ราคาของความเหลื่อมล้ำ ฉบับปรับปรุง

ราคาของความเหลื่อมล้ำ

แปลจาก The Price of Inequality โดย Joseph Stiglitz

สำนักพิมพ์ Salt Publishing

ฉบับปรับปรุง สิงหาคม 2565

คำนำผู้แปล ฉบับปรับปรุง

ในยุคที่ “ความเหลื่อมล้ำ” เริ่มเป็นที่กล่าวถึงและถกเถียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทยและสังคมโลก เมื่ออุดมการณ์ “เศรษฐศาสตร์ไหลริน” ที่เชื่อว่า “ตลาดจัดการตัวเองได้” ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง หลังจากที่วิกฤตการเงินปี 2008 อันส่งผลสืบเนื่องยาวนาน เผยให้เห็นรอยเลื่อนร้าวลึกในเศรษฐกิจและสังคมสหรัฐอเมริกา ป้อมปราการของระบบทุนนิยมตลาดเสรี

หลังจากนั้นเกือบทศวรรษ “ทวิวิกฤติ” โควิด-19 อันเป็นทั้งวิกฤติสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจในขณะเดียวกัน ก็เผยให้เห็นความเลวร้ายของความเหลื่อมล้ำระดับสูงทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองชนิดสุดขั้วในหลายสังคมรวมทั้งไทย ผ่านรูปธรรมของผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน-ยา-การรักษาพยาบาล ที่แต่ละคนประสบไม่เท่ากัน

โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลฝีปากกล้า หัวหอกกลุ่ม “ซ้ายใหม่” นำขบวนข้อมูลหลักฐานและความคิดมากมายมาเสนอในหนังสือเล่มนี้ว่า ความเหลื่อมล้ำระดับสูงมี “ราคา” มหาศาลที่สังคมและเศรษฐกิจต้องจ่าย และรัฐกับสังคมจะต้องจัดการกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วนก่อนสายเกินแก้

สติกลิทซ์อภิปรายประเด็นหลากหลายทั้งกว้างและไกล บางประเด็นอาจถกเถียงกันได้อย่างกว้างขวางและอาจไร้ข้อสรุป เพราะเป็นเรื่องของ “หลักการ” มากกว่า “หลักฐาน” อย่างเช่นข้อเสนอของเขาที่ว่า ธนาคารกลางควรเป็นอิสระน้อยลง มี “ความรับผิด” ตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น บางช่วงผู้อ่านอาจรู้สึกขัดใจเหมือนกับผู้แปลว่า สติกลิทซ์ด่าทอ “ฝ่ายขวา” อย่างสาดเสียเทเสียเกินไป เหมารวมตัดตอน “คนรวยสุด 1 เปอร์เซ็นต์” ว่าเท่ากับ “ฝ่ายขวา” และเท่ากับ “ฝ่ายมาร” อย่างไม่ยุติธรรมเท่ากับภาพนักสู้เพื่อความยุติธรรมของเขา

อย่างไรก็ดี ราคาของความเหลื่อมล้ำ ก็เป็นหนังสือสำคัญที่ผู้เขียนคิดว่ายังคงมาถูกที่ถูกเวลาในสังคมไทย ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมาเกือบ 1 ทศวรรษ นับจากวันพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556

เพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้เราฉุกคิดและครุ่นคิดถึงปัญหา “การแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” และการใช้อำนาจเงินครอบงำภาคการเมืองของธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาดหรือครองตลาด อันนำไปสู่ผลประโยชน์ที่อาจารย์สติกลิทซ์ใช้คำว่า “สวัสดิการบรรษัท” (corporate welfare)

“ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้คือ การแสวงค่าเช่านั้นแพร่หลายทั่วทั้งเศรษฐกิจอเมริกัน และที่จริงมันบั่นทอนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ …แรงจูงใจที่ปัจเจกเผชิญมักจะทำให้พวกเขาทำอะไรๆ ผิดทิศผิดทาง และคนที่ได้รางวัลมโหฬารอาจไม่ใช่คนที่มีส่วนสร้างประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด ในกรณีที่คนรวยสุดได้ผลตอบแทนส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมที่พวกเขามีส่วนสร้าง การกระจายรายได้ก็สามารถลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพไปพร้อมกัน”

“ประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นมากกว่าสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งทุกสองปีหรือสี่ปี การตัดสินใจของประชาชนต้องมีความหมายด้วย นักการเมืองต้องฟังเสียงพลเมือง แต่ดูเหมือนว่าระบบการเมืองในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จะเป็นระบบ “หนึ่งดอลลาร์หนึ่งเสียง” มากกว่า “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” แทนที่ระบบการเมืองจะแก้ไขความล้มเหลวของตลาด มันกลับซ้ำเติมความล้มเหลวเหล่านั้น”

ในประเทศไทยซึ่งความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูงไม่แพ้อเมริกาและยังไม่มีทีท่าว่าจะหดแคบลง ประชาชนกลุ่มใหญ่ไม่สนใจประชาธิปไตยในแง่ของการตรวจสอบ มีน้อยคนที่ตั้งคำถามต่อ “ที่มา” ของกำไรบริษัทใหญ่ หรือ “ความชอบธรรม” ของกฎหมาย

ผู้แปลก็ได้แต่หวังว่า ราคาของความเหลื่อมล้ำ จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยจุดประกายการถกเถียงที่จำเป็นต้องเกิดว่าด้วยการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง แต่ยังไม่เกิดในสังคมไทย ไม่ว่าจะมีการผลิตเอกสารต่างๆ ตาม “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” มาแล้วกี่ฉบับ หรือมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูป” มาแล้วกี่คณะก็ตาม

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน

สฤณี อาชวานันทกุล

สิงหาคม 2565