ไอแซค นิวตัน

แปลจาก Isaac Newton โดย James Gleick

สนพ. Salt Publishing, เมษายน 2561

คำนำผู้แปล

ทันทีที่เอ่ยชื่อ “ไอแซค นิวตัน” หลายคนคงนึกภาพลูกแอปเปิลหล่นใส่หัวชายที่นั่งเหม่ออยู่ใต้ต้นแอปเปิล หรือไม่ก็นิ่วหน้าเมื่อความทรงจำเกี่ยวกับการสอบไล่เรื่องกลศาสตร์ แคลคูลัส และสมการแรงโน้มถ่วงทั้งหลายสมัยมัธยมเวียนวนกลับมาในหัว หากแม้นสำหรับวิศวกร นักดาราศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์แขนงอื่นทั้งหมด ชื่อของนิวตันย่อมสถิตชั่วนิรันดร์ในฐานะ “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่”

ทว่าในหนังสือเล่มนี้ เจมส์ กลีก (James Gleick) ฉายภาพอย่างแจ่มชัดว่า การค้นพบของนิวตันมิได้เกิดจากการ ‘ปิ๊งแวบ’ แบบปัจจุบันทันด่วนดังที่ภาพลูกแอปเปิลตกชี้ชวนให้เราคิด หากแต่เป็นส่วนผสมระหว่างพรสวรรค์กับพรแสวง อัจฉริยภาพและความวิริยะอุตสาหะอันยาวนานและไม่เคยหยุดนิ่งตราบวันตาย ส่วนสมญา “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่” นั้นก็กลบเกลื่อนลักษณะ ‘ไม่เป็นวิทยาศาสตร์’ (ในความหมายสมัยใหม่ที่เราใช้) ของนิวตันในหลายแง่มุม ตั้งแต่การเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุตัวยง การเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาคริสต์อย่างแรงกล้า ทว่ามีความคิดที่ถูกมองว่านอกรีตและดังนั้นเขาจึงต้องปิดบัง ไปจนถึงความสนใจในไสยศาสตร์ และการลุแก่อำนาจจนโทสจริตเข้าครอบงำ ในการถกเถียงอันร้อนแรงกับ ก็อตฟรีด ไลบ์นิซ (Gottfried Leibniz) ว่าใครเป็นผู้ค้นพบแคลคูลัสก่อนกัน

นิวตันครองตัวเป็นโสดตราบวันตาย ศึกษาค้นคว้าอย่างโดดเดี่ยว ไม่ชอบเข้าสังคม และแทบไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ราวกับคำว่า “อัจฉริยะผู้เดียวดาย” ถูกประดิษฐ์มาเพื่อเขาโดยเฉพาะ บิดาของนิวตันตายก่อนที่เขาเกิด เมื่ออายุเพียงสามขวบมารดาก็แต่งงานใหม่และย้ายไปอยู่กับสามีใหม่ ทิ้งให้เขาโตขึ้นมากับยาย เขาเป็นเด็กน้อยผู้เดียวดาย เป็นวัยรุ่นผู้ลึกลับ และเป็นผู้ใหญ่ที่สันโดษเยี่ยงนักพรต

เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่มันสมองของคนสันโดษหนึ่งคน ชายผู้แทบไม่เดินทางไปไหนเลย จะมีจินตนาการทางวิทยาศาสตร์อย่างไร้ขอบเขต นิวตันมองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น มองเห็นพลวัตทั้งมหภาคในระยะทางไกลโพ้นจากพื้นผิวโลก และจุลภาคขนาดเล็กกว่าตาเห็น เขาไม่เพียงแต่ค้นพบกฎธรรมชาติอันเป็นสากล แต่ยังประดิษฐ์เครื่องมือหลายชิ้นสำหรับการค้นหาความลับของธรรมชาติ ทั้งเครื่องมือนามธรรมอย่างแคลคูลัส และเครื่องมือรูปธรรมอย่างกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง

เหนือสิ่งอื่นใด นิวตันเปลี่ยนวิธีมองโลกของเราไปอย่างไม่มีวันหวนคืน จากโลกที่สิ่งต่างๆ คลุมเครือและวัดได้เพียงหยาบๆ (กระทั่งการสะกดชื่อก็ไม่ตายตัว) สู่โลกแห่งการชั่งตวงวัด การตั้งสมมุติฐาน การทดสอบสมมุติฐานด้วยการสังเกตและทดลอง โลกที่วิทยาศาสตร์แยกทางกับปรัชญาอย่างเป็นทางการ

นิวตันเปิดประตูสู่โลกใหม่ให้กับเรา ทว่าตัวเขาเองมิได้ก้าวเท้าข้ามมา เขาเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และพ่อมด ผู้เลื่อมใสในศาสนาและนักคิดนอกรีต เป็นมนุษย์ปุถุชน และบางคราวก็เกรี้ยวปานอสูรร้าย

ภาพทั้งหมดนี้แจ่มชัดด้วยปลายปากกาของกลีก ในหนังสือที่อยู่ในมือของท่าน

ท้ายนี้ ผู้แปลขอขอบคุณ คุณพรกวินทร์ แสงสินชัย บรรณาธิการเล่ม ที่ได้บรรจงตรวจแก้และเรียบเรียงต้นฉบับอย่างพิถีพิถัน ขอขอบคุณคุณอาจวรงค์ จันทมาศ และทีมงาน ณ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ได้กรุณาตรวจทานศัพท์วิทยาศาสตร์ในเล่ม หากยังมีข้อผิดพลาดประการใด ย่อมเป็นความผิดของผู้แปลแต่เพียงผู้เดียว ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน

สฤณี อาชวานันทกุล

มีนาคม 2561