ระบอบลวงตา

สำนักพิมพ์ มติชน

พฤศจิกายน 2564

คำนำผู้เขียน

หนังสือเล่มนี้รวบรวมและเรียบเรียงจากบทความและปาฐกถาต่างกรรมต่างวาระของผู้เขียน ระหว่างปี 2557-2564

ในห้วงยามที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร สืบเนื่องตั้งแต่รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ต่อเนื่องเป็นรัฐบาลที่นำโดยหัวหน้า คสช. ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. 2560

รัฐธรรมนูญที่ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากพยายามอธิบายว่า เขียนขึ้นเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” ของ คสช. อย่างชัดแจ้ง ผ่านกลไกต่างๆ อาทิ การให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมด มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอิสระ และคุม “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

ประเทศไทยตกอยู่ในการปกครองของคนกลุ่มเดิม นับจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ล่วงเลยจนเกิดวิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา

ภายในเวลาเพียง 1 ปีครึ่ง ประเทศที่เคยได้ชื่อว่า รับมือกับโควิด-19 ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในปี 2563 (แม้ว่าความสำเร็จทางสาธารณสุขจะต้องแลกมาด้วยการจ่ายต้นทุนราคาแพงทางเศรษฐกิจ) กลายเป็นประเทศอันดับท้ายตาราง ในดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด-19 จากการจัดอันดับของสำนักข่าวระดับโลกอย่าง Nikkei และ Bloomberg

มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นมากมายในช่วงเวลากว่า 7 ปี นับจากรัฐประหาร 2557 หลายเหตุการณ์จุดประกายให้ผู้เขียนเขียนบทความสะท้อนความเห็นของตัวเองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

วันนี้เมื่อมองย้อนกลับไป ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีเรื่องใดที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้า เท่ากับการช่วยกันอธิบายความเลวร้ายของระบอบอำนาจนิยม (ซึ่งผู้เขียนอธิบายในหนังสือเล่มนี้ว่า สมควรเรียกว่า “ฟาสซิสต์”) ที่ครองอำนาจอยู่ปัจจุบัน ให้สังคมไทยบรรลุ “ฉันทามติ” ว่า ระบอบนี้ไม่มีวันนำพาประเทศไปสู่ความเจริญได้ เนื่องจากมุ่งสืบทอดอำนาจของคนกลุ่มน้อยมากกว่ากระจายความเจริญให้กับคนทั้งประเทศ อีกทั้งยังมีโลกทัศน์และทัศนคติที่คับแคบและล้าหลัง ราวกับยังติดอยู่ในสมัยสงครามเย็นเมื่อครึ่งค่อนศตวรรษที่แล้ว

ทว่าสังคมไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนไปแล้วแทบทุกมิติเมื่อเทียบกับสังคมไทยสมัยสงครามเย็น ประเทศไทยไม่ได้กำลังต่อสู้อยู่กับสิ่งที่มองว่าเป็น “ภัยคุกคามของชาติ” อย่างลัทธิคอมมิวนิสม์อีกต่อไป “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ sustainable development กำลังกลายเป็นกระแสโลกอย่างเข้มข้น ตามความรุนแรงของการทำลายสิ่งแวดล้อมและภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และรัฐวันนี้ก็ไม่สามารถผูกขาดความจริงด้วยการควบคุมสื่อ โฆษณาชวนเชื่อ และสื่อสารทางเดียวได้อีกต่อไป เพราะโลกออนไลน์ได้กลายเป็นโลกที่ประชาชนสามารถมาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นกันอย่างเสรี แม้รัฐจะมีความพยายามปิดกั้นเป็นระยะๆ

ผู้เขียนเชื่อว่า การแสวงหา “ฉันทามติใหม่” ในสังคมไทยที่จำเป็นต่อการออกจากกับดักของระบอบอำนาจนิยมปัจจุบันนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการมองให้เห็น “การฉ้อฉลเชิงอำนาจ” ที่เลวร้ายกว่าคอร์รัปชันเชิงนโยบายในอดีต และมองให้ทะลุ “มายาคติ” บางประการ มายาคติที่ครั้งหนึ่งในอดีตอาจเคยเป็นข้อเท็จจริง หรือเราเชื่อว่าจริงเพราะไม่เคยได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่วันนี้เรารู้แล้วว่าไม่จริง

ไม่ว่าคนไทยแต่ละคนจะมีความคิดและความเชื่อแตกต่างกันเพียงใด ผู้เขียนเห็นว่า การถอดรื้อมายาคติและมองเห็นอันตรายของระบอบอำนาจนิยม ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการหาทางออกจากระบอบนี้

ตราบใดที่เรายังปล่อยให้การฉ้อฉลเชิงอำนาจในรูปแบบต่างๆ ดำเนินต่อไป และติดกับดักมายาคติที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาสังคมแบบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบฐานกว้างที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตราบนั้นก็ยากที่สังคมเศรษฐกิจไทยจะก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศในปัจจุบัน

ผู้เขียนหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยฉายภาพมายาคติและการฉ้อฉลเชิงอำนาจใน “ระบอบประยุทธ์” และแนะนำทางเลือกที่น่าสนใจในการพัฒนาสังคม

ทางเลือกที่เราเคยมีและควรมี แต่วันนี้ถูกบดบังหรือบีบคั้นให้เข้าใจผิดว่า เราไม่มีทางเลือกอื่น

ผู้เขียนขอขอบคุณ สำนักพิมพ์มติชน ที่ได้ให้เกียรติตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ขอบคุณคุณ ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช บรรณาธิการเล่ม สำหรับการเรียบเรียงและขัดเกลาต้นฉบับ ตลอดจนให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการปรับปรุง

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน และการใฝ่ฝันถึงอนาคตที่ดี

สฤณี อาชวานันทกุล

กันยายน 2564

เดือนครบรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งที่ 12 ในประวัติศาสตร์ไทย