เก็บกระเป๋าไปดาวอังคาร

แปลจาก Packing for Mars โดย Mary Roach

สนพ. Salt Publishing, ตุลาคม 2561

คำนำผู้แปล

เมื่อครั้งที่ผู้แปลยังเด็ก เวลาใครถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” คำตอบยอดฮิตในสมัยนั้นหนีไม่พ้น หมอ ครู ตำรวจ ทนายความ เพื่อนบางคนที่ชอบแสดงออกหน้าห้องตอบว่า ดารา ส่วนผู้แปลตอบอย่างไม่ต้องลังเลว่า

“มนุษย์อวกาศ”

การได้ไปท้องฟ้าจำลอง ดูหนังอวกาศ อ่านการ์ตูนอวกาศ นิยายไซไฟ และเรื่องลี้ลับพิศวงทั้งหลายในนิตยสาร ต่วย’ตูน และ มิติที่ 4  ทำให้ผู้แปลหลงใหลใน ‘โรมานซ์’ ของการท่องอวกาศอย่างถอนตัวไม่ขึ้นมาตั้งแต่เด็กจนโต โดยเฉพาะเวลาหายากที่ได้ส่องกล้องดูดาวยามค่ำคืน

กล้องดูดาวช่วยให้เรามองเห็นเทหวัตถุที่อยู่ไกลหลายปีแสง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการมีมุมมองกล้อง (field of view) ที่แคบมาก ก่อให้เกิดคำถามว่า เราจะหมุนกล้องอย่างไรให้เจอสิ่งที่เราอยากดูเป๊ะๆ

วิธีที่มืออาชีพและมือสมัครเล่นใช้กันมานานเรียกว่า “การกระโดดตามดาว” (star-hopping) เริ่มจากการมองหาดาวค่อนข้างสว่างที่เราคุ้นเคย ค่อยๆ หมุนกล้องไปหาดาวค่อนข้างสว่างดวงต่อไปที่อยู่ใกล้กว่า คอยเช็คกับแผนที่ดาวว่ามาถูกทางแล้วหรือยัง กระโดดไปเรื่อยๆ จนถึงเป้าหมาย

การกระโดดตามดาวต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ว่าใครจะหาดาวได้เร็วแค่ไหน ก็ไม่มีทางเร็วเท่ากับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ – กล้องดูดาวแบบ “โกทู” (GOTO) ติดคอมพิวเตอร์จิ๋วรับสัญญาณจีพีเอสจากดาวเทียม เพียงเอานิ้วจิ้มพิกัดของวัตถุบนฟ้าที่ต้องการดู กล้องนี้ก็จะหมุนไปยังจุดนั้นให้โดยอัตโนมัติ

กล้องโกทูทำให้การดูดาวเป็นเรื่องง่ายดายกว่าเดิมและทุ่นเวลาได้มาก แต่ไม่อาจช่วยพัฒนา “เซนส์” ว่าดาวอะไรอยู่ตรงไหนบนท้องฟ้า และที่สำคัญกว่านั้น กล้องโกทูไม่อาจมอบความรู้สึกอิ่มใจหรือภาคภูมิใจ เพราะไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ

ความเบิกบานเกิดจากการได้ค้นพบสิ่งที่ไม่คาดคิดระหว่างทาง และความภูมิใจที่ได้ไปถึงจุดหมายด้วยความวิริยะอุตสาหะของตัวเองเท่านั้น

ลำพังการส่องกล้องมองอวกาศจากพื้นโลกยังทำให้รู้สึกถึงเพียงนี้ แล้วการออกไปสำรวจเอกภพ—พันธกิจที่ยากลำบากและอันตรายที่สุดเท่าที่เผ่าพันธุ์มนุษย์จะทำได้เล่า จะยิ่ง ‘โรแมนติก’ กว่าดูดาวมากมายขนาดไหน

โชคดีที่โลกมี แมรี โรช (Mary Roach) สุดยอดนักเขียนสารคดีวิทยาศาสตร์ ผู้บรรจงถ่ายทอดทุกแง่มุมของการสำรวจอวกาศของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่ออวกาศ ในสำนวนที่สนุกสนานวางไม่ลง โดยเฉพาะด้านไร้สาระ เฮฮา ขยะแขยง และโหดหินที่เราไม่ค่อยได้รู้ เพราะองค์การอวกาศอยากสร้าง ‘ภาพจำ’ ว่ามนุษย์อวกาศคือ ‘ฮีโร่’

มนุษย์อวกาศคือฮีโร่แน่นอน เพราะเขาและเธอหาญกล้าออกไปสำรวจดินแดนอันตราย ซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นความหวังของมนุษยชาติ ในยุคที่การบ่อนทำลายดาวบ้านเกิดของตัวเองส่งผลให้อยู่ยากขึ้นทุกวัน แต่ก็อย่างที่โรชว่าไว้ – “เอกภพไม่เพียงครอบคลุมสิ่งประเสริฐจนถึงสิ่งไร้สาระ แต่มันยังลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างทั้งสองสิ่งนี้ด้วย”

เรื่องประเสริฐและไร้สาระทั้งหลายล้วนประกอบสร้าง ‘โรมานซ์’ ของการท่องอวกาศ และดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงไม่มีวันล้าสมัย เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศจะก้าวไปไกลเพียงใด มนุษย์ก็จะยังคงเป็นมนุษย์อยู่วันยังค่ำ

ท้ายนี้ ผู้แปลขอขอบคุณ คุณพรกวินทร์ แสงสินชัย บรรณาธิการเล่ม ที่ได้บรรจงตรวจแก้และเรียบเรียงต้นฉบับอย่างพิถีพิถัน หากยังมีข้อผิดพลาดประการใด ย่อมเป็นความผิดของผู้แปลแต่เพียงผู้เดียว ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน และร่วมกันเก็บกระเป๋าไปดาวอังคารในห้วงคำนึง

สฤณี อาชวานันทกุล

กันยายน 2561