จริยเศรษฐศาสตร์

แปลจาก On Ethics and Economics โดย Amartya Sen

สนพ. Salt Publishing, มีนาคม 2562

คำนำผู้แปล

เมื่อครั้งที่ผู้แปลยังเป็นนักศึกษา หนึ่งในประสบการณ์การเรียนรู้ที่ฝังใจไม่รู้ลืมคือการได้นั่งเรียนในวิชาของอาจารย์อาวุโสผู้อ่อนโยน นาม อมาตยา เซน

อาจารย์เซนเป็นอาจารย์ไม่กี่ท่านที่เปิดโลกและเปิดใจอย่างมหาศาล ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ อาจารย์ชอบกระตุกให้คิด วิเคราะห์ อภิปรายถึงสาเหตุของปัญหาต่างๆ ในโลก และในฐานะนักปรัชญา อาจารย์ก็ชอบตั้งคำถามยากๆ ต่อความคิดความเชื่อของนักศึกษา กระตุกให้มองเห็นความเชื่อที่ซ่อนอยู่ลึกเสียจนเราไม่เคยรู้ว่าเราเชื่อแบบนั้นอยู่ หรือว่ารู้แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่

อาจารย์เล่าว่าตัวเองสนใจปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาอื่นๆ ในโลกกำลังพัฒนา ก็เพราะในปี 1943 ขณะที่มีอายุเพียงเก้าขวบ อาจารย์ต้องเผชิญหน้ากับภาวะทุพภิกขภัยรุนแรง เหตุการณ์ครั้งนั้นคร่าชีวิตชาวแคว้นเบงกอลในอินเดียไปกว่าสามล้านคน

อาจารย์เซนอุทิศทั้งชีวิตให้กับการศึกษาวิเคราะห์สาเหตุและหนทางแก้ไขปัญหาแบบนี้ ทั้งในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้บุกเบิกสาขา ‘เศรษฐศาสตร์สวัสดิการ’ (welfare economics) ซึ่งเน้นเรื่องผลกระทบของนโยบายสาธารณะต่อสวัสดิภาพของมนุษย์ และในฐานะนักปรัชญาแนวเสรีนิยมผู้ก่อตั้งสำนักคิด ‘วิถีสมรรถภาพมนุษย์’ (capabilities approach) งานวิจัยพลิกโลกชิ้นแรกๆ ของอาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ภาวะทุพภิกขภัยร้ายแรงในเบงกอลสมัยที่อาจารย์เป็นเด็กนั้น ไม่ได้เกิดจากอุปทานอาหารขาดแคลน แต่เป็นเพราะผู้มีรายได้น้อยอย่างเช่นแรงงานไร้ที่ดินในภาคการเกษตร ไม่มีเงินพอซื้ออาหารหลังจากที่ราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่า ผลพวงจากการพัฒนาเมืองและสงครามในภูมิภาค อาจารย์ชี้ว่า ถึงแม้ผู้เดือดร้อนจะยังมี ‘เสรีภาพเชิงลบ’ (negative freedom) พร้อมสรรพ นั่นคือ ไม่มีใครมาห้ามไม่ให้พวกเขาซื้ออาหาร แต่ก็ขาด ‘เสรีภาพเชิงบวก’ (positive freedom) เพราะไม่มีรายได้พอซื้ออาหารมาประทังชีวิต

ด้วยเหตุนี้ การช่วยเหลือที่ยั่งยืนจะมองแต่การบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้าอย่างการบริจาคอาหารไม่ได้ แต่จะต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเช่นการหาวิธีเพิ่มรายได้ และพยุงราคาอาหารไม่ให้ผันผวนจนเกินไปด้วย

อาจารย์ขยับขยายต่อยอดงานวิจัยเรื่องนี้ออกไปอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง ขยายพรมแดนการรับรู้ความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิเสรีภาพ สมรรถภาพ และสวัสดิภาพของมนุษย์ งานพลิกโลกของอาจารย์ส่งผลให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ 1998 นำไปสู่การคิดค้น ‘ดัชนีพัฒนามนุษย์’ (Human Development Index) และส่งอิทธิพลให้ผู้ดำเนินนโยบายทั่วโลกมองเห็นว่าการปฏิรูปสังคม โดยเฉพาะด้านการศึกษา สาธารณสุข และสิทธิเสรีภาพทางการเมือง สำคัญไม่แพ้และควรจะมาก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ อาจารย์ชี้ว่าเราไม่ควรมองว่าสิทธิเสรีภาพต่างๆ เป็นเพียง ‘เป้าหมายปลายทาง’ ของการพัฒนาเท่านั้น แต่ควรมองว่าสิทธิเสรีภาพเหล่านี้เป็น ‘เป้าหมาย’ ในตัวมันเองด้วย

วันนี้อาจารย์ได้รับการกล่าวขานในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดคนหนึ่ง แต่ที่แท้อาจารย์ก็เป็นนักปรัชญาที่ชาญฉลาดและใจกว้างอย่างหาตัวจับยาก ในชั้นเรียนอาจารย์มักจะพูดอยู่เสมอว่า เศรษฐศาสตร์หาญกล้าพยากรณ์พฤติกรรมและกำหนดนโยบายพัฒนา แต่วิถีเศรษฐศาสตร์แบบที่ประพฤติปฏิบัติกันทุกวันนี้เข้าใจมนุษย์น้อยเกินไป และเราต้องหมั่นตั้งคำถามต่อความเชื่อหลายประการที่หยั่งรากลึกเสียจนนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากไม่ตั้งคำถามอีกต่อไป ทั้งที่มันอาจมักง่ายทางความคิดและไม่สะท้อนสภาพความจริงในโลก ความเชื่อหยั่งลึกเหล่านี้มีอาทิ จริยศาสตร์หรือการถกเถียงเรื่องชุดคุณค่าไม่ใช่เรื่องของเศรษฐศาสตร์ การปฏิบัติในทางที่ยึดประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งเป็นพฤติกรรมแบบเดียวที่ ‘มีเหตุมีผล’ และการบรรลุประสิทธิภาพสูงสุดจะสร้างประโยชน์แก่สังคมสูงสุด

จริยเศรษฐศาสตร์ เล่มนี้รวบรวมแก่นความคิดของอาจารย์ที่ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ต่อความเชื่อพื้นฐานข้างต้น ซึ่งผ่านมาหลายทศวรรษก็ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง นอกจากนี้ยังฉายให้เห็นการใช้เหตุผลที่รัดกุมรอบคอบเยี่ยงนักปรัชญาที่ดี และผู้แปลก็หวังว่า ผู้อ่านจะได้สัมผัสส่วนเสี้ยวความโอบอ้อมอารีของอาจารย์ผ่านตัวอักษรด้วยเช่นกัน

ท้ายนี้ ผู้แปลขอขอบคุณ ธิติ อ่อนอินทร์ บรรณาธิการเล่ม ที่บรรจงตรวจทานและแก้ต้นฉบับอย่างพิถีพิถัน อาจารย์ ธร ปีติดล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้กรุณาอ่านและให้ข้อแนะนำ ณัฐเมธี สัยเวช ผู้พิสูจน์อักษรอย่างละเอียดลออ และเหนือสิ่งอื่นใด ขอขอบคุณศาสตราจารย์ อมาตยา เซน สำหรับบทเรียนและวิธีคิดอันประเมินค่ามิได้

ผู้แปลขออุทิศหนังสือเล่มนี้เป็น ‘คุรุอภิวาท’ หรืองานบูชาครู หากมีข้อผิดพลาดประการใด ย่อมเป็นความผิดพลาดของผู้แปลแต่เพียงผู้เดียว ขออภัยมา ณ ที่นี้

สฤณี อาชวานันทกุล

กุมภาพันธ์ 2562