น ตะวันตกคือทิศทางทางการเมืองที่คนอยากได้ อยากได้เพราะเชื่อมโยงกับความเจริญ ประชาธิปไตย และเสรีภาพ ต่อให้ประชาธิปไตยเสรีนิยมทุนนิยมแบบตะวันตกจะมีข้อจำกัดเพียงใด และไม่ว่าการลงมือใช้แบบจำลองนี้ในยุโรปตะวันออกจะมีข้อจำกัดเพียงใดก็ตาม ชาวยุโรปตะวันออกตกเป็นฝ่ายตั้งรับลัทธิล่าอาณานิคมของรัสเซียมานาน พวกเขามองว่าการเข้าเป็นสมาชิกของนาโตคือหนทางที่จะทำให้อธิปไตยของพวกเขามั่นคง พูดอีกอย่างก็คือ นาโตไม่มีทาง “ขยาย” เข้าไปในยุโรปตะวันออก ถ้าหากว่าชาติต่างๆ ในยุโรปตะวันออกไม่อยากเข้าและไม่พยายามเข้าอย่างแข็งขัน

ข้อมูลปี 2020 จากศูนย์วิจัยพิว ชี้ให้เห็นว่าชาวยุโรปตะวันออกโดยรวมมองนาโตในแง่ดี ชาวเชก 53 เปอร์เซ็นต์มีทัศนคติเชิงบวกต่อนาโต เช่นเดียวกับชาวลิธัวเนีย 77 เปอร์เซ็นต์ ผู้สนับสนุนนาโตที่กระตือรือร้นที่สุดคือชาวโปแลนด์ ด้วยเสียงสนับสนุน 88 เปอร์เซ็นต์ ส่วนชาวยูเครน 53 เปอร์เซ็นต์ก็มองนาโตในแง่บวก เทียบกับ 23 เปอร์เซ็นต์ที่มองในแง่ลบ บางคนอาจบอกว่าเสียงสนับสนุนนี้ถูกหลอกให้เข้าใจผิด คิดสั้น หรืออวยตะวันตกเกินไป นักวิพากษ์จากยุโรปตะวันออกบางคนก็คิดเช่นนั้น แต่เสียงสนับสนุนเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้เลย และปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่าเกิดจากความกลัว กลัวสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครนทุกวันนี้

ข้อนี้สำคัญมากเมื่อเราพยายามทำความเข้าใจกับสงครามปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะอยากวิเคราะห์มันว่าเป็น “สงครามตัวแทน” (proxy war) ของการต่อสู้ระหว่างนาโตกับรัสเซียมากเพียงใด ยูเครนก็เป็นผู้เล่นที่มีเจตจำนงของตัวเองในกระบวนการประวัติศาสตร์ครั้งนี้ หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ยูเครนพยายามยืนยันและปกป้องเส้นทางสู่ตะวันตกของประเทศหลายครั้ง รวมทั้งในปี 2004 และ 2014 ซึ่งทั้งสองครั้งก็เผชิญกับแรงต่อต้านมหาศาลจากรัฐบาลรัสเซีย ไม่มีประโยชน์ที่จะปฏิเสธว่าตะวันตกแทรกแซงในเหตุการณ์เหล่านี้ แต่รัสเซียก็ทำเหมือนกัน

ผู้เชี่ยวชาญบางคนอาจเถียงว่าประวัติศาสตร์นั้นน่าเศร้า แต่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับภาพรวมทุกวันนี้ ความกังวลเรื่องความมั่นคงของรัสเซียคือสิ่งที่ตะวันตกควรรับมืออย่างจริงจังกว่านี้ในอดีต ไม่ว่าความกังวลนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรืออยู่ในจินตนาการ ถึงแม้ว่าคำอธิบายนี้จะฟังดูเรียบง่าย ในแง่ตรรกะมันก็ฟังไม่ขึ้นเลย  ความคิดนี้ตั้งอยู่บนฉากทัศน์ที่ว่า นาโตไม่ขยาย และรัสเซียไม่โจมตีจอร์เจียในปี 2008 และไม่โจมตียูเครนในปี 2014 และอีกครั้งในปี 2022 ซึ่งไม่ใช่ฉากทัศน์ที่เป็นความจริง ในขณะเดียวกันความคิดนี้ก็ไม่ได้พิจารณาฉากทัศน์อื่น – นาโตไม่ขยาย และรัสเซียก็รุกรานประเทศเพื่อนบ้านอยู่ดี เราไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ในกรอบคิดแบบปัจจิมกถา ความกังวลของรัสเซียได้รับการยอมรับ แต่ความกังวลของยุโรปตะวันออกไม่ได้รับการยอมรับ ราวกับเป็นกระจกสะท้อนข้ออ้างของรัสเซียว่า “ระบอบของยูเครนปัจจุบันไร้ซึ่งอธิปไตยใดๆ” ซึ่งแน่นอนว่าทำงานอยู่ภายในกรอบคิดที่ตกทอดเป็นมรดกมาจากโลกสองขั้วสมัยสงครามเย็น ยุโรปตะวันออกคือสิ่งที่อธิบายได้ แต่ไม่คุ้มที่จะมาหารือรับฟัง

ถ้าหากว่านักปัจจิมกถาจะวิพากษ์นาโตและการขยายของนาโตอย่างตรงไปตรงมาทางวิชาการ ซึ่งก็รวมถึงการวิพากษ์สงครามในยูเครนด้วย พวกเขาก็ต้องวิพากษ์นักการเมืองยุโรปตะวันออกและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในยุโรปตะวันออกที่อ้าแขนรับอุดมการณ์ประชาธิปไตย และการกำหนดเจตจำนงของตัวเอง มาจากตะวันตก (ถึงแม้บางกรณี อย่างโปแลนด์และฮังการี การอ้าแขนรับนี้จะไม่สม่ำเสมอ) พวกเขาจะต้องยอมรับว่าความคิดของพวกเขาว่าจะยุติความขัดแย้งนี้อย่างไร – การเรียกร้องการทูตอย่างคลุมเครือ หรือแม้แต่บอกให้ต่อต้านนาโต แม้ในขณะที่ชาวยูเครนในประเทศเรียกร้องให้นาโตยื่นมือช่วยเหลือ – ต้องยอมรับว่าความคิดเหล่านี้อาจสะท้อนค่านิยมของอเมริกา ค่านิยมที่อยากหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือต่อต้านนาโต มากกว่าค่านิยมของชาวยูเครนเอง

ผลลัพธ์ก็คือนัก “มองโลกตามจริง” กร้านโลกทั้งหลายไม่ได้มองโลกตามความเป็นจริง แต่มองตามที่โลกปรากฎในทฤษฎีของพวกเขา และแย่กว่านั้นคือ ลัทธินานาชาตินิยม (internationalism) ของตะวันตก ซึ่งอ้างว่ายืนหยัดเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ด้วยภราดรภาพ แท้จริงทำในสิ่งตรงกันข้าม มันขอให้ผู้ถูกกดขี่อ้าปากพูด เพียงเพื่อจะละเลยพวกเขาเมื่อขอความช่วยเหลือทางทหาร หรือขอมีสิทธิกำหนดอนาคตของตัวเอง

แน่นอน ไม่มีเสียงจากยุโรปตะวันออกเพียงหนึ่งเดียว และเราก็จะไม่แสร้งว่าพูดแทนทั้งภูมิภาค เราไม่อยากเสนอข้อเสนออะไรของเราเองด้วย ข้อเสนอที่ดีกว่าที่เรามีปัญญาเสนอ ถูกเสนอโดยนักคิดฝ่ายซ้ายจากยูเครน ลิธัวเนีย และโปแลนด์ไปแล้ว แต่การวิเคราะห์ความขัดแย้งในปัจจุบันจะต้องไปไกลกว่ากรอบคิดที่มอบเสียงและอำนาจตัดสินใจให้กับตะวันตกและรัสเซียเพียงแค่นั้น ต้องเริ่มฟังเสียงของชาวยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะในเมื่อยุโรปตะวันออกคือคนที่จะต้องรับมือกับผลพวงจากสงครามนี้ไปอีกนานหลายปี

ยาน สโมเลนสกี (Jan Smoleński) สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยวอร์ซอว์ และทำปริญญาเอกที่  New School for Social Research. เขาเขียนบทความลง Gazeta Wyborcza, Rzeczpospolita, Tygodnik Powszechny, และ Krytyka Polityczna.

ยาน ดุทคีไวซ์ (Jan Dutkiewicz) @jan_dutkiewicz นักวิชาการที่มหาวิทยาลัยคอนคอร์เดียในมอนทรีออล และเป็น visiting fellow ในโครงการ Animal Law and Policy Program ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด