จักรวาลกระดานเดียว ฉบับปรับปรุง

จักรวาลกระดานเดียว ฉบับปรับปรุง (Board Game Universe v2)

สำนักพิมพ์ Salt Publishing, กรกฎาคม 2564

คำนำผู้เขียน

“การเล่น” อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มานานแสนนาน แต่ผู้ใหญ่จำนวนมากยังไม่วายมอง “เกม” ว่าเป็นเรื่องของเด็ก

การเห็นเด็กจับเจ่าเฝ้าจอคอมพิวเตอร์ เล่นเกมข้ามคืนในเน็ตคาเฟ่คงไม่ทำให้ใครแปลกใจ

แต่การเห็นผู้ใหญ่วัยทำงานหรือวัยกลางคนจับกลุ่มกันรอบโต๊ะ ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดหรือกระโดดโลดเต้นหน้ากระดานไม้หรือกระดาษหลากสี ไร้ซึ่งชิ้นส่วนดิจิทัลใดๆ อาจทำให้หลายคนเหลียวหลังและเดินมามองด้วยความอยากรู้อยากเห็น ว่าเล่นอะไรกันอยู่

ส่วนใหญ่จะถามว่า “เล่นอะไรน่ะ เหมือนเกมเศรษฐีปะ”

คนถามส่วนใหญ่ถามไปก็อมยิ้มไป คงเพราะอดงงไม่ได้ว่า ในยุค Internet of Things ที่เสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ต่อเน็ตตลอดเวลา รถยนต์กำลังจะขับตัวเองได้ ทำไมแกยังมานั่งเล่นกระดาษบ้านๆ อยู่อีก

ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้ยินคำถามนี้ ก็รู้สึกเหมือนกับเวลาขับรถยนต์แล้วมีคนมาทักว่า “นี่ๆ ขับอะไรอยู่น่ะ เหมือนเกวียนป่ะ”

“เกมกระดาน” หรือบอร์ดเกมสมัยใหม่ แตกต่างจากเกมครึ่งศตวรรษก่อนหน้าอย่างเกมเศรษฐีหรืองูตกบันได พอๆ กับที่รถสปอร์ตแตกต่างจากเกวียนเทียมลาเมื่อหลายร้อยปีก่อน

เล่นได้เหมือนกัน แต่ความสนุกและความเจ๋งแตกต่างกันหลายขุม

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือแนะนำบอร์ดเกม หากแต่เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากความรัก โดยนักเล่นเกมที่กลายมาเป็นนักสะสมบอร์ดเกม และอยากโพนทะนาให้คนอื่นรู้ว่า บอร์ดเกมสมัยใหม่นั้น “สนุก” และ “เจ๋ง” ได้ขนาดไหน

โดยเฉพาะเวลาที่มัน “เล่าเรื่อง” ที่เหล่าคนเล่นจะตราตรึงไปนานข้ามเดือน ข้ามปี หรืออาจแม้แต่ชั่วชีวิต ถ้าหากว่าเกมนั้นเล่นแล้ว “ฟิน” มากๆ

ผู้เขียนชวนท่านมาทำความเข้าใจกับวิธีเล่าเรื่องของบอร์ดเกม ด้วยการ “แงะ” กลไกและกติกาขึ้นมาดู

คล้ายกับถ้าเราอยากจะรู้ว่า อะไรที่ทำให้รถคันนี้วิ่งเร็วและแรง ก็หนีไม่พ้นต้องเปิดฝากระโปรงขึ้นมาศึกษาเครื่องยนต์และกลไกข้างใน

หวังว่าเรื่องราวต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านลองไปเล่นบอร์ดเกม และถ้าใครเล่นบอร์ดเกมอยู่แล้ว ก็อาจมองเห็นว่าจักรวาลของบอร์ดเกมนั้นกว้างไกลเพียงใด

หนังสือ “จักรวาลกระดานเดียว” ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนักเล่นบอร์ดเกม และคนที่ไม่เคยเล่นแต่สนใจโลกของบอร์ดเกม

เวลาผ่านไปห้าปี ปัจจุบัน พ.ศ. 2564 บอร์ดเกมเป็นที่รู้จักของคนไทยมากขึ้นมาก และกลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมสังสันทน์ยอดนิยม วัดได้จากจำนวนร้านบอร์ดเกม บอร์ดเกมคาเฟ่ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ ความแพร่หลายของเกมแปลภาษาไทยซึ่งมีจำนวนนับร้อยเกมและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความคึกคักของวงการนักออกแบบเกมชาวไทย ที่หลายคนเริ่มออกผลงานอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ สำหรับการจัดทำฉบับปรับปรุงใหม่ นอกจากจะเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับเกมใหม่ๆ ที่ผู้เขียนโปรดปรานและวางขายใน ผู้เขียนคิดว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการเพิ่มเรื่องราวเกี่ยวกับ “วงการบอร์ดเกมไทย” ซึ่งกำลังเติบโตอย่างน่าตื่นเต้น เข้ามาเป็น Phase 4 หรือภาคสุดท้ายของหนังสือ

ผู้เขียนขอขอบคุณผองเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ Salt ที่สนับสนุนการจัดพิมพ์ฉบับปรับปรุง คุณสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ที่กรุณาเปิดคอลัมน์ “เล่นจนเป็นเรื่อง” จนเนื้อหาส่วนหนึ่งได้มาปรากฎในหนังสือเล่มนี้ ขอบคุณ ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการเล่ม และทีมงานสำนักพิมพ์แซลมอนทุกท่าน สำหรับความพิถีพิถันและเอื้อเฟื้อในการจัดทำรูปเล่ม และตีพิมพ์ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของหนังสือเล่มนี้

ขอบคุณร้าน Polar Play Games, Battlefield Bangkok และลานละเล่น ร้านบอร์ดเกม 3 ร้าน 3 สไตล์ ทั้งในและใกล้กรุงเทพฯ ที่เปิดโลกของบอร์ดเกมให้กับผู้เขียนนานนับทศวรรษมาแล้ว

เหนือสิ่งอื่นใด บอร์ดเกมไหนก็ตามย่อมไม่มีวันเล่าเรื่องอะไรที่น่าจดจำได้ ถ้าหากไม่ได้ “ก๊วนเกม” ที่น่ารัก นอกเกมยังนับเพื่อนนับญาติกันได้ ไม่ว่าในเกมจะถูกกลั่นแกล้งอย่างโหดร้ายสักปานใด

ผู้เขียนเชื่อว่า ลักษณะของก๊วนเกมที่ดี คือ สมาชิกทุกคนควรต้อง “ซื่อสัตย์สุจริต กฎผิดก็ให้อภัย และมีน้ำใจนักกีฬา”

ข้อแรกคือซื่อสัตย์นั้นตรงไปตรงมา ใครขี้โกง (ไม่นับการโกงที่ถูกกติกา เพราะบางเกมยอมให้โกง) ย่อมทำให้ประสบการณ์เล่นเกมไม่สนุก เพราะทุกคนรู้สึกว่าถูกหลอกอย่างไม่ยุติธรรม

ข้อสองคือกฎผิดก็ให้อภัยก็สำคัญ เพราะผู้เขียนเป็นคนอ่านกฎประจำก๊วน แต่ด้วยความใจร้อนอยากเล่น หลายครั้งจะเริ่มเล่นโดยไม่อ่านกฏอย่างละเอียดก่อน เล่นไป 3 หรือ 5 ตาถึงจะเจอว่ากติกาผิด แต่หลังๆ ก็ดีขึ้นมากแล้ว ด้วยชั่วโมงบินการเล่นทำให้เพื่อนในก๊วนรู้สึกตะหงิดๆ และจะทักท้วงขึ้นมาทันทีที่คิดว่ากฎน่าจะผิด เพราะการเล่นไม่ราบรื่น

เพื่อนๆ ให้อภัยที่บางครั้งกฎจะผิด เพราะตัวเองขี้เกียจอ่านกฎ (ฮา)

ข้อสุดท้ายคือน้ำใจนักกีฬานั้นความหมายง่ายๆ คือ แพ้ก็ไม่ถือโทษโกรธเคือง ชนะก็ไม่ลิงโลดเยาะเย้ยคนอื่นข้ามปี (แค่ข้ามเดือนเท่านั้นเอง)

ขอขอบคุณเพื่อนร่วมก๊วนทุกรุ่นทุกคนที่ทำให้การเล่นบอร์ดเกมของผู้เขียนเป็นไปอย่างรื่นรมย์ สนุกสนาน และมีเรื่องเล่าแทบทุกครั้งที่เล่น – พี่อ้อย “แม่มดฮิปปี้” พี่หนุ่ม “แลนนิสเตอร์จอมเสี้ยม” เอก “คุณเดี๋ยวผู้น่ารัก” ลูกปลา “มือทอย(เต๋า)ประจำทีม” บ๊วย “เหมือนเล่นๆ แต่ไม่ได้มาเล่นๆ” ตั๋น “ไม่ค้าขายฉันไม่สน” เตย “ซินดี้แอ๊บแบ๊ว” กฤต “แผนข้าโลกต้องรู้” กล้วย “สายโหดขอให้บอก” ป๊อด “ยุทธศาสตร์ระยะไกล(ลิบ)” ปุ้ย “ม้าตีนปลายสายไล่กวด” และ ปลา “ไม่อยากเล่นเกมซ้ำอะ”

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน และกับการกางกระดานตลอดไป.

สฤณี อาชวานันทกุล

มิถุนายน 2564