ความยุติธรรม

แปลจาก Justice โดย Michael Sandel

สำนักพิมพ์ Salt Publishing, สิงหาคม 2563

คำนำผู้แปล ฉบับพิมพ์ครั้งที่สี่

ตรวจบ่อน “มีโต๊ะตัวเดียวไม่เรียกบ่อน”
ตรวจเงินทอน “ส่วนต่างเยอะหยวนๆ น่า”
รีเจนซี่ “นี่มันแค่น้ำปลา”
โคเคน “ยารักษาฟันโปรดมั่นใจ”
เฮโรอีน “ไม่เห็นหรือมันคือแป้ง”
เงินกู้พรรค “ต้องแสดงเป็นรายได้”
รถหรู (วิ่งทแยงมา?) “ถึงช้าไง”
นาฬิกา’ยืมเพื่อนใส่’ “คงรูปครับ”
พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่ใช่เจ้าหน้าที่”
ล็อตเตอรี่ “ไม่มีเกินให้จับ”
หน้ากาก “สองบาทมี-ลองไปนับ”
พังพาบพับ-ยุติธรรมประเทศไทย!

ผู้เขียนเขียนกลอนแปดข้างต้น ณ ต้นเดือนสิงหาคม 2563 ยุคที่ผู้มีอำนาจและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบถูกตั้งคำถามอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความขัดแย้งแบ่งสีในสังคมไทยซึ่งปะทุขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 บานปลายสืบเนื่องนานหลายปียังไม่มีวี่แววว่าจะสร่างซา ประเทศไทยเดินดุจเรือไร้หางเสือผ่านรัฐประหาร รัฐบาลนอมินี รัฐบาลอำมาตย์ พลิกขั้วกลับไปมาหลายครั้ง จนเกิดรัฐประหารครั้งที่สองในรอบสิบปีในปี พ.ศ. 2557 ก่อเกิดรัฐบาลทหารและระบอบ “ประชาธิปไตยจำแลง” ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560

ความยุติธรรมในสังคมยังดูเป็นอุดมคติอันไกลโพ้นที่ดูจะอยู่ห่างไกลขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ความอยุติธรรมชัดแจ้ง ฝากรอยแผลทั้งทางร่างกายและในใจคนอย่างท่วมท้นขึ้นเรื่อยๆ จนคำกล่าวที่ว่า “คุกไทยมีไว้ขังคนจน” ดูเป็นสัจธรรมอันยากสั่นคลอน และทุกวันนี้ถ้าเพิ่มคำว่า “คนคิดต่าง(จากผู้มีอำนาจ)” เข้าไป ก็ดูไม่ห่างจากความจริงมากนัก

แต่ไม่ว่าเราจะถกเรื่องความยุติธรรมกันมากเพียงใด สิ่งที่ยังพบเห็นได้น้อยมากในทัศนะของผู้แปลคือ การถกเถียงที่รอบด้าน เคารพซึ่งกันและกัน และพยายามให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อันล้วนเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการเดินสู่ “ความยุติธรรม” ที่แท้จริง

การถกเถียงเรื่องความยุติธรรม ตั้งแต่เรื่องระดับชาติจนถึงเรื่องในครอบครัว ยังดูจะมุ่งไปที่การชักโวหารเหตุผลจากแม่น้ำทั้งห้ามาสาธยายว่าทำไม “ฉันถูก แกผิด” และ “ความยุติธรรม” ก็มักถูกใช้ในความหมายว่า อะไรก็ตามที่ทำให้ฉันหรือพวกของฉันได้ประโยชน์ โดยไม่สนใจว่าคนอื่นได้รับผลกระทบอย่างไร กระทั่งไม่อยากฟังเพราะปักใจเชื่อไปแล้วว่าคนอื่นไม่ควรค่าแก่การรับฟัง เพราะเป็นสลิ่ม / เป็นควายแดง / เป็นชนชั้นกลางดัดจริต / เป็นพวกล้มเจ้า ฯลฯ

ความยุติธรรมจะบังเกิดได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน

เราจะเข้าใจกันได้อย่างไร ในเมื่อเรายังไม่ให้ความยุติธรรมแม้กับถ้อยคำ ล่ามโซ่ตีกรอบความหมายของมันอย่างคับแคบด้วยวาทกรรมที่ใช้ฟาดฟันทางการเมือง แบ่งโลกออกเป็นขาว-ดำ ทั้งที่โลกจริงหลากหลายกว่านั้น ซับซ้อนกว่านั้น และอาจมีความหวังมากกว่านั้น

ในห้วงยามที่สังคมเป็นเช่นนี้ ผู้แปลคิดว่าหนังสือ “ความยุติธรรม” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์มาแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ยังจะเป็นหนังสือ “ร่วมสมัย” ในสังคมไทยไปอีกนาน เพราะผู้เขียนคืออาจารย์ ไมเคิล แซนเดล เป็นนักปรัชญาการเมืองร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในโลกวิชาการ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ อาจารย์เป็นปัญญาชนสาธารณะที่มีความสุขกับการใช้ปรัชญาทางการเมืองหลากสำนักตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเป็นแว่นขยาย ส่องประเด็นสาธารณะต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การเกณฑ์ทหาร การโก่งราคาในภาวะฉุกเฉิน การอุ้มบุญ การุณยฆาต สิทธิส่วนบุคคลกับประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ

อาจารย์ได้ถ่ายทอดบทสนทนาและการโต้วาทีในชั้นเรียนยอดนิยมแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระหว่างนักศึกษาด้วยกัน และระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา อย่างมีชีวิตชีวาลงในหนังสือที่อยู่ในมือของท่าน ราวกับยกวิชาทั้งวิชามาอยู่บนหน้ากระดาษ ทำให้ผู้อ่านนอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิดและปรัชญาการเมืองในโลกตะวันตกแล้ว ยังจะได้ตระหนักว่า ความยุติธรรมนั้นถึงที่สุดแล้วเป็นเรื่องของการ “ให้คุณค่า” กับสิ่งต่างๆ และด้วยเหตุนี้ ทั้ง “เหตุผล” และ “ศีลธรรม” จึงจำเป็น ดังคำเตือนของอาจารย์ในหนังสือเล่มนี้ว่า –

“การขอให้พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยทิ้งความเชื่อทางศีลธรรมและศาสนาไว้เบื้องหลังเมื่อพวกเขาเดินเข้าสู่วงอภิปรายสาธารณะนั้น อาจดูเป็นวิธีสร้างหลักประกันว่าคนจะอดทนอดกลั้นและเคารพซึ่งกันและกัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นอาจตรงกันข้าม การตัดสินคำถามสำคัญๆ ในประเด็นสาธารณะขณะแสร้งทำตัวเป็นกลาง ทั้งที่เป็นกลางจริงๆ ไม่ได้นั้น คือสูตรสร้างปฏิกิริยาโต้กลับและความไม่พอใจ การเมืองกลวงเปล่าอันสิ้นไร้การโต้เถียงทางศีลธรรมอย่างหนักแน่นทำให้ชีวิตพลเมืองของเราแร้นแค้น นอกจากนี้มันยังเชื้อเชิญลัทธิคลั่งศีลธรรมอันคับแคบและไม่อดทนอดกลั้น นักรากฐานนิยมวิ่งเข้าสู่พื้นที่ซึ่งนักเสรีนิยมไม่กล้าย่างเท้าเข้าไป”

ผู้แปลคิดว่าหนังสือเล่มนี้ฉายภาพอย่างแจ่มชัดว่า เหตุใด “การใช้เหตุผลทางศีลธรรม” จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่ควรทำ หากแต่เป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ผู้แปลหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ในการส่งเสริม ขยับขยาย และยกระดับการถกเถียงประเด็นสาธารณะในสังคมไทยให้พ้นไปจากมุมมองอันคับแคบ ไม่ว่าจะเป็นแบบเข้าข้างตัวเอง แบบยึดติดกับตัวบทกฎหมาย หรือแบบ “ลัทธิคลั่งศีลธรรม” ก็ตามที

ผู้เขียนขอขอบคุณ กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์ บรรณาธิการเล่มฉบับพิมพ์ครั้งแรก ที่ได้กรุณาตรวจทานและแก้ไขอย่างพิถีพิถัน หุ้นส่วนสำนักพิมพ์ซอลท์ พับลิชชิง ทุกท่าน ผู้สนับสนุนการนำหนังสือเล่มนี้มาจัดพิมพ์ครั้งใหม่ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ที่อนุเคราะห์การจัดพิมพ์บางส่วนเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน

เหนือสิ่งอื่นใด ขอขอบคุณอาจารย์ ไมเคิล แซนเดล ผู้ฉายไฟให้เห็นความสำคัญของปรัชญาในชีวิตจริง ความสนุกสนานของการถกประเด็นสาธารณะ และความงดงามของการครุ่นคิดถึง “ชีวิตที่ดี” อย่างยากจะลืมเลือน

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน

สฤณี อาชวานันทกุล

สิงหาคม 2563