แปลจาก The Poor and Their Money โดย Stuart Rutherford ร่วมกับ Sukhwinder Arora
สำนักพิมพ์ Salt Publishing, กันยายน 2563
คำนำผู้แปล
“ถ้าคุณไม่ค่อยมีสตางค์ การดูแลเงินที่คุณมีก็สำคัญมากเป็นพิเศษ”
ประโยคแรกๆ ในหนังสือ การเงินคนจน เล่มนี้น่าจะทำให้หลายคนสะดุดใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาถ้าเราจะคิดว่า คนจนหมายถึงคนที่ไม่ค่อยมีเงิน แปลว่าไม่น่าจะจำเป็นต้องคิดมากเรื่องการจัดการเงิน เพราะไม่ค่อยมีเงินให้จัดการ
แต่ข้อเท็จจริงกลับตรงกันข้าม
สจ๊วต รัทเธอร์ฟอร์ด นักวิจัย ที่ปรึกษา และผู้ประกอบการด้านไมโครไฟแนนซ์ (microfinance ในไทยนิยมแปลว่า “การเงินขนาดจิ๋ว” หรือ “การเงินฐานราก”) ผู้คร่ำหวอดในวงการมานานกว่าสี่ทศวรรษ ร่วมกับ สุขวินเดอร์ อาโรรา เพื่อนคู่คิดของเขา เขียนหนังสือ การเงินคนจน เล่มนี้ขึ้นมาอธิบายอย่างแจ่มชัดเข้าใจง่ายว่า การจัดการเงินนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนจน เพราะพวกเขามีความจำเป็นต้องแปลงเงินออมให้เป็นเงินก้อนโตที่มีประโยชน์ เพื่อใช้จ่ายในวันนี้หรือในอนาคต
ผู้เขียนอธิบาย “การออม” อย่างเฉียบคมเรียบง่ายว่ามีหลายวิธีด้วยกัน เราอาจออมแบบสะสม (ออมด้วยการเจียดเงินที่มีอยู่ในมือ) ออมแบบผ่อนส่ง (กู้เงินมาใช้ก่อน นั่นคือ ใช้เงินออมในอนาคต) หรือออมแบบระหว่างทาง (ส่วนผสมระหว่างสองแบบนี้) แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงบริการได้ทั้งสามแบบ และไม่ใช่ว่าผู้ให้บริการทุกคนจะสามารถออกแบบบริการที่ตรงต่อความต้องการ
คนจนต้องการ ‘ตัวกลางฐานรากด้านการเงินส่วนบุคคล’ ที่ช่วยให้พวกเขาแปลงเงินออมเป็นเงินก้อนอย่างเป็นระบบ และผู้เขียนก็อธิบายรูปแบบการให้บริการของตัวกลางฐานรากที่น่าทึ่งและหลากหลายจากทั่วโลกในหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่กลไกที่คนจนออกแบบขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง เช่น วงแชร์ ชมรมออมทรัพย์ กลุ่มออมทรัพย์ ไปจนถึงกลไกกึ่งในระบบ และบริการทางการเงินในระบบที่มีคนนอกชุมชนเข้ามาช่วยจัดตั้งหรือให้บริการ เช่น โรงรับจำนำ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันการเงินขนาดจิ๋วหรือไมโครไฟแนนซ์
บริการเหล่านี้ต้องคิดต่างจากบริการทางการเงินกระแสหลัก เพราะคนจนมักขาดหลักฐานการยืนยันตัวตน ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกัน และมีรายได้เพียงน้อยนิดและไม่แน่นอน
ผู้แปลเชื่อว่าทุกคนที่ได้อ่าน การเงินคนจน จะเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการทางการเงินของคนจนมากขึ้น เข้าใจวิธีออกแบบบริการทางการเงินที่จะตอบสนองต่อความต้องการของคนจน รวมถึงจะได้มองเห็นข้อดี ข้อด้อยตลอดจนความท้าทายของบริการทางการเงินแบบต่างๆ
ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของบริการทางการเงินและขยายบริการไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ รวมถึงคนจนที่เคยอยู่นอกระบบ และเป็นยุคที่ข้อสังเกตของผู้เขียนที่ว่า “ไมโครไฟแนนซ์กำลังถูกดึงเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงินกระแสหลัก และก็กำลังเน้นเป้าการพัฒนาทางการเงินมากกว่าเป้าการพัฒนาสังคม” กลายเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป ผู้แปลเชื่อว่า การเงินคนจน เล่มนี้จะกระตุ้นเตือนให้หันกลับมามองความต้องการของคนจน และตั้งคำถามว่า เราออกแบบบริการที่วางพวกเขาเป็นศูนย์กลางจริงหรือไม่
ในฐานะที่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับการเงินชุมชน หนี้นอกระบบ และพฤติกรรมทางการเงินของคนจน ผู้แปลยืนยันว่าข้อค้นพบหลักๆ ในหนังสือเล่มนี้ล้วนสำคัญสำหรับคนจนในเมืองไทยเช่นกัน อาทิ ขนาดและความถี่ของงวดเงินผ่อนสำคัญกว่าอัตราดอกเบี้ย (เงินกู้ที่คนจนมีกำลังผ่อนต่องวดแม้อัตราดอกเบี้ยจะสูง ย่อมมีประโยชน์กว่าเงินกู้ที่คนจนผ่อนไม่ได้แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำ), เงินกู้ต้องยืดหยุ่นเหมาะสมสอดคล้องกับกระแสเงินสดที่ไม่แน่นอน, หนี้นอกระบบย่อมจำเป็นเสมอสำหรับคนที่ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า และกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนหมู่บ้านจำนวนมากมิได้ต้องการกู้เงินมาปล่อยกู้เพิ่มไปเรื่อยๆ ดังที่ธนาคารของรัฐมักเชิญชวน เท่ากับต้องการโอกาสในการลงทุน และการยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน
สฤณี อาชวานันทกุล
กันยายน 2563
You must be logged in to post a comment.