แปลจาก The Price of Inequality โดย Joseph Stiglitz
สำนักพิมพ์ Salt Publishing
ฉบับปรับปรุง สิงหาคม 2565
คำนำผู้แปล ฉบับปรับปรุง
ในยุคที่ “ความเหลื่อมล้ำ” เริ่มเป็นที่กล่าวถึงและถกเถียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทยและสังคมโลก เมื่ออุดมการณ์ “เศรษฐศาสตร์ไหลริน” ที่เชื่อว่า “ตลาดจัดการตัวเองได้” ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง หลังจากที่วิกฤตการเงินปี 2008 อันส่งผลสืบเนื่องยาวนาน เผยให้เห็นรอยเลื่อนร้าวลึกในเศรษฐกิจและสังคมสหรัฐอเมริกา ป้อมปราการของระบบทุนนิยมตลาดเสรี
หลังจากนั้นเกือบทศวรรษ “ทวิวิกฤติ” โควิด-19 อันเป็นทั้งวิกฤติสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจในขณะเดียวกัน ก็เผยให้เห็นความเลวร้ายของความเหลื่อมล้ำระดับสูงทางเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองชนิดสุดขั้วในหลายสังคมรวมทั้งไทย ผ่านรูปธรรมของผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน-ยา-การรักษาพยาบาล ที่แต่ละคนประสบไม่เท่ากัน
โจเซฟ สติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลฝีปากกล้า หัวหอกกลุ่ม “ซ้ายใหม่” นำขบวนข้อมูลหลักฐานและความคิดมากมายมาเสนอในหนังสือเล่มนี้ว่า ความเหลื่อมล้ำระดับสูงมี “ราคา” มหาศาลที่สังคมและเศรษฐกิจต้องจ่าย และรัฐกับสังคมจะต้องจัดการกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วนก่อนสายเกินแก้
สติกลิทซ์อภิปรายประเด็นหลากหลายทั้งกว้างและไกล บางประเด็นอาจถกเถียงกันได้อย่างกว้างขวางและอาจไร้ข้อสรุป เพราะเป็นเรื่องของ “หลักการ” มากกว่า “หลักฐาน” อย่างเช่นข้อเสนอของเขาที่ว่า ธนาคารกลางควรเป็นอิสระน้อยลง มี “ความรับผิด” ตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น บางช่วงผู้อ่านอาจรู้สึกขัดใจเหมือนกับผู้แปลว่า สติกลิทซ์ด่าทอ “ฝ่ายขวา” อย่างสาดเสียเทเสียเกินไป เหมารวมตัดตอน “คนรวยสุด 1 เปอร์เซ็นต์” ว่าเท่ากับ “ฝ่ายขวา” และเท่ากับ “ฝ่ายมาร” อย่างไม่ยุติธรรมเท่ากับภาพนักสู้เพื่อความยุติธรรมของเขา
อย่างไรก็ดี ราคาของความเหลื่อมล้ำ ก็เป็นหนังสือสำคัญที่ผู้เขียนคิดว่ายังคงมาถูกที่ถูกเวลาในสังคมไทย ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมาเกือบ 1 ทศวรรษ นับจากวันพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556
เพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้เราฉุกคิดและครุ่นคิดถึงปัญหา “การแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” และการใช้อำนาจเงินครอบงำภาคการเมืองของธุรกิจที่มีอำนาจผูกขาดหรือครองตลาด อันนำไปสู่ผลประโยชน์ที่อาจารย์สติกลิทซ์ใช้คำว่า “สวัสดิการบรรษัท” (corporate welfare)
“ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้คือ การแสวงค่าเช่านั้นแพร่หลายทั่วทั้งเศรษฐกิจอเมริกัน และที่จริงมันบั่นทอนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ …แรงจูงใจที่ปัจเจกเผชิญมักจะทำให้พวกเขาทำอะไรๆ ผิดทิศผิดทาง และคนที่ได้รางวัลมโหฬารอาจไม่ใช่คนที่มีส่วนสร้างประโยชน์แก่สังคมมากที่สุด ในกรณีที่คนรวยสุดได้ผลตอบแทนส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมที่พวกเขามีส่วนสร้าง การกระจายรายได้ก็สามารถลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพไปพร้อมกัน”
“ประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นมากกว่าสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งทุกสองปีหรือสี่ปี การตัดสินใจของประชาชนต้องมีความหมายด้วย นักการเมืองต้องฟังเสียงพลเมือง แต่ดูเหมือนว่าระบบการเมืองในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จะเป็นระบบ “หนึ่งดอลลาร์หนึ่งเสียง” มากกว่า “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” แทนที่ระบบการเมืองจะแก้ไขความล้มเหลวของตลาด มันกลับซ้ำเติมความล้มเหลวเหล่านั้น”
ในประเทศไทยซึ่งความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับสูงไม่แพ้อเมริกาและยังไม่มีทีท่าว่าจะหดแคบลง ประชาชนกลุ่มใหญ่ไม่สนใจประชาธิปไตยในแง่ของการตรวจสอบ มีน้อยคนที่ตั้งคำถามต่อ “ที่มา” ของกำไรบริษัทใหญ่ หรือ “ความชอบธรรม” ของกฎหมาย
ผู้แปลก็ได้แต่หวังว่า ราคาของความเหลื่อมล้ำ จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยจุดประกายการถกเถียงที่จำเป็นต้องเกิดว่าด้วยการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง แต่ยังไม่เกิดในสังคมไทย ไม่ว่าจะมีการผลิตเอกสารต่างๆ ตาม “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” มาแล้วกี่ฉบับ หรือมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูป” มาแล้วกี่คณะก็ตาม
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน
สฤณี อาชวานันทกุล
สิงหาคม 2565
You must be logged in to post a comment.